ทารกในครรภ์ ในแต่ละเดือนมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการของระบบต่าง ๆ ในร่างกายอย่างต่อเนื่อง ที่แตกต่างกันออกไป การเรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการของทารกในครรภ์ในแต่ละเดือนจะช่วยให้คุณแม่สามารถวางแผนในการดูแลตัวเอง สังเกตความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และรับมือได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ คุณแม่ควรศึกษาวิธีดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์ และเข้ารับการตรวจสุขภาพตามที่คุณหมอกำหนดสม่ำเสมอ เพื่อช่วยดูแลให้ทารกในครรภ์มีสุขภาพแข็งแรงจนถึงวันคลอด
[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]
พัฒนาการทารกในครรภ์แต่ละเดือน
ทารกในครรภ์ มีการเจริญเติบโตและพัฒนาการดังต่อไปนี้
- พัฒนาการทารกในครรภ์เดือนที่ 1 อยู่ในช่วงกระบวนการปฏิสนธิซึ่งเกิดจากการผสมกันของอสุจิและไข่ จากนั้นจึงฝังตัวลงเยื่อบุโพรงมดลูก และเริ่มแบ่งตัวของเซลล์เพื่อสร้างตัวอ่อน
- พัฒนาการทารกในครรภ์เดือนที่ 2 อยู่ในช่วงอายุครรภ์ 5-8 สัปดาห์ ตัวอ่อนจะมีลักษณะคล้ายเมล็ดถั่ว ประกอบด้วยเนื้อเยื่อปกคลุม และเริ่มสร้างระบบประสาทส่วนกลาง หัวใจ ระบบไหลเวียนโลหิต ดวงตา หูชั้นใน ไขสันหลัง จมูก ริมฝีปาก แขนและขาที่มีนิ้วติดกันเป็นพังผืด อีกทั้งทารกอาจเริ่มเลิกงอศีรษะ พร้อมที่จะยืดลำตัวให้ตรงมากขึ้น
- พัฒนาการทารกในครรภ์เดือนที่ 3 อยู่ในช่วงอายุครรภ์ 9-13 สัปดาห์ นิ้วมือนิ้วเท้าของทารกอาจเริ่มแยกออกจากกัน มีเปลือกตา ข้อศอก หู ศีรษะเป็นรูปร่าง และสายสะดือปรากฏชัดเจน อีกทั้งเซลล์เม็ดเลือดแดงเริ่มก่อตัวในตับ เริ่มสร้างลำไส้ และอวัยวะเพศเริ่มมีพัฒนาการเพิ่มมากขึ้น ทารกในเดือนที่ 3 นี้ อาจมีความยาวประมาณ 16-61 มิลลิเมตร น้ำหนักประมาณ 8-14 กรัม
- พัฒนาการทารกในครรภ์เดือนที่ 4 อยู่ในช่วงอายุครรภ์ 14-17 สัปดาห์ ทารกอาจมีลำตัวยาว 87-120 มิลลิเมตร มีน้ำหนัก 45-110 กรัม และเริ่มมีศีรษะตั้งตรง ลำคอ ดวงตา แขน ขายาวและชัดเจนมากขึ้น ในส่วนของหูอาจอยู่ในช่วงพัฒนาที่ใกล้จะสมบูรณ์ และเริ่มสร้างเล็บมือเล็บเท้า อีกทั้งมีการพัฒนาของอวัยวะเพศทำให้อาจทราบเพศของลูกได้เมื่ออัลตราซาวด์
- พัฒนาการทารกในครรภ์เดือนที่ 5 อยู่ในช่วงอายุครรภ์ 18-21 สัปดาห์ ทารกในช่วงนี้อาจมีลำตัวยาวถึง 140-160 มิลลิเมตร มีน้ำหนักตัว 200-320 กรัม ผิวหนังของทารกอาจเริ่มมีขนอ่อน ๆ ปกคลุมทั่วลำตัวและศีรษะ เริ่มดูดนิ้วตัวเอง และหูอาจพัฒนาเต็มที่ จนทำให้เริ่มได้ยินเสียงภายนอกมากขึ้น และตอบสนองด้วยการเคลื่อนไหว เริ่มดิ้นหรือถีบท้องคุณแม่
- พัฒนาการทารกในครรภ์เดือนที่ 6 อยู่ในช่วงอายุครรภ์ 22-26 สัปดาห์ ทารกจะเริ่มมีขนขึ้นบริเวณคิ้ว มีรอยพับตามผิวหนัง ข้อนิ้วมือ แขน และขา มีการเคลื่อนไหวของดวงตาถึงแม้ว่าเปลือกตาจะยังไม่เปิด มีการก่อตัวของไขมันที่มีส่วนช่วยผลิตความร้อนทำให้ทารกรู้สึกอบอุ่น เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 26 ปอดของทารกจะเริ่มผลิตสารลดแรงตึงผิว เพื่อช่วยควบคุมการพองตัวของถุงลมในปอด ทารกในครรภ์เดือนที่ 6 อาจมีลำตัวยาว 190-230 มิลลิเมตร และมีน้ำหนักตัว 460-820 กรัม
- พัฒนาการทารกในครรภ์เดือนที่ 7 อยู่ในช่วงอายุครรภ์ 27-30 สัปดาห์ ทารกอาจสามารถควบคุมการหายใจและอุณหภูมิได้ อาจมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น เนื่องจากทารกมีการเจริญเติบโตเพิ่มมากขึ้น อาจมีลำตัวยาวถึง 250-270 มิลลิเมตร ทำให้เริ่มรู้สึกอึดอัด จึงมีการยืดขาและแขน นอกจากนี้ เปลือกตาทารกอาจเริ่มเปิดกว้างได้มากขึ้น และเริ่มมีเซลล์เม็ดเลือดแดงก่อตัวในไขกระดูกของทารก
- พัฒนาการทารกในครรภ์เดือนที่ 8 อยู่ในช่วงอายุครรภ์ 31-35 สัปดาห์ ร่างกายของทารกอาจมีพัฒนาการเต็มที่เกือบสมบูรณ์ โดยอาจมีลำตัวยาว 280-300 มิลลิเมตร น้ำหนักประมาณ 1,700-2,100 กรัม มีผิวหนังเรียบเนียน และมีการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นภายนอกมากขึ้น เนื่องจากมีการได้ยินและการมองเห็นที่ชัดเจนกว่าช่วงเดือนที่ผ่านมา ศีรษะและกระดูกลำคอของทารกค่อนข้างอ่อนแอ แต่จะค่อย ๆ แข็งแรงขึ้นตามลำดับในช่วงหลังคลอด
- พัฒนาการทารกในครรภ์เดือนที่ 9 อยู่ในช่วงอายุครรภ์ 36-40 สัปดาห์ ทารกอาจมีลำตัวยาว 360 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวประมาณ 3,400 กรัม และเริ่มกลับศีรษะลงมาอยู่บริเวณกระดูกเชิงกราน เพื่อเตรียมตัวออกจากท้องของคุณแม่
การดูแลสุขภาพของคุณแม่ระหว่างตั้งครรภ์
การดูแลสุขภาพของคุณแม่ระหว่างตั้งครรภ์ อาจทำได้ดังนี้
-
รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ
คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วย แคลเซียม โฟเลต และเหล็ก เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด เนื้อแดง เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมันต่ำ เพื่อช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์ เพิ่มการไหลเวียนของเลือด เพื่อให้สามารถส่งออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเซลล์ในร่างกายและทารกในครรภ์ได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือ น้ำตาล และไขมันสูง เช่น ชีส ไข่ดิบ เนื้อสัตว์ดิบ อาหารแปรรูป รวมถึงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงให้ทารกพิการแต่กำเนิด มีพัฒนาการล่าช้า และหลีกเลี่ยงการซิ้อยารับประทานเอง การใช้ยาระหว่างท้องควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
-
พักผ่อนให้เพียงพอ
คุณแม่ตั้งครรภ์อาจมีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย มีความเครียด วิตกกังวล ดังนั้น จึงควรพักผ่อนให้เพียงพอ โดยอาจปรับท่าทางการนอนให้สบายตัว คุณหมออาจแนะนำให้นอนท่าตะแคงซ้ายเพื่อลดการกดทับหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนดี หากคุณแม่ต้องการนอนหงาย ควรใช้หมอนรองหลัง ระหว่างขา และใต้ท้อง เพื่อช่วยลดแรงกดทับ
-
ออกกำลังกาย
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรออกกำลังกายระดับเบาอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ ด้วยการเดิน ว่ายน้ำ เล่นโยคะ ถ้าไม่มีข้อห้ามในการออกกำลังกายในคนท้อง โดยควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย เพราะอาจได้รับแรงกระแทกสูง หรือเพิ่มความเสี่ยงในการหกล้ม ทำให้เกิดอุบัติเหตุที่กระทบต่อทารกในครรภ์ หรือถ้าไม่มั่นใจว่าสามารถออกกำลังกายได้หรือไม่ แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอที่ฝากครรภ์
-
งดสูบบุหรี่
เนื่องจากบุหรี่มีสารนิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์ ที่อาจเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทารก ทำให้ทารกได้รับออกซิเจนลดลง เสี่ยงต่อการมีพัฒนาการและการเจริญเติบโตล่าช้า พิการตั้งแต่กำเนิด มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ น้ำหนักแรกเกิดต่ำ รกลอกตัว และแท้งบุตร
-
ตรวจสุขภาพ
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตามที่คุณหมอกำหนด จนกว่าจะถึงช่วงเวลาคลอด เพื่อตรวจคัดกรองโรค ตรวจเลือด และตรวจสุขภาพทารกในครรภ์อย่างละเอียด ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคโลหิตจาง โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ความดันโลหิตสูง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทารกพิการแต่กำเนิด และแจ้งให้คุณหมอทราบทันที หากสังเกตพบอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ ปวดท้องรุนแรง เลือดออกทางช่องคลอด ทารกไม่ดิ้นหรือดิ้นน้อยในช่วงหลังของการตั้งครรภ์