backup og meta

แบคทีเรียในรองเท้า วายร้ายใกล้ตัวที่คุณอาจกำลังละเลย!

แบคทีเรียในรองเท้า วายร้ายใกล้ตัวที่คุณอาจกำลังละเลย!

คุณผู้อ่านรู้หรือไม่ว่า รองเท้าที่เราสวมใส่กันอยู่เป็นประจำทุกวันนี้ก็มีแบคทีเรียซ่อนอยู่ ยิ่งถ้าเป็นรองเท้าคู่เก่ง ใส่ประจำ ใส่ทุกวัน ใช้งานตลอด แต่มีการละเลยเรื่องความสะอาดหรือทำความสะอาดไม่เพียงพอ แบคทีเรีย จากรองเท้าอาจส่งผลต่อสุขภาพของเราได้นะ และเพื่อการมีสุขภาพที่ดี ห่างไกลจากแบคทีเรีย Hello คุณหมอ มีวิธีป้องกัน แบคทีเรียในรองเท้า มาฝากค่ะ

แบคทีเรียอยู่ในรองเท้าได้อย่างไร

ในแต่ละวันที่เราสวมรองเท้าออกไปทำกิจกรรมต่างๆ นอกบ้าน ทั้งไปเรียน ไปทำงาน ไปออกกำลังกาย หรือไปเที่ยว รองเท้าที่เราสวมใส่นั้นต้องผ่านการเหยียบย่ำกับสภาพแวดล้อมต่างๆ กัน ทั้งยังสะสมเหงื่อและความอับชื้นจากเท้าและถุงเท้าที่อยู่ภายในรองเท้าเอาไว้อีกด้วย ซึ่งสิ่งสกปรกจากการเหยียบย่ำไปยังพื้นที่ต่างๆ บวกกับการหมักหมมเอาทั้งเหงื่อและความอับชื้นเอาไว้ จึงเป็นการสะสมเอาแบคทีเรียไว้ในรองเท้า ซึ่ง แบคทีเรีย ในรองเท้านี้สามารถก่อให้เกิดอาการท้องเสีย ท้องร่วง อาหารเป็นพิษ หรือการติดเชื้อต่างๆ ได้

มีแบคทีเรียอะไรอยู่ในรองเท้าของเราบ้าง

รองเท้าที่เราสวมมาตลอดทั้งวัน ได้รับทั้งสิ่งปรก เหงื่อ ความอับชื้น เชื้อโรค และแบคทีเรียมากมาย โดยกลุ่มแบคทีเรียที่พบได้มากในรองเท้าก็คือ

แบคทีเรียในกลุ่มของอีโคไล (E.coli)  

เชื้ออีโคไลเป็นหนึ่งในเชื้อ แบคทีเรีย ที่สามารถพบได้ในลำไส้ของมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าสภาพแวดล้อมอื่นๆ ก็มีเชื้ออีโคไลอาศัยอยู่ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในรองเท้าซึ่งสามารถพบเชื้ออีโคไลได้มาก

แม้ว่าโดยปกติแล้วเชื้ออีโคไลในลำไส้ของคนและสัตว์จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายมากนัก แต่ถ้าเชื้ออีโคไลจากภายนอกเกิดการปนเปื้อนกับอาหารและรับประทานเข้าไป ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน มีไข้ เป็นต้น หรือถ้าร้ายแรงก็อาจจะก่อให้เกิดการติดเชื้อภายในร่างกายอย่างรุนแรง ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

แบคทีเรียคลอสตริเดียม ดิฟฟิไซล (Clostridium difficile หรือ C. diff) 

เชื้อแบคทีเรียในกลุ่มของคลอสตริเดียม ดิฟฟิไซล (Clostridium difficile) เป็นกลุ่มแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วง ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ รวมถึงยังก่อให้เกิดอาการอักเสบที่ลำไส้ใหญ่ได้

เชื้อสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) 

เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มักพบได้บริเวณผิวหนังหรือโพรงจมูก เชื้อโรคเหล่านี้หากปนเปื้อนในอาหารจะมีความเสี่ยงทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ หรือมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ หรือมีอาการอ่อนเพลียได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ มีไข้ และอ่อนเพลียร่วมด้วย

ป้องกัน แบคทีเรียในรองเท้า ได้ยังไงบ้าง

ไม่ใส่รองเท้าเข้าบ้าน

แม้รองเท้าจะดูสะอาดและไม่มีสิ่งสกปรกหรือคราบเปื้อน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ารองเท้าของเราจะสะอาดหมดจด เพราะแบคทีเรียและเชื้อโรคเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า รองเท้าที่สะอาดไร้รอยคราบก็สามารถที่จะมี แบคทีเรีย สะสมอยู่ได้เช่นกัน เพราะเราสวมใส่มาทั้งวัน ใส่เดินไปยังที่ต่างๆ เก็บทั้งกลิ่นอับชื้นและคราบเหงื่อไคลไว้ด้วย

ดังนั้น จึงไม่ควรใส่รองเท้าเข้าบ้าน เพราะจะเป็นการนำเชื้อโรคในรองเท้าเข้ามาในบ้าน ควรถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้านทุกครั้ง หรือเปลี่ยนเป็นรองเท้าสำหรับใส่ในบ้านก่อนที่จะเดินเข้าบ้าน นอกจากนี้ยังควรจัดเก็บรองเท้าไว้ให้ถูกที่ ควรมีอุปกรณ์จัดเก็บอย่างดีที่ไม่ชื้นจนเกินไป และไม่ควรเก็บไว้ในที่มีความร้อนสูงด้วย มากไปกว่านั้นหลังจากถอดรองเท้าแล้ว ก็ควรจะตรงไปทำความสะอาดเท้าทันที เพื่อลดคราบเหงื่อไคล สิ่งสกปรก และแบคทีเรียที่เท้าได้รับมาจากการใส่รองเท้าตลอดทั้งวัน

ระวังไม่ให้รองเท้าเปียก

รองเท้าที่เปียกน้ำ ถือว่าเป็นตัวการนำเอาสิ่งสกปรก แบคทีเรีย และเชื้อโรคจากน้ำเข้ามาสู่รองเท้า เพราะรองเท้าที่เปียกก็จะทำให้เกิดการอับชื้นในรองเท้า และส่งผลไปยังเท้า ทำให้เท้ามีกลิ่นอับหรือกลิ่นเหม็น ซึ่งนอกจากจะให้ความรู้สึกไม่สบายเท้าแล้วก็ยังเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ด้วยหากมีบาดแผลที่บริเวณเท้า

ซักรองเท้าอย่างสม่ำเสมอ

หลายคนถือว่ามีรองเท้าหลายคู่ สลับใส่เวียนกันจนครบทุกคู่ก่อนแล้วค่อยเอาออกมาซักทำความสะอาดทีเดียว จะได้ไม่เปลืองแรงหลายรอบ แต่เพื่อป้องกันเชื้อโรคและ แบคทีเรีย เราควรที่จะซักและทำความสะอาดรองเท้าอย่างสม่ำเสมอ ทุกสัปดาห์หรือสองสัปดาห์ครั้ง ไม่ควรปล่อยเอาไว้นานๆ แล้วค่อยหยิบออกมาทำความสะอาด เพราะจะยิ่งทำให้เชื้อโรคหมักหมม อาจเป็นผลเสียต่อสุขภาพของเราได้ ยิ่งไปกว่านั้นการนำรองเท้ามาทำความสะอาดบ่อยๆ ก็ยังเป็นการช่วยลดกลิ่นไม่พึงประสงค์จากรองเท้าด้วย

เปลี่ยนรองเท้าบ้าง

หลายคนมักจะมีรองเท้าคู่เก่ง รองเท้าคู่โปรด หรือรองเท้าที่ใส่ประจำแค่หนึ่งคู่ ซึ่งเราควรที่จะเปลี่ยนใส่รองเท้าคู่อื่นบ้าง เพื่อไม่เป็นการใช้งานรองเท้าคู่ใดคู่หนึ่งอย่างหนักหน่วงจนเกินไป เพราะนอกจากจะเสี่ยงสะสมแบคทีเรียเอาไว้มากแล้ว ก็ยังจะทำให้รองเท้าเสื่อมสภาพได้ง่ายมากขึ้นด้วย ควรสลับเปลี่ยนใส่คู่อื่นบ้าง เพื่อยืดอายุการใช้งานของรองเท้าไม่ให้พังง่ายขึ้น และลดการสะสมแบคทีเรียไว้ที่รองเท้าคู่ใดคู่หนึ่งมากจนเกินไป

อย่าทิ้งถุงเท้าไว้ที่รองเท้า

นอกจากรองเท้าจะสะสมแบคทีเรียไว้มากในแต่ละวันแล้ว ถุงเท้าก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีการสะสมแบคทีเรียเอาไว้เช่นกัน โดยถุงเท้าทำหน้าที่ให้ความอบอุ่นแก่เท้า และรองรับการเสียดสีโดยตรงของเท้ากับรองเท้า แต่การทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างเท้ากับรองเท้านี่เอง ยิ่งทำให้ถุงเท้าสะสมแบคทีเรียเอาไว้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะต้องซับทั้งกลิ่นเหงื่อและคราบไคลของเท้า น้ำเลือดหรือน้ำหนองจากเท้าที่เป็นแผล ความอับชื้นของรองเท้า สิ่งสกปรกและแบคทีเรียที่รองเท้าสะสมมา

ดังนั้น หากกลับถึงบ้านแล้วถอดถุงเท้ายัดกลับเข้าไปในรองเท้า ก็จะเท่ากับเป็นการทำให้แบคทีเรียและเชื้อโรคเจริญเติบโตมากกว่าเดิม จึงควรแยกถุงเท้าที่ใช้แล้วออกจากรองเท้า และหมั่นทำความสะอาดถุงเท้าอยู่เสมอ

ล้างมือให้สะอาด

นอกจากการทำความสะอาดรองเท้า ถุงเท้า และล้างเท้าให้สะอาดแล้ว อวัยวะสำคัญที่จะขาดไม่ได้เลยก็คือฝ่ามือทั้งสองของเรา เพราะไม่ใช่ทุกคนที่สวมรองเท้าโดยไม่ใช้มือสัมผัสรองเท้า หลายคนยังต้องใช้มือช่วยในการสวมรองเท้าอยู่ โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่เพิ่งเริ่มใส่รองเท้าด้วยตัวเอง การใช้มือสวมรองเท้าจะทำให้การสวมรองเท้าเป้นไปได้ง่ายขึ้น

ในขณะเดียวกัน การใช้มือช่วยสวมรองเท้าก็เป็นการเสี่ยงที่จะสะสมแบคทีเรียไว้ที่มือเช่นกัน เพราะถ้าหลังจากการสัมผัสกับรองเท้าแล้วไม่มีการล้างมือให้สะอาด แบคทีเรีย เชื้อโรคที่ได้จากการสัมผัสรองเท้าก็จะติดอยู่ที่มือ และเมื่อนำไปหยิบจับอาหารหรือเครื่องดื่ม ก็จะทำให้เชื้อโรคและสิ่งสกปรกเหล่านั้นเข้าสู่ร่างกาย ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อ ที่จะนำมาซึ่งโรคท้องเสีย ท้องเดิน และการติดเชื้อในระบบอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย ดังนั้นแล้ว นอกจากจะต้องรักษาความสะอาดของรองเท้า ถุงเท้า และเท้าแล้ว ก็ไม่ควรที่จะละเลยการทำความสะอาดมือด้วย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

WHAT YOUR SHOES BRING HOME. https://healthcare.utah.edu/healthfeed/postings/2015/04/042015_factoid-shoe-bacteria.php. Accessed on September 16, 2020.

Should You Take Off Your Shoes Indoors?. https://www.livescience.com/64409-should-you-take-off-shoes-indoors.html. Accessed on September 16, 2020.

Should You Be Taking Off Your Shoes Before You Go Indoors?. https://www.healthline.com/health/taking-off-your-shoes. Accessed on September 16, 2020.

Should You Change Clothes When You Get Home to Get Rid of Germs?. https://www.healthline.com/health-news/change-clothes-to-get-rid-of-germs#1. Accessed on September 16, 2020.

Should You Take Your Shoes Off at Home?. https://www.nytimes.com/2019/08/27/science/shoes-in-house-germs.html. Accessed on September 16, 2020.

Germs: Making Sure You’re the Only Thing Living in Your Shoes. https://www.footfitter.com/blog/germs-shoes/. Accessed on September 16, 2020.

เวอร์ชันปัจจุบัน

23/09/2020

เขียนโดย Khongrit Somchai

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nattrakamol Chotevichean


บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคแมว ภัยจากสัตว์เลี้ยงสู่คน ที่ทาสแมวควรระวัง

แบคทีเรียในช่องคลอด สาเหตุของภาวะช่องคลอดอักเสบ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 23/09/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา