backup og meta

ลูกฟันขึ้น สัญญาณ และวิธีการดูแลที่ควรรู้

ลูกฟันขึ้น สัญญาณ และวิธีการดูแลที่ควรรู้

ลูกฟันขึ้น เป็นเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของลูก เพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการเจริญเติบโต ฟันจะช่วยให้ลูกสามารถเคี้ยว ยิ้ม และพูดคุยได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น คุณพ่อคุณแม่มีส่วนสำคัญที่จะช่วยสนับสนุน และคอยดูแลสุขภาพในช่องปากของลูก โดยเฉพาะกับการจัดการอาการปวดเหงือกในช่วงที่ฟันเริ่มขึ้น

ลูกฟันขึ้น จะเริ่มเมื่อไหร่

ฟันน้ำนมของทารก จะอยู่ภายในกรามของทารกตั้งแต่แรกเกิด แล้วจะค่อยๆ งอกขึ้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งฟันนั้นดันทะลุเหงือกขึ้นมา แล้วกลายเป็นฟันน้ำนมที่เราคุ้นเคย

ตามปกติแล้ว เราจะเริ่มมองเห็นฟันซี่แรกของลูก เมื่อลูกมีอายุประมาณ 6 เดือน แต่ก็อาจจะมีเด็กทางคนที่ฟันไม่ขึ้น จนกว่าจะมีอายุประมาณ 1 ปี โดยฟันที่จะเริ่มขึ้นมาก่อน มักจะเป็นฟันหน้าส่วนล่าง แล้วตามด้วยฟันหน้าส่วนบน และฟันซี่อื่นๆ ไปจนถึงฟันกรามในลำดับสุดท้าย ฟันมักจะขึ้นจนครบหมดปาก เมื่อเด็กมีอายุประมาณ 3 ปี ฟันเหล่านี้คือฟันน้ำนม ที่มักจะมีอายุประมาณ 10-12 ปี ก่อนที่จะหลุดออกไป แล้วมีฟันแท้มาแทนที่ในภายหลัง

ลูกฟันขึ้นจะมีอาการอย่างไรบ้าง

ฟันของลูกที่เริ่มงอกขึ้นมานั้น อาจนำมาซึ่งความรู้สึกไม่สบาย หมั่นเขี้ยว และอาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหงือกและช่องปาก โดยอาการที่สามารถพบเห็นได้บ่อยมีดังต่อไปนี้

  • มีน้ำลายเยอะ

สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตเห็น คือการที่ลูกมักจะมีน้ำลายเยอะขึ้นมากเป็นพิเศษ เนื่องจากการที่เหงือกได้รับการกระตุ้น ทำให้ต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายออกมาเป็นจำนวนมาก

  • ชอบกัด

การที่ฟันดันเหงือกขึ้นมาจะทำให้เด็กรู้สึกคันฟัน หมั่นเขี้ยว รำคาญ และเกิดความต้องการที่จะกัดของต่างๆ ที่อยู่ใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นผ้าห่ม เตียง ขวดนม มือ เท้า หรือแม้แต่หัวนมของแม่ขณะดื่มนม

  • ผื่นขึ้น

คุณอาจสังเกตเห็นอาการผื่นเกิดขึ้น ที่บริเวณในหน้าและลำคอของเด็ก ผื่นเหล่านี้เกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของน้ำลายภายในปากทารก และน้ำลายเหล่านั้นไหลย้อยออกจากปาก มาเปรอะเปื้อนใบหน้า ทำให้เกิดเป็นอาการผื่น ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรคอยเช็ดน้ำลายให้ลูกเป็นประจำ

  • เจ็บเหงือก

เมื่อฟันของทารกค่อยๆ ดันเหงือกขึ้นมา ในบางครั้งก็อาจจะทำให้เหงือกเกิดอาการอักเสบ บวมแดง และมีอาการปวดได้ เด็กทารกจึงมักจะมีอาการงอแงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอาการปวดเหงือกเหล่านี้

  • เอามือจับแก้มบ่อย

หากคุณสังเกตเห็นว่าลูกน้อยเอามือจับแก้มอยู่บ่อยๆ อาจเกิดจากการที่เขารู้สึกรำคาญ และปวดจากอาการเจ็บเหงือกเนื่องจากฟันเพิ่งงอก นอกจากนี้ยังอาจมีอาการปวดบริเวณหูและกราม เนื่องจากการที่ฟันงอกขึ้นในช่วงบริเวณขากรรไกรอีกด้วย

  • เป็นไข้

อาการอักเสบของเหงือก และอาการปวดเหงือกเนื่องจากฟันขึ้น อาจทำให้เด็กมีอาการไข้ขึ้น ปวดหัว และตัวร้อนได้

พ่อกับแม่จะดูแลลูกที่เริ่มมีฟันขึ้นได้อย่างไร

นวดเหงือก เมื่อลูกเริ่มมีฟันขึ้นจนทำให้รู้สึกคันฟัน พ่อแม่สามารถนวดเหงือกให้ลูกเบาๆ เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดและอาการคันฟันได้ โดยล้างมือให้สะอาดก่อน หรือใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำ ค่อยๆ กดนวดวนเบาๆ ตามบริเวณเหงือกของลูก ควรระมัดระวังอย่าออกแรงมากเกินไป

หาของให้กัด คุณพ่อคุณแม่ควรหาของให้ลูกขบเคี้ยวเล่น เพื่อช่วยบรรเทาอาการคันฟันและคันเหงือก โดยควรเลือกเป็นของเล่นที่อ่อนนุ่ม และปลอดภัย ไร้สาร BPA นอกจากนี้ ของเคี้ยวเล่นเหล่านี้ ควรมีขนาดใหญ่พอ ที่จะทำให้เด็กไม่สามารถกลืนหรือลงไปติดคอของเด็กได้ เช่น จุกนมหลอก หรือยางกัด

ประคบเย็น ใช้ความเย็นมาประคบเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดเหงือกของลูก โดยอาจใช้ยางกัด จุกขวดนมแช่เย็น หรือผ้าสะอาดชุบน้ำเย็น มานวดประคบบริเวณเหงือกของลูก ระวังอย่าให้เย็นจัดจนเกินไป เพราะความเย็นอาจจะกัดปากลูก และทำให้เกิดแผลได้

ใช้ยาแก้ปวดสำหรับเด็ก หากลูกของคุณมีอาการปวดเหงือกมาก และไม่สามารถบรรเทาอาการได้จากการนวดหรือการประคบเย็น อาจลองใช้ยาแก้ปวดสำหรับเด็ก เช่น ยาลดไข้ แต่ควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น

เสริมฟลูออไรด์ เมื่อเด็กเริ่มมีฟันซี่แรกงอกขึ้น พ่อและแม่ควรเริ่มทำการเสริมฟลูออไรด์ เพื่อช่วยป้องกันฟันผุ และช่วยดูแลสุขภาพของฟันให้มีความแข็งแรง โดยการแปรงฟันลูกโดยใช้ยาสีฟันสำหรับเด็กที่เสริมฟลูออไรด์ วันละ 2 ครั้ง

นัดพบทันตแพทย์ เมื่อลูกเริ่มมีฟันขึ้น คุณแม่คุณแม่ควรพาลูกไปหาทันตแพทย์ เพื่อทำการตรวจและดูแลสุขภาพในช่องปากของลูกเป็นประจำ เพื่อให้แน่ใจว่าฟันของลูกจะมีสุขภาพดี และไม่เกิดปัญหาในช่องปากอื่นๆ

[embed-health-tool-vaccination-tool]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Baby’s First Tooth: 7 Facts Parents Should Know https://www.healthychildren.org/English/ages-stages/baby/teething-tooth-care/Pages/Babys-First-Tooth-Facts-Parents-Should-Know.aspx. Accessed January 9, 2020

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

01/02/2022

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ประโยชน์ของยาสีฟัน ที่มีดีมากกว่าการใช้แปรงฟัน

วิธีแปรงฟัน สำหรับเด็ก และประโยชน์ของการแปรงฟันเด็ก


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 01/02/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา