เวียนหัว คลื่นไส้ พะอืดพะอม อาจเป็นสัญญาณเตือนของการตั้งครรภ์ในช่วงแรก อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้อาจมีสาเหตุจากสภาวะอื่น ๆ ได้เช่นกัน เช่น ความดันโลหิตต่ำ ลำไส้อุดตัน ความเครียด ดังนั้น หากสงสัยหรือกังวลใจว่าตนเองตั้งครรภ์ และประจำเดือนขาดนานกว่า 2 เดือน ควรตรวจครรภ์ด้วยตนเองหรือเข้าพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่ชัดเจนของอาการดังกล่าว
[embed-health-tool-ovulation]
สัญญาณเตือนของการตั้งครรภ์
สัญญาณเตือนของการตั้งครรภ์แรกเริ่ม อาจสังเกตได้จากอาการ เวียนหัว คลื่นไส้ พะอืดพะอม อาเจียน ประจำเดือนขาดนานกว่า 2 เดือน หรือบางคนอาจมีเลือดออกจากช่องคลอดกะปริบกะปรอย ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการฝังตัวของตัวอ่อน และการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนการตั้งครรภ์ (Human Chorionic Gonadotropin: HCG) อย่างไรก็ตาม การที่ประจำเดือนขาดอาจไม่ได้หมายความว่าตั้งครรภ์เสมอไป เพราะอาจมีสาเหตุอื่น ๆ เช่น ความเครียด ความเหนื่อยล้า ยาคุมกำเนิด ดังนั้น จึงควรตรวจการตั้งครรภ์เพื่อให้ทราบแน่ชัดว่าตั้งครรภ์หรือไม่
สัญญาณเตือนของการตั้งครรภ์อื่น ๆ มีดังนี้
- ไวต่อกลิ่น อาการไวต่อกลิ่นอาจส่งผลให้รู้สึกเหม็นสิ่งรอบตัวที่แต่เดิมไม่รู้สึกว่าเหม็น เช่น กลิ่นน้ำหอม กลิ่นอาหาร อีกทั้งยังอาจส่งผลกระทบต่อความอยากอาหาร อาจรู้สึกอยากรับประทานอาหารแปลก ๆ อาการเหล่านี้อาจบรรเทาลงในช่วงสัปดาห์ที่ 13-14 ของการตั้งครรภ์
- เต้านมคัด เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนการตั้งครรภ์ เพื่อเตรียมผลิตน้ำนมให้ทารกหลังคลอด ส่งผลให้เต้านมคัด หน้าอกขยาย ไวต่อการสัมผัส และทำให้รู้สึกเจ็บหน้าอก จนอาจรู้สึกไม่สบายตัว แต่อาการนี้จะค่อย ๆ บรรเทาลงภายใน 2-3 สัปดาห์ เนื่องจากร่างกายปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
- อาการเหนื่อยล้า อาจเกิดขึ้นตลอดเวลาในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ เนื่องจากร่างกายมีการผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการอผลิตเลือดมาส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกจึงอาจส่งผลให้รู้สึกอ่อนเพลีย ง่วงนอน
- ปัสสาวะบ่อย เนื่องจากมดลูกขยายตัวกดทับกระเพาะปัสสาวะ จึงทำให้อาจปัสสาวะบ่อยขึ้นตลอดทั้งวัน นอกจากนี้ ปริมาณของเลือดที่เพิ่มขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์อาจทำให้ไตทำงานหนักเพื่อคัดกรองของเหลว จึงอาจส่งผลให้มีอาการปัสสาวะบ่อยขึ้นได้เช่นกัน
- อารมณ์แปรปรวน ฮอร์โมนการตั้งครรภ์ที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้อารมณ์แปรปรวน ขึ้น ๆ ลง ๆ เช่น จากมีความสุข ดีใจ อาจเปลี่ยนเป็นร้องไห้ หงุดหงิดกะทันหัน
- อาการท้องผูก การตั้งครรภ์อาจทำให้ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การเคลื่อนอาหารผ่านลำไส้ช้าลง จนนำไปสู่อาการท้องผูก
วิธีการตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง
นอกเหนือจากอาการเวียนหัว คลื่นไส้ พะอืดพะอม ควรตรวจครรภ์ด้วยตัวเองหากประจำเดือนขาดนานกว่า 2 เดือน หรือ 21 วันหลังจากที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันครั้งสุดท้าย เนื่องจากเป็นช่วงที่ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนการตั้งครรภ์มากขึ้นทำให้ผลตรวจอาจแม่นยำ อีกทั้งยังควรตรวจในช่วงเช้าหรือปัสสาวะแรก เพราะเป็นช่วงเวลาที่ฮอร์โมนการตั้งครรภ์อยู่ในระดับสูง
วิธีการตรวจครรภ์ด้วยตัวเองแบ่งเป็น 2 รูปแบบได้แก่
1. ชุดทดสอบตั้งครรภ์แบบหยด
วิธีใช้
- ปัสสาวะลงในถ้วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ
- ดูดน้ำปัสสาวะมาหยดลงบนตลับทดสอบที่มีตัวอักษร S ประมาณ 3 หยด สูงสุดไม่เกิน 6 หยด เพื่อเพิ่มความไวในการอ่านค่าของตลับทดสอบ
- วางทิ้งไว้ประมาณ 3 นาที หรือตามคำแนะนำที่ระบุข้างผลิตภัณฑ์ เพื่อรอผลทดสอบ
เมื่อครบ 3 นาที แล้วพบว่ามีขีดสีแดงขึ้นขีดเดียวที่ตัวอักษร C คือไม่ตั้งครรภ์ แต่หากมีเส้นขีดสีแดงขึ้น 2 ขีด ที่ตรงกับตัวอักษร C และ T อาจหมายความว่ากำลังตั้งครรภ์ หากมีเส้นขีดสีแดงไม่ชัเจน ควรตรวจใหม่อีกครั้ง
2. ชุดทดสอบการตั้งครรภ์แบบจุ่ม
วิธีใช้
- ปัสสาวะลงในถ้วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ
- นำกระดาษทดสอบจุ่มในปัสสาวะไม่เกินเส้นที่กำหนด หรือถอดฝาอุปกรณ์ทดสอบการตั้งครรภ์ แล้วนำส่วนปลายของอุปกรณ์จุ่มลงในปัสสาวะประมาณ 7-10 วินาที
- ปิดฝาอุปกรณ์หรือวางกระดาษบนพื้นที่สะอาด และรอ 5 นาที เพื่อรอผลทดสอบ
เมื่อครบเวลาที่กำหนด หากพบว่ามีขีดสีแดงขึ้นขีดเดียวที่อักษร C หมายความว่าไม่ตั้งครรภ์ แต่หากมีเส้นขีดสีแดงขึ้น 2 ขีด ที่ตรงกับตัวอักษร C และ T อาจหมายความว่ากำลังตั้งครรภ์ ในกรณีที่เส้นสีแดงขึ้นเป็นขีดจาง ๆ ที่ตัว T ไม่ชัดเจน อาจจำเป็นต้องตรวจใหม่ หรือรับการตรวจครรภ์จากคุณหมอโดยตรง
สาเหตุอื่นที่ทำให้ เวียนหัว คลื่นไส้ พะอืดพะอม
หากตรวจครรภ์แล้วพบว่าตนเองไม่ตั้งครรภ์ อาจเป็นไปได้ว่าอาการเวียนหัว คลื่นไส้ พะอืดพะอม เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ดังต่อไปนี้
- ความเครียด ความวิตกกังวลหรือสภาวะอื่นที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และ จิตใจ เช่น โรคแพนิค โรคกลัวต่าง ๆ
- อาหารเป็นพิษ
- การรับประทานอาหารมากเกินไป
- ไมเกรน
- ลำไส้อุดตัน
- ร่างกายขาดน้ำ และอยู่ในสภาพอากาศร้อนจัด หรือมีคนแออัดการระบายอากาศไม่ดี
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ มักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้อินซูลิน
- ไส้ติ่งอักเสบ
- การติดเชื้อไวรัสในกระเพาะอาหาร
- หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจทำให้ความดันโลหิตต่ำ ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในร่างกายไม่เพียงพอ และทำให้เกิดอาการเวียนหัว
- ร่างกายได้รับสารพิษมากเกินไป เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide)
- การบาดเจ็บที่สมอง เนื้องอกในสมอง
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
- ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาต้านอาการชัก ยากล่อมประสาท ยาลดความดันโลหิต
- โรคมะเร็งบางชนิด
เพื่อความปลอดภัยควรเข้าพบคุณหมอทันทีที่มีอาการผิดปกติและควรตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อให้ตรวจพบโรคและทำการรักษาได้ทันท่วงที