วิธีสังเกตว่าท้องหรือไม่ อาจดูได้จากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลังจากมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน โดยเฉพาะภาวะประจำเดือนขาด ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนอย่างแรกของคนท้อง บางรายอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อ่อนเพลีย เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน ทั้งนี้ ควรซื้อชุดทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองมาตรวจ หากยังไม่แน่ใจอาจเข้ารับการตรวจโดยตรงจากคุณหมอ เพื่อผลลัพธ์ที่แม่นยำมากขึ้น
[embed-health-tool-ovulation]
วิธีสังเกตว่าท้องหรือไม่
วิธีสังเกตว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์อยู่หรือไม่นั้น สามารถดูจากสัญญาณเตือนเบื้องต้นต่าง ๆ ดังนี้
-
ประจำเดือนขาด
ประจำเดือนขาด เป็นสัญญาณเตือนที่สังเกตได้อย่างแรกเมื่อสงสัยว่าตั้งครรภ์ เพราะเมื่อไข่ของฝ่ายหญิงและอสุจิของฝ่ายชายปฏิสนธิกันและกลายเป็นตัวอ่อนเคลื่อนตัวเข้าสู่โพรงมดลูกเพื่อฝังตัวบนผนังบุมดลูก ร่างกายจะไม่มีเลือดประจำเดือน แต่อาจจะมีอาการปวดท้องเกร็งร่วมด้วยในช่วง 6-12 วัน นอกจากนี้ บางคนอาจมีเลือดออกมาจากช่องคลอดเล็กน้อย หรือมีตกขาวปริมาณมากขึ้นออกมาตลอดการตั้งครรภ์ ถือว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่หากตกขาวเปลี่ยนแปลงเป็นสีเหลือง เขียว หรือเป็นก้อนเหมือนแป้งเปียก มีกลิ่น คัน และรู้สึกแสบร้อนช่องคลอด ควรเข้ารับการตรวจจากคุณหมอทันทีเพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา
-
คลื่นไส้ อาเจียน
เป็นอาการแพ้ท้องที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ส่วนใหญ่จะมีอาการแพ้ท้องในช่วง 6-12 สัปดาห์แรก โดยเฉพาะตอนเช้า หรือเมื่อได้กลิ่นของอาหารบางชนิด อาการแพ้ท้องแต่ละคนจะมากน้อยแตกต่างกัน และระยะเวลาที่เริ่มมีอาการก็จะแตกต่างกันด้วย ขึ้นอยู่กับฮอร์โมน สภาพร่างกาย สภาพแวดล้อมและความเครียดของแต่ละคน อาการอาเจียนอาจบรรเทาลงได้เมื่อเข้าสู่ช่วงการตั้งครรภ์ในสัปดาห์ที่ 13-14
-
เต้านมขยายและคัดตึง
หากสังเกตว่าเต้านมขยาย คัดเต้า เจ็บเต้านม หัวนมมีสีเข้ม ในช่วง 1-2 สัปดาห์หลังจากมีเพศสัมพันธ์สักระยะหรือประมาณ 1-2 สัปดาห์ อาจเป็นไปได้ว่าฮอร์โมนกำลังเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับให้เข้าสู่ช่วงการตั้งครรภ์ จากนั้นอาการจะบรรเทาลงเมื่อร่างกายเคยชินกับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงซึ่งอาจใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ หรือนานกว่านั้น
-
เหนื่อยล้า
เป็นเรื่องปกติของผู้หญิงที่เริ่มตั้งครรภ์ในช่วงสัปดาห์แรก เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ในร่างกายอาจเพิ่มขึ้นสูงขึ้น ทำให้หญิงตั้งครรภ์อาจอ่อนเพลีย เหนื่อยล้าง่าย บางครั้งอาจส่งผลให้อารมณ์แปรปรวน ควรหาเวลาพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารประเภทโปรตีน ธาตุเหล็กเสริมเพื่อเพิ่มพลังงานและควบคุมอารมณ์ หรือทำกิจกรรมเพิ่มความผ่อนคลาย
-
ปัสสาวะบ่อย
เมื่อปริมาณของเลือดในร่างกายเพิ่มขึ้นจากการตั้งครรภ์ อาจส่งผลให้ไตทำงานหนักเพื่อนำของเหลวไปยังกระเพาะปัสสาวะ และจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนการตั้งครรภ์ทำให้มีการดูดน้ำกลับบริเวณท่อไตลดลง ส่งผลให้มีอาการปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ มักเกิดขึ้นในช่วง 6-8 สัปดาห์ แรกของการตั้งครรภ์
-
ท้องผูกและกรดไหลย้อน
ท้องผูกเป็นสัญญาณเตือนที่พบบ่อยระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้นส่งผลให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อลำไส้ ที่ทำหน้าที่นำส่งอาหารชะลอตัวลง และการดูดซึมน้ำกลับเพิ่มขึ้นทำให้อุจจาระแข็งซึ่งอาจเกิดริดสีดวงทวาร (hemorrhoid) จากการที่ขับถ่ายลำบากมากขึ้น ดังนั้น ตลอดการตั้งครรภ์จึงควรรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์และดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อทำให้อุจจาระนิ่ม ขับถ่ายง่าย
นอกจากนี้ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและเอสโตรเจนทำให้มีการคลายตัวของกล้ามเนื้อเรียบในที่ต่าง ๆ ส่งผลให้กล้ามเนื้อในหลอดอาหารที่เชื่อมระหว่างปากและท้องทำงานลดลง อีกทั้งการเคลื่อนที่ของทางเดินอาหารและการทำงานของถุงน้ำดียังลดลงไปด้วย ทำให้หญิงตั้งครรภ์เกิดกรดไหลย้อนได้ง่าย เพราะความไม่สมดุลของแรงดันระหว่างกระเพาะอาหารที่เพิ่มขึ้นและหลอดอาหารที่ลดลง ทำให้มีการไหลย้อนกลับของอาหารขึ้นมาในหลอดอาหารได้ ดังนั้น หลังจากรับประทานอาหารควรนั่งพักสักครู่ไม่ควรเอนตัวลงนอนในทันที และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสชาติเผ็ด มัน เปรี้ยว และบางครั้งอาการเหล่านี้ก็อาจเกิดจากความเครียด หรือความวิตกกังวลได้
-
รู้สึกอยากรับประทานอาหารที่ชอบและไม่ชอบ
หญิงตั้งครรภ์มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์อาจมีความอยากอาหารเปลี่ยนไป จากที่ชอบรับประทานอาหารโปรด เช่น ไอศครีม ก็อาจเปลี่ยนรสชาติที่เคยชอบหรือไม่ชอบ คนใกล้ชิดควรทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ และควรอนุญาตให้รับประทานอาหารที่ชอบได้เป็นบางครั้ง เพราะหญิงตั้งครรภ์ควรรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำเป็นส่วนใหญ่ แต่หากมีความรู้สึกอยากรับประทานอาหารแปลก ๆ เช่น ดิน แป้ง ควรหักห้ามตัวเอง และแจ้งให้คุณหมอทราบโดยเร็วเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา
การตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง
หากสงสัยว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์ สามารถตรวจครรภ์ด้วยตัวเองเพื่อหาฮอร์โมนการตั้งครรภ์ (Human chorionic gonadotropin หรือ HCG) จากปัสสาวะ ทั้งนี้ ควรตรวจหลังจาก 21วัน นับจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน และควรตรวจในช่วงเวลาเช้า เนื่องจากอาจมีฮอร์โมน HCG ในระดับเข้มข้น
ชุดทดสอบการตั้งครรภ์สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป โดยแบ่งออกเป็นรูปแบบจุ่มและแบบหยด ดังนี้
- กระดาษไว้จุ่มปัสสาวะและถ้วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ โดยปัสสาวะลงภายในถ้วยและใช้กระดาษหรือแท่งทดสอบจุ่มลงไปทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วินาที จากนั้นรอผลลัพธ์ประมาณ 5 นาที
- ชุดทดสอบการตั้งครรภ์แบบหยด เป็นการทดสอบที่คล้ายกับแบบจุ่ม แต่เปลี่ยนเป็นใช้ที่ดูดปัสสาวะเพื่อหยดลงในชุดทดทดสอบที่มีสัญลักษณ์ตัว S ซึ่งหยดลงไปในช่องประมาณ 6 หยด และรอผลลัพธ์ประมาณ 3 นาที
ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ล้วนประกอบด้วยตัวอักษร C และ T เมื่อครบเวลาตามกำหนดหากมีขีดสีแดงขึ้นที่ตัวอักษร C (Control Line) ของชุดทดสอบมีความหมายว่าไม่ได้มีการตั้งครรภ์ หากมีขีดสีแดงขึ้นที่ตัวอักษร C และ T หรือมีเส้นสีแดงขึ้น 2 ขีด อาจเป็นไปได้ว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่ แต่หากมีเส้นสีแดงขึ้นตรงตัวอักษรไม่ชัด ควรซื้อชุดตรวจใหม่หรือเข้าตรวจโดยคุณหมอ เพื่อให้ทราบผลลัพธ์ที่แม่นยำมากขึ้น
การตรวจครรภ์ด้วยวิธีทางการแพทย์
เป็นการดูระดับของฮอร์โมนการตั้งครรภ์ คือ serum Beta-hCG จากการส่งเลือดไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ ถ้าค่าฮอร์โมนมากกว่า 25 mIU/ml แสดงว่าตั้งครรภ์ ซึ่งจะมีเกณฑ์ในการประเมินระดับของฮอร์โมน hCG ในแต่ละช่วงอายุครรภ์ว่าเหมาะสมกันหรือไม่ แต่การตรวจเลือดเพียงครั้งเดียวไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นการตั้งครรภ์ปกติ อาจจะต้องตรวจเลือดซ้ำ เนื่องจากการตรวจระดับของ Beta-hCG ในการตั้งครรภ์ปกติจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 66 เปอร์เซ็นต์ใน 48 ชั่วโมง