backup og meta

ปัญหา ครอบครัว เกิดจากอะไร และควรแก้ปัญหาอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

    ปัญหา ครอบครัว เกิดจากอะไร และควรแก้ปัญหาอย่างไร

    ปัญหา ครอบครัว เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากและอาจเป็นเรื่องยากที่จะเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากแต่ละครอบครัวมีปัญหาที่ไม่เหมือนกัน รวมทั้งแต่ละคนก็ยังมีความคิดและนิสัยที่แตกต่างกันไป จึงส่งผลให้ปัญหาครอบครัวคลี่คลายได้ยาก แต่หากคนในครอบครัวหันหน้าเข้าหากัน พูดคุยถึงปัญหา และทำความเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง ก็อาจช่วยลดความตึงเครียดภายในครอบครัวและช่วยบรรเทาปัญหาต่าง ๆ ลงได้

    ปัญหา ครอบครัว เกิดจากอะไร

    ปัญหาครอบครัวเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งปัญหาที่พบบ่อยและกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว อาจมีดังนี้

    • ปัญหาทางการเงิน โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีค่าครองชีพสูง การหาเงินเลี้ยงครอบครัวให้อยู่รอดจึงอาจทำให้บุคคลที่ต้องแบกรับภาระนี้เกิดความเครียด โดยเฉพาะครอบครัวที่มีปัญหาทางการเงินอย่างหนักอาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ใช้ความรุนแรง เสพยา ขโมยของ เพื่อระบายความเครียดและหาเงินมาประทังชีวิต จนทำให้เกิดปัญหาภายในครอบครัวที่บานปลายเกินจะควบคุม
    • หย่าร้าง เป็นปัญหาระหว่างคู่รักที่แต่งงานกัน ซึ่งอาจเกิดจากความไม่ลงรอยในหลาย ๆ เรื่อง เช่น นิสัย ความเป็นอยู่ การเลี้ยงลูก มีชู้ จนเกิดการทะเลาะกันมากขึ้นและนำไปสู่การหย่าร้างในที่สุด
    • ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติด ทั้ง 2 สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนนิสัยคนได้ ซึ่งอาจเปลี่ยนให้คุณพ่อที่น่ารักกลายเป็นคนที่ชอบใช้ความรุนแรงกับครอบครัว หรือเปลี่ยนคุณแม่ที่ขยันทำงานให้กลายเป็นคนขี้เกียจและปากร้าย จนก่อให้เกิดปัญหาการทะเลาะกันและอาจทำให้เกิดบาดแผลภายในจิตใจของลูกได้ด้วย
    • คนในครอบครัวเสียชีวิต ความโศกเศร้าที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวที่เกิดขึ้นเป็นเวลานาน อาจทำให้บรรยากาศภายในครอบครัวเศร้าหมองตามไปด้วย ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของทุกคน
    • ความไม่ซื่อสัตย์ระหว่างคู่รัก เป็นสาเหตุของปัญหาครอบครัวที่พบได้บ่อยอีกเรื่องหนึ่ง และยังเป็นปัจจัยหลักที่อาจนำไปสู่การหย่าร้างและสร้างบาดแผลภายในใจของลูก
    • ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ เป็นความสัมพันธ์ที่คนใดคนหนึ่งหรือทั้ง 2 คนใช้อารมณ์หรือใช้พฤติกรรมที่นำไปสู่ปัญหา เช่น บ่นและต่อว่าอย่างไร้เหตุผล ใช้ความรุนแรง เห็นแก่ตัว ข่มคนในครอบครัว
    • ความขัดแย้ง แต่ละคนมีแนวคิดและนิสัยที่ไม่เหมือนกัน บางครั้งจึงอาจมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นภายในครอบครัวได้ ซึ่งในกรณีนี้หากข้อโต้แย้งไม่จบสิ้นและไม่มีใครยอมใครก็มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ภายในครอบครัวได้ในที่สุด
    • ความไม่สมดุล ทุกคนในครอบครัวควรมีหน้าที่ที่เท่าเทียมกัน หากคนใดคนหนึ่งมีภาระหน้าที่ที่มากกว่าก็อาจก่อให้เกิดปัญหาในอนาคตได้
    • เด็กดื้อรั้นและทะเลาะกัน การทะเลาะกันของเด็กอาจเป็นเรื่องปกติ แต่การทะเลาะกันบ่อย ๆ และตลอดเวลาก็อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความเครียดและความหงุดหงิดได้

    วิธีการแก้ปัญหา ครอบครัว

    วิธีแก้ปัญหาครอบครัวอาจทำได้หลายวิธี ดังนี้

    • พยายามใช้เวลากับครอบครับให้มากขึ้น โดยเฉพาะบางครอบครัวที่ต้องอยู่ห่างกันบ่อย ๆ การหาเวลาว่างมาใช้เวลากับครอบครัวสามารถช่วยเสริมความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัวได้มากขึ้น
    • พูดความจริงเสมอ ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย และการพูดความจริงเป็นเหมือนการแสดงเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งอาจช่วยป้องกันการเกิดปัญหาได้
    • ความซื่อสัตย์ ทั้งการพูดความจริงเมื่อทำความผิด อาจช่วยลดความขุ่นเคืองใจให้เบาลง รวมทั้งความซื่อสัตย์ต่อคนรัก ไม่เจ้าชู้นอกใจสามีหรือภรรยา
    • รู้จักให้อภัยไม่เก็บความแค้นไว้ในใจ การให้อภัยซึ่งกันและรับฟังเหตุผลที่ก่อให้เกิดความผิดนั้น อาจช่วยลดการทะเลาะในครอบครัวได้
    • เปิดใจให้กว้าง เป็นการรับฟังมุมของคนอื่น เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และเข้าใจซึ่งกันและกัน
    • สงบสติอารมณ์ หากมีปัญหาเกิดขึ้นควรสงบสติอารมณ์ให้มาก และมองหาสาเหตุเพื่อจัดการแก้ปัญหาให้ถูกต้อง
    • เดินออกจากปัญหาซักพัก หากรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถยอมรับกับปัญหาในขณะนั้นได้ ให้เดินออกจากปัญหาซักพักเพื่อไตร่ตรองถึงเหตการณ์ต่าง ๆ และหาแนวทางแก้ปัญหาที่เหมาะสม
    • เข้ารับการบำบัด อาจเป็นขั้นตอนสุดท้ายของบางครอบครัวที่ไม่สามารถเยียวยากันเองได้ จึงอาจต้องขอความช่วยเหลือจากนักบำบัด เพื่อช่วยปรับปรุงความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดีขึ้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา