backup og meta

อยากมีลูกต้องทําไง ทางเลือกสำหรับคนมีลูกยากมีอะไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 18/09/2022

    อยากมีลูกต้องทําไง ทางเลือกสำหรับคนมีลูกยากมีอะไรบ้าง

    อยากมีลูกต้องทําไง อาจเป็นคำถามที่คู่รักหรือผู้ที่มีภาวะมีบุตรยากสงสัย โดยปกติการมีลูกเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ และหลั่งน้ำอสุจิเข้าไปในช่องคลอด เพื่อให้อสุจิเดินทางไปผสมกับไข่จนเกิดการปฏิสนธิขึ้น แต่สำหรับบางคนที่พยายามด้วยวิธีธรรมชาติมาหลายครั้งแต่ไม่เกิดการตั้งครรภ์ อาจจำเป็นต้องใช้วิธีทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์

    การตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้อย่างไร

    การตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้เมื่อชายและหญิงมีเพศสัมพันธ์กันและมีการหลั่งน้ำอสุจิภายในช่องคลอด โดยอสุจิหลายล้านตัวจะเดินทางผ่านปากมดลูกเพื่อเข้าไปผสมกับไข่ที่รออยู่ในท่อนำไข่ แต่จะมีอสุจิเพียงแค่ 1 ตัวเท่านั้นที่จะสามารถผสมกับไข่ได้สำเร็จจนเกิดการปฏิสนธิขึ้น จากนั้นไข่และอสุจิที่ปฏิสนธิกันจะเคลื่อนตัวไปฝังที่ผนังโพรงมดลูก เพื่อพัฒนาไปเป็นตัวอ่อนต่อไป

    หากอสุจิของฝ่ายชายไม่แข็งแรงพอ มีปัญหาสุขภาพ หรือฝ่ายหญิงมีปัญหาเกี่ยวกับภาวะเจริญพันธ์ ก็อาจไม่เกิดการตั้งครรภ์ และทำให้เกิดภาวะมีลูกยากได้

    อยากมีลูกต้องทําไง มีวิธีการอย่างไรบ้าง

    หากมีเพศสัมพันธ์ตามธรรมชาติอย่างสม่ำเสมอแต่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ใน 1ปี จะได้รับการวินิจฉัยภาวะมีบุตรยาก โดยคู่สามีภรรยาสามารถเข้าพบคุณหมอเพื่อประเมินหาสาเหตุของการมีบุตรยากในครั้งนี้ ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยทางฝ่ายชาย เช่น ปริมาณเชื้ออสุจิน้อย เชื้ออสุจิเคลื่อนที่ได้น้อยกว่าปกติหรือมีรูปร่างที่ผิดปกติไม่สมบูรณ์  หรืออาจะเป็นปัจจัยของฝ่ายหญิง เช่น ภาวะไข่ไม่ตก ท่อนำไข่ตีบตัน การมีเนื้องอกมดลูกหรือติ่งเนื้อในโพรงมดลูก 

    หากคุณหมอพบสาเหตุที่อาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากก็จะมีการแก้ไขที่สาเหตุ และนอกจากนี้ก็ยังมีวิธีที่อาจช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้ และสำหรับคนที่มีลูกยาก วิธีต่อไปนี้อาจเป็นทางเลือกเพื่อใช้พิจารณาในการเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ ดังนี้

  • เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ด้วยตนเอง เพื่อช่วยให้มีโอกาสในการตั้งครรภ์สำเร็จสูงขึ้น ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพร่างกายและสุขภาพการเจริญพันธุ์ก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพต่อตัวคุณแม่และทารก นอกจากนี้ การนับวันตกไข่ ท่าทางในการมีเพศสัมพันธ์ การพักผ่อนให้เพียงพอ การจัดการกับความเครียดและความวิตกกังวล รวมถึงการรักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ก็อาจช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้
  • การฉีดน้ำเชื้อ (Intra-Uterine Insemination หรือ IUI) เป็นวิธีการรักษาโดยการคัดเลือกอสุจิที่แข็งแรงที่สุดในปริมาณที่พอเหมาะ จากนั้น ฉีดเข้าไปในปากมดลูก โพรงมดลูก หรือฉีดเข้าไปในท่อนำไข่ในช่วงเวลาที่ไข่ตก โดยหมออาจจะมีการให้ยากระตุ้นการตกไข่และประเมินวันที่มีการตกไข่แน่นอน เพื่อเพิ่มโอกาสในการผสมและปฏิสนธิตามธรรมชาติ
  • การทำกิฟต์ (Gamete Intrafallopian Transfer หรือ GIFT) เป็นวิธีสำหรับผู้หญิงที่มีท่อนำไข่ที่เป็นปกติอย่างน้อย 1 ข้าง โดยการส่งอสุจิและไข่ที่คัดเลือกแล้วกลับเข้าไปในท่อนำไข่ เพื่อให้ผสมกันจนเกิดการปฏิสนธิ และเคลื่อนตัวไปฝังที่โพรงมดลูกเพื่อเจริญเติบโตตามปกติ
  • การทำเด็กหลอดแก้ว (In-Vitro Fertilization หรือ IVF) เป็นวิธีสำหรับผู้ที่มีความผิดปกติของท่อนำไข่ หรืออสุจิมีความอ่อนแอมาก โดยการนำอสุจิที่แข็งแรงที่สุดไปผสมกับไข่ที่สุกเต็มที่ในหลอดทดลอง จากนั้นรอประมาณ 48 ชั่วโมง เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิจนกลายเป็นตัวอ่อน จากนั้น นำตัวอ่อนกลับเข้าไปในโพรงมดลูกเพื่อฝังตัวและเจริญเติบโตต่อไป
  • การรักษาด้วยเทคนิคพิเศษ เช่น การทำอิ๊กซี่ (Intracytoplasmic Sperm Injection หรือ ICSI) คือ การนำตัวอสุจิฉีดเข้าไปในเซลล์ไข่โดยตรง และรอให้เกิดการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อน จากนั้นนำตัวอ่อนใส่กลับเข้าไปให้ฝังตัวในโพรวมดลูก การทำพีซ่า (Percutaneous Epididymal Sperm Aspiration หรือ PESA) การทำทีซ่า (Testicular Sperm Aspiration หรือ TESA) การทำเมซ่า (Microsurgical Epididymal Sperm Aspiration หรือ MESA) เป็นวิธีการรักษาภาวะมีบุตรยากในผู้ชาย โดยการผ่าตัดหรือใช้เข็มขนาดเล็กเจาะเพื่อเก็บน้ำอสุจิออกมาจากอัณฑะ และนำไปเก็บไว้เพื่อใช้สำหรับผสมกับไข่ในหลอดทดลองต่อไป
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 18/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา