backup og meta

ผู้เชี่ยวชาญเผย คำแนะนำถึงการป้องกันแก่ผู้สั่ง-ส่ง อาหารเดลิเวอรี่ ช่วงโควิด-19


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 30/08/2021

    ผู้เชี่ยวชาญเผย คำแนะนำถึงการป้องกันแก่ผู้สั่ง-ส่ง อาหารเดลิเวอรี่ ช่วงโควิด-19

    Hello คุณหมอ ขอบอกเลยว่าในช่วงการกักตัวตามมาตรการบังคับของยุคการแพร่ระบาดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 หรือโควิด-19 นี้ ทำเอาผู้บริโภค และผู้ประกอบการร้านอาหารต่าง ๆ จำเป็นต้องหันมาใช้บริการรับ-ส่ง อาหารเดลิเวอรี่ กันมากขึ้น เพราะวิธีนี้ช่วยเอื้ออำนวยความสะดวกได้อย่างมาก เนื่องจากไม่ต้องออกไปนอกบ้านด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม ผู้ขับรถรับ-ส่งอาหารก็คงจัดอยู่ในกลุ่มบุคคลที่ออกไปเผชิญกับสภาวะ หรือผู้คนด้านนอก ซึ่งก็อาจเป็นสาเหตุให้พวกเขานำเชื้อไวรัสเข้ามาแพร่ติดต่อสู่เราได้ ดังนั้น จึงต้องมีการคุมเข้มถึงเรื่องการให้บริการด้านอาหารนี้ด้วย

    โดยล่าสุด นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ฐานะกรรมการ และเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ออกมาให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการร้านอาหาร พนักงานขนส่งอาหาร และผู้บริโภคที่สั่งอาหาร ถึงการป้องกันการระบาดของ COVID-19 รวมถึงขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ช่วยกันสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชน เพื่อเป็นการลดอัตราผู้ติดเชื้อในประเทศไทย

    คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้ประกอบการ บริษัทประกอบการ และผู้บริโภค อาหารเดลิเวอรี่

    1. ผู้ประกอบการร้านอาหาร ผู้บริจาคอาหาร และพนักงานที่เกี่ยวข้อง

    สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร ผู้บริจาคอาหาร และพนักงานที่เกี่ยวข้อง ควรจัดทำป้ายสื่อประชาสัมพันธ์ถึงการป้องกันไวรัสโควิด-19 และจัดเตรียมอุปกรณ์เบื้องต้น เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือยาง เจลล้างมือแอลกอฮอล์ ให้เพียงพอต่อพนักงานที่สัมผัสกับอาหารโดยตรง และหมั่นล้างมือรักษาสุขอนามัยให้สะอาดอยู่เสมอ รวมทั้งภาชนะที่ใช้ใส่จัดส่งต้องมีฝาปิดมิดชิด และที่สำคัญที่สุดก็คือ อุปกรณ์ หรือวัตถุดิบที่นำมาใช้ปรุงอาหารต้องผ่านการล้างฆ่าเชื้อทั้งสิ้นก่อนนำมาแจกจ่ายให้แก่ผู้บริโภค

    2. บริษัทประกอบการผู้ขับรถรับ-ส่งอาหารเดลิเวอรี่

    บริษัทประกอบการผู้ขับรถรับ-ส่งอาหารเดลิเวอรี่ควรให้คำแนะนำแก่พนักงานอย่างเคร่งครัด รวมทั้งตัวผู้ขนส่งเองก็ควรพกอุปกรณ์ป้องกันเชื้อไวรัสส่วนตัวไว้ด้วย เมื่อรับอาหารจากทางร้านมาแล้ว ไม่ควรนำมือมาสัมผัสใบหน้า ตา จมูก ปาก และควรหมั่นล้างมือให้สะอาด ถ้าหากพนักงานคนใดมีอาการเสมือนไข้หวัด โดยที่ยังไม่รู้ว่าตนเองมีเชื้อโควิด-19 หรือไม่ต้องให้หยุดปฏิบัติงาน และรีบไปตรวจร่างกายในโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที

    นอกจากนี้ ระหว่างส่งอาหาร ผู้ส่งอาหารควรสวมหน้ากากอนามัย เช็ดถูกระเป๋าบรรจุอาหาร รวมถึงฉีดพ่นแอลกอฮอล์ตามพื้นผิวของรถ อย่างเบาะนั่ง และแฮนด์จับ อย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง หลังจากเสร็จการปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละวัน ควรรีบกลับเข้าบ้าน แล้วชำระล้างร่างกายของตนเองในทันที

    3. ผู้บริโภคที่ทำการสั่งซื้อ อาหารเดลิเวอรี่

    ผู้บริโภคโปรดสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกไปรับอาหารจากพนักงาน หลีกเลี่ยงการรับของจากมือผู้ส่งโดยตรง หรืออาจแจ้งให้ผู้ขนส่งแขวนไว้บริเวณประตูรั้วบ้าน หลังจากที่ได้รับอาหารแล้ว ควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ก่อนรับประทานอาหาร พร้อมทั้งแยกภาชนะกับผู้คนในบ้าน เช่น จาน ชาม แก้วน้ำ ช้อน ส้อม

    หากมีการรับประทานอาหารที่ซื้อมา หรืออาหารที่ทำด้วยตนเองไม่หมด ให้นำไปแช่ตู้เย็นเพื่อรักษาสภาพของอาหาร และหากต้องการรับประทานอีกครั้งควรอุ่นร้อนก่อนทุกครั้ง

    นายแพทย์สุวรรณชัย ได้กล่าวกำชับทิ้งท้าย ถึงผู้ประกอบอาหาร พนักงานขนส่ง และผู้บริโภค ที่จำเป็นต้องออกจากเคหะสถานไว้ว่า “เมื่อกลับถึงบ้านแล้ว ขอความร่วมมือในการทำความสะอาดร่างกายตนเองด้วยการอาบน้ำทันที เพื่อลดโอกาสการนำเชื้อแพร่กระจายสู่ผู้ร่วมอาศัย โดยเฉพาะครอบครัวที่อยู่รวมกับผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง เพราะเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 นี้ จะเพิ่มความรุนแรงให้แก่สุขภาพของพวกเขาได้มากกว่ากลุ่มบุคคลอื่น ๆ”

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 30/08/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา