backup og meta

เลือดจางควรกินอะไร และวิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นเลือดจาง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 10/10/2022

    เลือดจางควรกินอะไร และวิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นเลือดจาง

    โรคเลือดจาง (Anemia) เป็นภาวะที่ร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ จึงลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงเซลล์ในร่างกายได้ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ตัวซีด เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก และหากรุนแรง อาจต้องให้เลือดแดงทดแทนด้วย ผู้ที่มีภาวะนี้อาจสงสัยว่า เลือดจางควรกินอะไร โดยส่วนใหญ่โรคนี้เกิดจากภาวะขาดธาตุเหล็ก จึงควรกินอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก เช่น พืชตระกูลถั่ว ผักใบเขียว เนื้อแดง ปลา ไข่ นม และอาหารที่มีวิตามินซี เช่น ผลไม้รสเปรี้ยวอย่างส้ม มะนาว เกรฟฟรุต ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมธาตุเหล็กเข้าสู่ร่างกาย การกินอาหารที่มีประโยชน์ควบคู่ไปกับการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี อาจลดความเสี่ยงในการเกิดอาการของโรคและทำให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น

    เลือดจางเกิดจากอะไร

    โรคเลือดจางหรือโรคโลหิตจาง เป็นโรคที่ส่งผลต่อการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดแดงและโปรตีนฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ซึ่งทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนจากปอดไปยังเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ สาเหตุของโรคเลือดจาง อาจแบ่งตามกลไกการเกิดได้ 3 ประเภทหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

    1. โรคเลือดจางจากการสูญเสียเลือด เช่น การเสียเลือดจากอุบัติเหตุ การผ่าตัด การคลอดบุตร การมีประจำเดือน การเสียเลือดจากโรคทางระบบทางเดินอาหารอย่างริดสีดวง แผลในกระเพาะอาหาร การใช้ยารักษาโรคอย่างแอสไพริน ไอบูโพรเฟน ที่ทำให้มีแผลในกระเพาะอาหาร
    2. โรคเลือดจางจากการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงลดลง สาเหตุที่พบบ่อย คือ การขาดสารอาหารบางชนิดที่ช่วยผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง เช่น ธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 หรืออาจเกิดจากโรคบางชนิด เช่น โรคไขกระดูกฝ่อ (Aplastic anemia) ซึ่งเป็นภาวะที่ไขกระดูกไม่สามารถผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงได้ตามปกติ
    3. โรคเลือดจางจากเซลล์เม็ดเลือดแดงในร่างกายถูกทำลาย สาเหตุที่พบ เช่น โรคที่ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นกว่าปกติและแตกสลายง่ายอย่างโรคธาลัสซีเมีย โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle Cell Anemia) ภาวะแทรกซ้อนจากการถ่ายเลือด การติดเชื้อ การสัมผัสกับสารเคมีบางชนิด

    โรคเลือดจางส่วนใหญ่เกิดจากการขาดธาตุเหล็ก เรียกว่า โรคเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency anemia) ซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญที่ใช้สร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง นอกจากนี้ โรคเลือดจางยังอาจเกิดจากการขาดวิตามินบี 12 ได้เช่นกัน เรียกว่า โรคเลือดจางจากการขาดวิตามินบี 12 (Vitamin B12 deficiency anemia) แต่ก็เป็นชนิดพบได้ไม่บ่อย

    เลือดจาง อาการ เป็นอย่างไร

    อาการของโรคเลือดจาง มีดังนี้

  • ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ
  • เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นแรง หายใจถี่รัว
  • ผิวซีดเซียว
  • อ่อนเพลีย
  • มือและเท้าเย็น
  • มีแผลที่ลิ้น และลิ้นอาจอักเสบหรือติดเชื้อ
  • ไม่อยากอาหาร โดยเฉพาะในทารกและเด็กที่เป็นโรคเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก
  • โรคเลือดจาง อันตรายไหม

    โดยทั่วไป โรคเลือดจางมักไม่รุนแรงนัก และสามารถรักษาได้ด้วยการกินยาตามที่คุณหมอสั่งและกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน อุดมด้วยธาตุเหล็ก โฟเลต และวิตามินต่าง ๆ ที่มีประโยชน์และช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง แต่หากปล่อยไว้ไม่รักษา โรคเลือดจางอาจทำให้เกิดภาวะสุขภาพ ดังต่อไปนี้

    • ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ โรคเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็กอาจทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ เนื่องจากหัวใจต้องสูบฉีดเลือดมากขึ้นเพื่อลำเลียงออกซิเจนไปทดแทนออกซิเจนในเลือดที่น้อยลง จนอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจโต (Enlarged Heart) และภาวะหัวใจล้มเหลวได้
    • ปัญหาขณะตั้งครรภ์ ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคเลือดจางขั้นรุนแรง อาจเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด หรือทารกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ได้ ทั้งนี้ สามารถลดความเสี่ยงดังกล่าวได้ด้วยการรับธาตุเหล็กจากอาหารหรืออาหารเสริม
    • ปัญหาการเจริญเติบโต ทารกและเด็กที่เป็นโรคเลือดจางขั้นรุนแรง อาจเสี่ยงเกิดภาวะการเจริญเติบโตและพัฒนาการล่าช้า และในเด็กเล็กอาจติดเชื้อได้ขึ้นด้วย

    เลือดจางควรกินอะไร

    อาหารที่เหมาะสำหรับผู้ที่เลือดจาง อาจมีดังนี้

    อาหารที่มีธาตุเหล็ก

    ธาตุเหล็กเป็นสารอาหารที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตฮีโมโกลบินในเซลล์เม็ดเลือดแดงให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งเซลล์เม็ดเลือดแดงจะทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจนจากปอดไปยังอวัยวะต่าง ๆ หากขาดธาตุเหล็กจะทำให้ร่างกายสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงได้น้อยลงและส่งผลให้ลำเลียงออกซิเจนได้น้อยลงตามไปด้วย การรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กจึงอาจช่วยเพิ่มการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง และช่วยให้โรคเลือดจางดีขึ้นได้

    อาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น

    • พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วแขก ถั่วฝักยาว ถั่วพู
    • ผักใบเขียวเข้ม เช่น ปวยเล้ง บรอกโคลี คะน้า กะหล่ำปลี ผักกาดเขียว
    • ผลไม้อบแห้ง เช่น ลูกเกด แอปริคอตอบแห้ง
    • เต้าหู้
    • ไข่
    • เนื้อแดง เช่น วัว แกะ หมู
    • สัตว์ปีก เช่น เป็ด ไก่ ห่าน
    • ปลาและหอย เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า หอยแครง หอยนางรม หอยแมลงภู่
    • อาหารประเภทแป้ง เช่น ขนมปัง พาสต้า
    • ซีเรียลอาหารเช้าและขนมปังเสริมธาตุเหล็ก

    อาหารที่มีวิตามินซี

    การรับประทานอาหารที่วิตามินซีร่วมกับอาหารที่มีธาตุเหล็กจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น และอาจมีส่วนให้ฮีโมโกลบินในร่างกายให้กลับสู่ระดับปกติได้

    อาหารที่มีวิตามินซี เช่น

    • ผลไม้ตระกูลซิตรัส เช่น ส้ม มะนาว ส้มโอ เกรปฟรุต
    • ผลไม้อื่น ๆ เช่น แคนตาลูป กีวี่ มะละกอ สตรอว์เบอร์รี มะม่วง ฝรั่ง
    • ผัก เช่น บรอกโคลี กะหล่ำปลีแดง พริกหยวก คะน้า มะเขือเทศ

    อาหารที่มีวิตามินบี 12

    วิตามินบี 12 เป็นสารอาหารที่ช่วยสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง ทั้งยังมีส่วนทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดแข็งแรง หากร่างกายได้รับวิตามินบี 12 ไม่เพียงพออาจส่งผลให้มีเซลล์เม็ดเลือดแดงที่แข็งแรงน้อยลง วิตามินบี 12 พบได้ในอาหารหลากหลายชนิด จึงควรรับประทานที่หลากหลายเพื่อให้ได้รับวิตามินบี 12 และสารอาหารอื่น ๆ อย่างครบถ้วน

    อาหารที่มีวิตามินบี 12 เช่น

    • หอยปรุงสุก
    • ปลาแซลมอน
    • ตับ
    • เนื้อวัว
    • อกไก่
    • แฮม
    • ไข่
    • เต้าหู้
    • ซีเรียลอาหารเช้า
    • นิวทริชั่นแนล ยีสต์ (Nutritional Yeast)
    • นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น นมไขมันต่ำ โยเกิร์ตไขมันต่ำ ชีส
    • นมจากพืช เช่น นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ นมข้าวโอ๊ต กะทิ

    โรคเลือดจางห้ามกินอะไร

    อาหารที่คนเป็นโรคเลือดจางควรหลีกเลี่ยง คือ อาหารที่ขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็กเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งอาจทำให้ประสิทธิภาพในการดูดซึมธาตุเหล็กลดลง ดังตัวอย่างต่อไปนี้

    • อาหารแคลเซียมสูง เช่น ปลาเล็กปลาน้อย ปลาสลิด อาหารเสริมแคลเซียม เนื่องจากแคลเซียมอาจทำให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ไม่เต็มที่ จึงไม่ควรรับประทานพร้อมอาหารที่มีธาตุเหล็ก หรือควรกินอาหารหรืออาหารเสริมธาตุเหล็กหลังกินอาหารที่มีแคลเซียมอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
    • อาหารที่มีแทนนินสูง เช่น ชาดำ ชาเขียว องุ่น ทับทิม ช็อกโกแลต เนื่องจากแทนนิน (Tannin) เป็นสารประกอบที่ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระซึ่งอาจขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็ก และทำให้อาการของโรคเลือดจางแย่ลงได้
    • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ เนื่องจากแอลกอฮอล์จะทำให้ระบบทางเดินอาหารดูดซึมธาตุเหล็กและสารอาหารอื่น ๆ ได้ลดลง และส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม จึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคหรือบริโภคแต่น้อย

    อย่างไรก็ตาม อาหารตามตัวอย่างข้างต้นก็ช่วยให้ร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรกินในปริมาณที่เหมาะสมตามปกติ เพียงแต่ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารดังกล่าวพร้อมกันหรือกินในเวลาใกล้เคียงกับอาหารที่มีธาตุเหล็ก เพื่อให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารแต่ละชนิดได้อย่างเต็มที่

    การดูแลตัวเองเมื่อป่วยเป็นโรคเลือดจาง

    การดูแลตัวเองเมื่อป่วยเป็นโรคเลือดจาง อาจทำได้ดังนี้

    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน
    • ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อย 8-10 แก้ว/วัน อาจช่วยบรรเทาอาการเลือดจาง ช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น และเพิ่มระดับฮีโมโกลบินในกระแสเลือด
    • รักษาความสะอาดของช่องปากและฟันให้ดี เนื่องจากโรคเลือดจางอาจลดการไหลเวียนเลือดและออกซิเจนจนส่งผลให้เหงือกและช่องปากติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
    • ออกกำลังกายเป็นประจำ ทั้งนี้ ควรปรึกษาคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม เพราะผู้ป่วยโรคเลือดจางมักมีร่างกายอ่อนแอหรือเหนื่อยง่าย อาจไม่เหมาะกับการออกกำลังกายบางประเภท
    • หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ แล้วซับมือให้แห้งด้วยผ้าหรือกระดาษทิชชู่สะอาด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใช้สารเคมีที่ทำให้เสี่ยงเกิดโรคเลือดจาง เช่น สารหนู ตะกั่ว ยาฆ่าแมลง ยารักษาโรคบางชนิด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 10/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา