วิธีสังเกตว่าท้อง หรือไม่ ในเบื้องต้นอาจสังเกตได้จากอาการที่บ่งบอกถึงภาวะตั้งครรภ์ เช่น ประจำเดือนขาด อ่อนเพลีย ปวดปัสสาวะบ่อย อยากอาหารมากขึ้น คลื่นไส้ อาเจียน หน้าอกขยายตัวและรู้สึกคัดตึงเต้านม หากมีอาการดังที่กล่าวมา อาจเป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์ระยะแรก ซึ่งควรทดสอบการตั้งครรภ์หลังจากประจำเดือนไม่มาอย่างน้อย 6 วัน ด้วยการใช้ชุดตรวจครรภ์หรือไปตรวจการตั้งครรภ์ที่สถานพยาบาล เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ตัวอ่อนฝังตัวกับผนังเยื่อบุโพรงมดลูกเรียบร้อยแล้ว และร่างกายผลิตฮอร์โมนการตั้งครรภ์ในปริมาณมากพอให้ตรวจจับได้ หากพบว่าตั้งครรภ์ควรไปฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด เพื่อรับการตรวจคัดกรองโรค ติดตามพัฒนาการของเด็กในท้อง และดูแลสุขภาพให้แข็งแรงตลอดการตั้งครรภ์
[embed-health-tool-due-date]
วิธีสังเกตว่าท้อง หรือไม่
วิธีสังเกตว่าท้อง หรือไม่ อาจสังเกตได้จากอาการต่อไปนี้
- ประจำเดือนขาด
อาการประจำเดือนไม่มาตามรอบเดือนปกติหรือประจำเดือนขาด ถือเป็นสัญญาณแรก ๆ และสำคัญที่สุดของการตั้งครรภ์ เนื่องจากเมื่อเกิดการปฏิสนธิ (ไข่ผสมกับอสุจิ) ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่หลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน เพื่อรองรับการฝังตัวของตัวอ่อน ซึ่งหมายความว่าประจำเดือนจะขาดไปจนกว่าจะคลอดลูก ทั้งนี้ คนท้องบางคน โดยเฉพาะคนที่มีท้องแรกอาจมีเลือดออกจากช่องคลอดในปริมาณเล็กน้อยในช่วงเดียวกับรอบประจำเดือน และเข้าใจผิดว่าเลือดนั้นคือเลือดประจำเดือน แต่จริง ๆ แล้ว เลือดที่ไหลออกมาในลักษณะนี้เรียกว่า เลือดล้างหน้าเด็ก เกิดจากตัวอ่อนฝังตัวเข้าไปในผนังมดลูก มักเกิดขึ้นหลังจากเกิดการปฏิสนธิประมาณ 10-14 วัน
อย่างไรก็ตาม ภาวะประจำเดือนขาดอาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ได้เช่นกัน เช่น ความไม่สมดุลของฮอร์โมน ความเครียด การออกกำลังกายหักโหมเกินไป ภาวะน้ำหนักลดฮวบ ความผิดปกติของโรคฮอร์โมนบางอย่าง จึงจำเป็นต้องใช้ที่ตรวจครรภ์เพื่อยืนยันผลการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่แล้วสามารถตรวจครรภ์ได้หลังจากประจำเดือนไม่มาตามปกติอย่างน้อย 6 วัน โดยหากไม่พบการตั้งครรภ์ก็จะมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของการขาดประจำเดือนอื่น ๆ เพิ่มเติมต่อไป
อาการแพ้ท้อง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เป็นอาการที่พบได้บ่อยในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรก มักเกิดขึ้นตั้งแต่สัปดาห์ที่ 6 ของการตั้งครรภ์เป็นต้นไป และมักจะเป็นมากในช่วงอายุครรภ์ 9-14 สัปดาห์สาเหตุของการเกิดอาการนี้ยังไม่แน่ชัด แต่อาจมาจากร่างกายหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์อย่างฮอร์โมนเอชซีจี (hCG หรือ Human Chorionic Gonadotropin) และฮอร์โมนเอสโตรเจนมากขึ้น หรือระดับน้ำตาลในเลือดลดลง อาการแพ้ท้องสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงเวลาของวัน และอาจแย่ลงได้หากได้รับสิ่งกระตุ้น เช่น การได้กลิ่นหรือการรับประทานอาหารบางชนิด ความเครียด การพักผ่อนน้อย
คนท้องบางคนอาจมีอาการแพ้ท้องรุนแรง (Hyperemesis gravidarum) คือ อาเจียนมากกว่า 3 ครั้ง/วัน มีอาการของภาวะขาดน้ำ เช่น ถ่ายปัสสาวะน้อย ปัสสาวะสีเข้ม วิงเวียนศีรษะขณะยืน น้ำหนักลดผิดปกติ อ่อนเพลียมาก ซึ่งควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนด้วยการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำหรือให้ยาเพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้ เพื่อช่วยเพิ่มพลังงาน และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะสุขภาพที่เป็นอันตรายต่อทั้งคนท้องและเด็กในท้อง
- เจ็บหน้าอก คัดเต้านม
หน้าอกของคนท้องจะขยายตัวมากขึ้นเพื่อรองรับการให้นมลูกหลังคลอด ซึ่งอาจทำให้คนท้องรู้สึกเจ็บหน้าอกและคัดตึงเต้านมคล้ายกับช่วงที่เป็นประจำเดือน โดยเฉพาะในช่วงท้องระยะแรกที่ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก แต่เมื่อร่างกายสามารถปรับตัวได้แล้ว อาการเจ็บและคัดตึงบริเวณเต้านมจะทุเลาและมักหายไปในช่วงไตรมาสที่ 2 หรือเดือนที่ 4-6 ของการตั้งครรภ์
- ถ่ายปัสสาวะบ่อย
ร่างกายของคนท้องจะผลิตเลือดเพิ่มขึ้นเพื่อให้มีเลือดเพียงพอในการหล่อเลี้ยงมดลูกและลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงเด็กในท้อง เมื่อร่างกายมีเลือดมากขึ้น ไตก็ต้องกรองเลือดและกำจัดของเหลวส่วนเกินออกไปในรูปแบบปัสสาวะปริมาณมากขึ้นตามไปด้วย จึงส่งผลให้คนท้องถ่ายปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ ทั้งนี้ คนท้องควรเข้าห้องน้ำทันทีที่ปวดปัสสาวะ เนื่องจากการกลั้นปัสสาวะอาจทำให้เสี่ยงติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งเป็นภาวะสุขภาพที่พบได้บ่อยในคนท้อง
- อ่อนเพลีย
อาการอ่อนเพลียเป็นอาการที่พบได้บ่อยในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรก เนื่องจากเมื่อท้อง ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเพศที่ชื่อว่าโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เพิ่มขึ้นอย่างมาก เพื่อช่วยให้การตั้งครรภ์ดำเนินไปตามปกติ และช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของเด็กในครรภ์ แต่การเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้ระบบเผาผลาญทำงานช้าลง จึงส่งผลให้อ่อนเพลียง่าย ง่วงนอนบ่อย เหนื่อยได้ง่าย หรืออาจนอนหลับไม่เต็มอิ่ม
- อยากอาหารมากขึ้น
ร่างกายคนท้องมักต้องการอาหารมากขึ้นเพื่อให้ตัวเองและเด็กในท้องมีพลังงานเพียงพอ จึงเป็นเรื่องปกติที่คนท้องส่วนใหญ่จะอยากรับประทานอาหารที่ให้พลังงานและแคลเซียมสูง เช่น นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว ของหวาน ช็อกโกแลต ไอศกรีม และอาจไม่ชอบอาหารที่เคยชอบรับประทานก่อนท้อง หรืออาจมีภาวะเกลียดอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งอย่างรุนแรง (Food aversion) เนื่องจากประสาทรับกลิ่นและรสชาติของคนท้องมักไวขึ้นหรือแปลกไปจากเดิม
ตรวจตั้งครรภ์ เร็วสุดกี่วัน
หลังจากตั้งครรภ์แล้ว ปริมาณฮอร์โมนตั้งครรภ์ในร่างกายจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุครรภ์ที่มากขึ้น หากต้องการใช้ที่ตรวจครรภ์ให้ได้ผลลัพธ์แม่นยำที่สุด ควรตรวจครรภ์หลังจากประจำเดือนขาดไปอย่างน้อย 6 วัน เนื่องจากเป็นช่วงที่ระดับฮอร์โมนเอชซีจีในปัสสาวะและเลือดสูงจนสามารถตรวจจับได้แล้ว หากตรวจครรภ์เร็วกว่านี้ อาจทำให้ผลตรวจครรภ์คลาดเคลื่อนได้
หากใช้ชุดตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง ควรตรวจครรภ์ในช่วงเช้าหรือหลังจากตื่นนอน เนื่องจากระดับฮอร์โมนในปัสสาวะจะเข้มข้นที่สุดเพราะไม่ได้ดื่มน้ำมาตลอดทั้งคืน โดยทั่วไปแล้วชุดตรวจการตั้งครรภ์ที่บ้านจะมีทั้งหมด 3 แบบ คือ ที่ตรวจครรภ์แบบจุ่ม (Pregnancy Test Strip) ที่ตรวจครรภ์แบบปัสสาวะผ่าน (Pregnancy Midstream Tests) และที่ตรวจครรภ์แบบหยด (Pregnancy Test Cassette) หากบริเวณแถบแสดงผลปรากฏเป็นขีด 2 ขีด แสดงว่ากำลังตั้งครรภ์
นอกจากนี้ ผู้ที่สงสัยว่าตั้งครรภ์สามารถไปตรวจครรภ์ที่โรงพยาบาลได้เช่นกัน หรือหากตรวจครรภ์ด้วยตัวเองแล้วก็ควรไปตรวจครรภ์ที่โรงพยาบาลอีกครั้งเพื่อยืนยันผลการตั้งครรภ์ ขั้นตอนการตรวจครรภ์ที่โรงพยาบาลอาจทำได้โดยการเก็บตัวอย่างปัสสาวะไปตรวจการตั้งครรภ์จากปัสสาวะในห้องปฏิบัติการ (Urine Pregnancy test) หรือที่เรียกว่ายูพีที (UPT) หากพบว่ามีระดับฮอร์โมนตั้งครรภ์ตั้งแต่ 25 mIU/ml ขึ้นไป แสดงว่าตั้งครรภ์ หรืออาจตรวจการตั้งครรภ์จากเลือด ด้วยการเจาะเลือดไปวัดระดับฮอร์โมนตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นวิธีตรวจครรภ์ที่ให้ผลแม่นยำมากที่สุด
การดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์ระยะแรก
การดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์ระยะแรก อาจทำได้ดังนี้
- เมื่อทราบแน่ชัดว่าตั้งครรภ์ ควรเข้าฝากครรภ์ทันที โดยทั่วไปคุณหมออาจซักประวัติ ตรวจร่างกายทั่วไป และแนะนำแนวทางการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมในช่วงตั้งครรภ์ คนท้องควรไปตรวจครรภ์ตามนัดหมายตลอดการตั้งครรภ์ เพื่อตรวจสอบว่า สุขภาพของคนท้องและเด็กในท้องเป็นไปตามอายุครรภ์หรือไม่ และเพื่อตรวจคัดกรองโรคและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับทั้งคนท้องและเด็กในท้อง
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีคุณค่าทางโภชนาการสูงและหลากหลาย โดยควรแบ่งอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ อย่างน้อย 5-6 มื้อ/วัน เพื่อลดอาการแน่นท้อง อาจช่วยป้องกันท้องผูกและกรดไหลย้อนได้
- รับประทานกรดโฟลิควันละ 0.4 มิลลิกรัม ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์หรือในช่วงวางแผนตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือนต่อเนื่องไปจนถึงอายุครรภ์ 3 เดือน เพื่อป้องกันเด็กเกิดภาวะพิการแต่กำเนิด และรับประทานธาตุเหล็กให้เพียงพอเพื่อบำรุงเลือดหากคนท้องมีภาวะโลหิตจางหรือมีอาการแพ้ท้องรุนแรง สำหรับคนท้องที่แพ้ท้องรุนแรง คุณหมออาจให้เริ่มรับประทานอาหารเสริมธาตุเหล็กในช่วงไตรมาสที่ 2 หรือเดือนที่ 4-6 ของการตั้งครรภ์
- รับวัคซีนเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันการติดเชื้อในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนโควิด-19
- พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 8-10 ชั่วโมง หาเวลางีบกลางวันอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมง และควรเข้านอนแต่หัวค่ำเพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูตัวเองและพักผ่อนอย่างเต็มที่
- คนท้องไม่ควรทำงานหักโหม ออกกำลังกายหนัก ยกของหนัก หรืออยู่ในที่อากาศร้อนจนเกินไป เพราะอาจทำให้อ่อนเพลียได้ง่ายยิ่งขึ้น หรือเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพหรืออุบัติเหตุได้
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดและงดสูบบุหรี่ตั้งแต่ช่วงวางแผนการตั้งครรภ์
- จำกัดการบริโภคเครื่องดื่มคาเฟอีนไม่ให้เกิน 200 มิลลิกรัม/วัน หรือเลือกดื่มเครื่องดื่มอื่น ๆ แทน เช่น น้ำผลไม้ไม่เติมน้ำตาลหรือสารปรุงแต่ง นมวัว