เข้าสู่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในร่างกายเป็นสิ่งที่ปฎิเสธไม่ได้ โดยเฉพาะ การตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 เป็นจุดเริ่มต้นของการนับถอยหลังเตรียมพบกับลูกน้อย ซึ่งก่อนพบอาจจะต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย และอารมณ์ในช่วงโค้งสุดท้ายของการตั้งครรภ์
[embed-health-tool-due-date]
ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย การตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3
การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เริ่มเพิ่มมากขึ้นเมื่อเข้าไตรมาสที่ 3 โดยไตรมาสที่ 3 เริ่มในสัปดาห์ที่ 28 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งต่อไปนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและอาการที่อาจพบเจอ
- การปัสสาวะที่บ่อยขึ้น เนื่องจากแรงกดที่เพิ่มขึ้นบนกระเพาะปัสสาวะ
- บวมที่ข้อเท้า มือ และใบหน้า หรือที่เรียกว่า บวมน้ำ
- ขาเป็นตะคริวบ่อยขึ้น รวมไปถึงการปวดหลัง
- มดลูกหดรัดตัว (Braxton Hicks contractions) มีอาการปวดท้องบริเวณท้องน้อย ซึ่งเป็นสิ่งปกติ
- หน้าท้องที่ขยายใหญ่ อาจมีปัญหาด้านการนอน และรู้สึกอึดอัด
- เต้านมเริ่มคัดตึง บางครั้งอาจจะมีน้ำนมไหลออกมาได้
- รอยแตกลายที่เพิ่มขึ้นบนหน้าท้อง ต้นขา ก้น
- ผิวหนังที่แห้ง และคล้ำขึ้น
- มีเส้นเลือดขอดที่ขา
ความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3
เมื่อถึงเวลาใกล้คลอดเข้ามาทุกที อารมณ์ความคิด ความคาดหวัง ความกลัว อาจเพิ่มมากขึ้น หากเป็นการตั้งครรภ์ครั้งแรกอาการอาจยิ่งแย่ลงกว่าเดิม เพราะเป็นประสบการณ์ที่ยังไม่เคยเจอ และเนื่องจากการคลอดเป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยอาจมีความกังวลเกี่ยวกับการคลอดว่าจะคลอดแบบธรรมชาติ หรือผ่าคลอด ตอนคลอดจะเจ็บมากน้อยเพียงใด ลูกออกมาจะครบ 32 หรือไม่ แม้จะมีการตรวจสุขภาพแล้ว คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถปรึกษาผู้ที่มีประสบการณ์ หรือคุณหมอ เพื่อรับคำแนะนำ และอาจช่วยคลายความกังวลใจ
การเตรียมความพร้อมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3
เมื่อถึงช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ จำเป็นที่จะต้องดูแลและเตรียมการสิ่งต่าง ๆ ให้พร้อม ที่สำคัญคุณแม่ต้องตั้งสติ ทำจิตใจให้สบาย การเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นคุณแม่ มีดังต่อไปนี้
- เตรียมของใช้สำหรับทารก เพื่อวันคลอดจะได้มีใช้ไม่ต้องไปหาให้วุ่นวาย โดยแน่ใจว่ามีของใช้ที่จำเป็น เช่น เปล รถเข็นเด็ก ผ้าอ้อม เสื้อผ้าเด็ก ขวดนม เครื่องอาบน้ำสำหรับเด็กอ่อน และคำนึงถึงความอ่อนโยนเพื่อปกป้องผิวลูกน้อย
- เรียนรู้วิธีให้นมลูก หาข้อมูลวิธีการให้นมลูก หรือการเข้าคอร์สเรียนวิธีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะถ้าหากให้ผิดวิธีลูกน้อยอาจจะไม่ยอมเข้าเต้า
- ติดตามการเคลื่อนไหวของทารก โดยการนับการดิ้น หรือขยับตัวของทารกอย่างสม่ำเสมอ โดยทำในช่วงที่ทารกขยับตัวมากที่สุด เช่น หลังทานอาหาร ซึ่งไม่ควรต่ำกว่า 10 ครั้ง ในเวลา 2 ชั่วโมง หรือ อย่างน้อย 4ครั้ง ใน 1 ชั่วโมง
- ตรวจสุขภาพไตรมาส 3 อาจจะมีการทดสอบระดับกลูโคส โลหิตจาง รวมถึงการตรวจปากมดลูกเพื่อดูว่าเริ่มเปิด และบางลงแล้วหรือไม่
- เตรียมของทุกอย่างให้พร้อมในกระเป๋า หากเมื่อมีสัญญาณเตือนคลอด จะได้หยิบกระเป๋าใบนี้และไปโรงพยาบาลทันที เตรียมของใช้ที่จำเป็นเท่านั้น เช่น เสื้อผ้า เครื่องปั๊มนม เอกสารสำคัญ