backup og meta

โรคเบาหวาน สาเหตุ อาการ การรักษา

โรคเบาหวาน สาเหตุ อาการ การรักษา

โรคเบาหวาน เป็นหนึ่งในโรคเรื้อรังที่เกิดจากน้ำตาลในเลือดสูงติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยอาจมีสาเหตุหลายปัจจัยที่แตกต่างกันออกไปตามชนิดของเบาหวาน อย่างไรก็ตาม การควบคุมการรับประทานอาหาร ออกกำลังกายเป็นประจำ และหมั่นตรวจค่าระดับน้ำตาลในเลือดสม่ำเสมอ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน และภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานได้

คำจำกัดความ

โรคเบาหวาน คืออะไร

โรคเบาหวาน คือ โรคที่เกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานแบบเรื้อรัง ปกติแล้ว ระดับน้ำตาลในเลือดจะอยู่ที่ 99-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หากระดับน้ำตาลในเลือด ก่อนอาหารสูงกว่า 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือหลังอาหารสูงกว่า 200 มิลลิกรัม / เดซิลิตร

โรคเบาหวาน แบ่งออกเป็น 3 ชนิด  ตามกลไกการเกิดโรค ได้แก่

1. โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes)

พบมากในเด็ก แต่ผู้ใหญ่ก็สามารถเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้เช่นกัน ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากตับอ่อนไม่ผลิตอินซูลินหรือผลิตอินซูลินน้อยเกินไป จนไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

2. โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes)

เกิดจากร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน ทำให้ไม่สามารถเผาผลาญน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงานได้ตามปกติ จนน้ำตาลสะสมในเลือดมากเกินไป สามารถเกิดได้ตั้งแต่ในวัยเด็ก แต่อาจเริ่มมีอาการเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยผู้ใหญ่

3. โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes)

เกิดจากน้ำตาลในเลือดสูงในช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งอาจพบได้ในทุกระยะของการตั้งครรภ์ โรคนี้อาจส่งผลกระทบต่อแม่และทารกในครรภ์ ทั้งยังทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์หรือการคลอดได้ เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ การคลอดก่อนกำหนด ทารกหายใจลำบาก ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดเกินมาตรฐาน

อาการ

อาการโรคเบาหวาน

อาการของโรคเบาหวานที่พบได้ทั่วไป มีดังนี้

  • รู้สึกหิวบ่อย และกระหายน้ำมาก
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • เหนื่อยล้า 
  • หงุดหงิดง่าย
  • แผลหายช้า
  • ปัสสาวะบ่อย
  • มือเท้าชา
  • สีผิวคล้ำขึ้น โดยเฉพาะบริเวณลำคอและรักแร้
  • การมองเห็นเปลี่ยนแปลง เช่น เห็นภาพซ้อน ตาพร่ามัว
  • ติดเชื้อในช่องปาก ผิวหนัง ช่องคลอด

สาเหตุ

สาเหตุของโรคเบาหวาน

สาเหตุของโรคเบาหวานอาจแตกต่างกันไปตามชนิดของโรคเบาหวาน ดังนี้

  1. โรคเบาหวานชนิดที่ 1 แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่คาดว่าอาจเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์ที่มีหน้าที่ในการผลิตอินซูลินในตับอ่อน เนื่องจากอินซูลินมีบทบาทสำคัญในการช่วยเผาผลาญและเปลี่ยนน้ำตาลเป็นพลังงาน และช่วยลดน้ำตาลในเลือด เมื่อร่างกายมีอินซูลินไม่เพียงพอ จึงส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังจนอาจนำไปสู่โรคเบาหวานในที่สุด
  2. โรคเบาหวานชนิดที่ 2 อาจเกิดจากตับอ่อนผลิตอินซูลินได้ไม่เพียงพอ หรือตับอ่อนผลิตอินซูลินได้แต่เซลล์กล้ามเนื้อ ไขมัน หรือตับกลับดื้ออินซูลิน ทำให้อินซูลินทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ จนมีน้ำตาลสะสมในกระแสเลือดมากเกินไป และนำไปสู่การเกิดเบาหวานชนิดที่ 2
  3. โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เกิดจากการที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลินมากขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ จากปัจจัยจากรก หรือ อื่นๆ และตับอ่อนของมารดาไม่สามารถผลิตอินซูลินให้เพียงพอกับความต้องการได้ ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ยาก มีน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรัง จนส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ แต่ภาวะนี้อาจหายได้หลังจากคลอดบุตร

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวาน

ปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวาน อาจมีดังนี้

  • ออโตแอนติบอดี หรือแอนติบอดีที่ทำปฏิกิริยากับแอนติเจน (Autoantibodies) แทนที่จะทำลายสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคจากภายนอกที่เข้าสู่ร่างกายเหมือนแอนติบอดีปกติ ออโตแอนติบอดีกลับทำร้ายเนื้อเยื่อในร่างกายเพราะเข้าใจว่าเป็นเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอม จนอาจทำให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเองหรือโรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตนเอง เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 1
  • สมาชิกในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน อาจส่งผลให้บุตรหลานเสี่ยงเป็นเบาหวานได้เช่นกัน
  • อายุ อายุยิ่งมากขึ้นอาจยิ่งเสี่ยงเกิดเบาหวาน เนื่องจากอาจออกกำลังกายได้น้อยลง สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ และมีน้ำหนักตัวมากขึ้นจนเสี่ยงเป็นเบาหวาน อย่างไรก็ตาม เบาหวานสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย ทั้งวัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ ไม่ใช่แค่วัยสูงอายุเท่านั้น
  • น้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนอาจมีไขมันในร่างกายมากเกินไป จนส่งผลให้เซลล์ดื้ออินซูลิน และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ยาก นำไปสู่โรคเบาหวานได้
  • ความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงกว่า 140-90 มิลลิเมตรปรอท อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้
  • คอเลสเตอรอลสูง ผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอร์ไรด์ ซึ่งเป็นไขมันชนิดไม่ดีในเลือดมากเกินไป อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากขึ้น
  • กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ ผู้หญิงที่มีกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบอาจส่งผลให้ร่างกายดื้ออินซูลิน จนไม่สามารถดึงอินซูลินมาใช้เผาผลาญน้ำตาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรัง และอาจนำไปสู่โรคเบาหวานชนิดที่ 2
  • การตั้งครรภ์ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์ และภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนก่อนตั้งครรภ์ อาจส่งผลให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดยาก เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ได้

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

การวินิจฉัยโรคเบาหวาน

คุณหมออาจตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคเบาหวานด้วยวิธี ดังต่อไปนี้

  1. การตรวจค่าน้ำตาลสะสมในเลือด หรือการตรวจฮีโมโกลบินเอวันซี (A1C หรือ HbA1c) เป็นการตรวจวัดปริมาณน้ำตาลที่เกาะอยู่กับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง เพื่อหาค่าเฉลี่ยของน้ำตาลในเลือดในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ผู้เข้ารับการตรวจน้ำตาลในเลือดวิธีนี้ไม่จำเป็นต้องอดอาหารและเครื่องดื่ม หากค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสมไม่เกิน 7% ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ 5.7-6.4% ถือว่ามีภาวะก่อนเบาหวาน และ 6.5% ขึ้นไป ถือว่าเป็นโรคเบาหวาน
  2. การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบสุ่ม (Random blood sugar test หรือ RBS) เป็นการวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบไม่จำเป็นต้องอดอาหารและเครื่องดื่ม โดยสามารถตรวจในช่วงเวลาใดก็ได้ หากระดับน้ำตาลในเลือดมีค่าตั้งแต่ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (mg/dL) ขึ้นไป ถือว่าเป็นโรคเบาหวาน
  3. การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร (Fasting Plasma Glucose หรือ FPG) คุณหมออาจให้งดอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนตรวจเลือด เพื่อป้องกันเลือดเจือจาง หากระดับน้ำตาลในเลือดไม่เกิน 99 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่ามีภาวะก่อนเบาหวาน และ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป ถือว่าเป็นโรคเบาหวาน
  4. การทดสอบความทนทานต่อน้ำตาลกลูโคส (Oral Glucose Tolerance Test หรือ OGTT) เป็นการวัดค่าน้ำตาลในเลือด หลังจากให้ดื่มสารละลายกลูโคส โดยจะเจาะเลือด ติดตามระดับน้ำตาลหลังจากดื่ม ที่ระยะเวลา 1และ 2 ชั่วโมง และในบางกรณี อาจจะวัดเพิ่มเติมที่ 3 ชั่วโมง ด้วย ซึ่งในคนปกติจะมีระดับน้ำตาลในเลือด หลังดื่มสารละลายกลูโคสที่เวลา 2 ชั่วโมง ไม่เกิน 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และหากอยู่ในช่วง 140 – 199 มิลลิกรัม/เดซิลิตรจะเป็นภาวะก่อนเบาหวาน และจะวินิจฉัยเป็นเบาหวานเมื่อระดับน้ำตาลสูงกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

อย่างไรก็ตาม หากมีภาวะสุขภาพใด ๆ เช่น อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ทราบก่อนเข้ารับการตรวจเลือด เนื่องจากค่าเกณฑ์ระดับน้ำตาลในเลือดอาจแตกต่างกันไปตามภาวะสุขภาพของผู้เข้ารับการตรวจด้วย

การรักษาโรคเบาหวาน

การรักษาโรคเบาหวาน อาจทำได้ดังนี้

  • การฉีดอินซูลิน อาจช่วยเพิ่มปริมาณของอินซูลิน และส่งผลให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น โดยอินซูลินสามารถแบ่งตามกลไกการออกฤทธิ์ได้ 5 ประเภท ดังนี้
    • อินซูลินชนิดออกฤทธิ์เร็ว เริ่มออกฤทธิ์ภายในไม่กี่นาที หลังฉีดและออกฤทธิ์ยาวนาน 2-4 ชั่วโมง
    • อินซูลินชนิดออกฤทธิ์ปกติ ออกฤทธิ์ได้เต็มที่หลังฉีดประมาณ 30 นาที และออกฤทธิ์ยาวนาน 3-6 ชั่วโมง
    • อินซูลินชนิดออกฤทธิ์ปานกลาง เริ่มออกฤทธิ์ภายใน 1-2 ชั่วโมง และออกฤทธิ์ยาวนานกว่า 18 ชั่วโมง
    • อินซูลินชนิดออกฤทธิ์นาน เริ่มออกฤทธิ์ภายใน 1-2 ชั่วโมง และออกฤทธิ์ต่อเนื่องยาวนานกว่า 24 ชั่วโมง
  • ยารักษาเบาหวาน เพื่อช่วยปรับและรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติที่สุด เพราะอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานหรือภาวะที่ทำให้โรคเบาหวานที่เป็นอยู่แย่ลง
    • เมตฟอร์มิน (Metformin) ยาที่มีส่วนช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลิน และช่วยให้ร่างกายดึงอินซูลินมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผลข้างเคียงสำหรับยานี้ เช่น คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย
    • ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) เช่น ไกลพิไซด์ (Glipizide) ไกลคาไซด์ (Gliclazide) ไกลเบนคลาไมด์ (Glibencamide) อาจมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตอินซูลินมากขึ้น ผลข้างเคียงของยากลุ่มนี้ เช่น อาจทำให้น้ำหนักขึ้น ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
    • ยากลุ่มไกลไนด์ (Glinides) อาจมีกลไกการออกฤทธิ์ที่เร็วกว่ายากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย ช่วยกระตุ้นให้ตับอ่อนผลิตอินซูลินมากขึ้น แต่อาจมีผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น อาจทำให้น้ำหนักขึ้น ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่นเดียวกับยากกลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย
    • ยากลุ่มไธอะโซลิดีนไดโอน (Thiazolidinediones) ช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลิน อย่างไรก็ตาม อาจมีผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ทำให้น้ำหนักขึ้น คอเลสเตอรอลสูง เสี่ยงกระดูกหักง่าย หัวใจล้มเหลว เสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
    • สารยับยั้ง เช่น สารยับยั้งกลุ่มดีพีพีโฟร์ (DPP-4) ที่ช่วยกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน สารยับยั้งกลุ่มเอสจีแอลทีทู (SGLT2) ที่ช่วยกระตุ้นให้ไตขับน้ำตาลส่วนเกินออกพร้อมปัสสาวะ ซึ่งอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้ อย่างไรก็ตาม การใช้สารยับยั้งเหล่านี้อาจมีผลข้างเคียง เช่น ตับอ่อนอักเสบ ปวดข้อ ความดันโลหิตต่ำ คอเลสเตอรอลสูง ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะหรือช่องคลอด
  • การปลูกถ่ายตับอ่อน อาจเหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 หากผ่าตัดสำเร็จอาจไม่จำเป็นต้องได้รับการบำบัดด้วยอินซูลิน แต่หากร่างกายปฏิเสธอวัยวะใหม่ อาจจำเป็นต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต
  • ผ่าตัดลดความอ้วน เป็นการผ่าตัดบายพาสกระเพาะอาหาร เพื่อช่วยลดการดูดซึมน้ำตาล และอาจช่วยให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เป็นโรคอ้วน

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคเบาหวาน

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันดังต่อไปนี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคเบาหวานได้

  • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเลือกอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ ไฟเบอร์สูง เช่น ผลไม้ ผัก ธัญพืชไม่ขัดสี และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารทอด
  • ออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นปานกลาง เช่น เต้นแอโรบิก วิ่ง เดิน ว่ายน้ำ อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์
  • สำหรับสตรีตั้งครรภ์ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตามที่คุณหมอกำหนด เพื่อเช็กระดับน้ำตาลในเลือด และสุขภาพโดยรวม

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Diabetes. https://www.nhs.uk/conditions/diabetes/. Accessed January 17, 2022

Diabetes. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/diabetes. Accessed January 17, 2022

What is Diabetes? https://www.cdc.gov/diabetes/basics/diabetes.html. Accessed January 17, 2022

Diabetes. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/diabetes/symptoms-causes/syc-20371444. Accessed January 17, 2022

Diabetes. https://medlineplus.gov/diabetes.html. Accessed January 17, 2022

Type 1 diabetes. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/type-1-diabetes/symptoms-causes/syc-20353011. Accessed January 17, 2022

Type 2 Diabetes. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/type-2-diabetes/symptoms-causes/syc-20351193. Accessed January 17, 2022

PCOS (Polycystic Ovary Syndrome) and Diabetes. https://www.cdc.gov/diabetes/basics/pcos.html. Accessed January 17, 2022

Gestational diabetes. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/gestational-diabetes/symptoms-causes/syc-20355339. Accessed January 17, 2022

Diabetes Tests. https://www.cdc.gov/diabetes/basics/getting-tested.html. Accessed January 17, 2022

Diabetes Tests. https://www.cdc.gov/diabetes/basics/getting-tested.html. Accessed January 17, 2022

Understanding Diabetes — Diagnosis and Treatment. https://www.webmd.com/diabetes/guide/understanding-diabetes-detection-treatment . Accessed January 17, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

23/02/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

6 พฤติกรรมเสี่ยง ที่อาจทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2

วิธีใช้ ที่ตรวจเลือด เช็กระดับน้ำตาลของผู้ป่วย เบาหวาน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 23/02/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา