backup og meta

ลูกเลือกกิน กินยาก จะรับมือได้อย่างไรบ้าง

ลูกเลือกกิน กินยาก จะรับมือได้อย่างไรบ้าง

ลูกเลือกกิน หรือกินอาหารยาก เป็นหนึ่งปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนหนักใจ โดยเฉพาะเด็กอายุ 1-5 ปี ทั้งนี้ หากยอมให้ลูกกินแต่อาหารที่ชอบไปเรื่อย ๆ โดยไม่แก้ไข อาจก่อปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น ลูกน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์หรือเกินเกณฑ์ พัฒนาการล่าช้า ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่า ลูกเลือกกิน อาจขอคำแนะนำที่เหมาะสมจากคุณหมอเพื่อช่วยให้ลูกมีสุขภาพแข็งแรง มีพัฒนาการที่เหมาะสมและลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพ

[embed-health-tool-vaccination-tool]

ลูกเลือกกิน เพราะสาเหตุใด

ปัญหาเด็กกินยาก หรือเลือกกินมักเริ่มในช่วงอายุ 2-3 ปี ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจว่าที่ลูกเลือกกินนั้นเป็นเพราะอะไร โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากสาเหตุเหล่านี้

อาหารรสชาติไม่ถูกปาก

เด็กบางคนชอบกินอาหารหวาน ซึ่งเป็นเพราะสัญชาตญาณที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เนื่องจากอยู่ในวัยกำลังเจริญเติบโต ร่างกายจึงต้องการอาหารที่ให้พลังงานหรือแคลอรีสูง นอกจากนั้น เด็กบางคนยังมียีนที่ทำให้ไวต่อรสขม จึงไม่แปลกที่เด็กจะเลือกกิน ชอบกินแต่ขนมหรือกินอาหารบางอย่างยากเป็นพิเศษ

ลูกยังไม่หิว

พออายุครบ 2 ปีการเจริญเติบโตของเด็กจะค่อย ๆ ช้าลง พวกเขาจึงกินได้น้อยลง หรือบางวันก็ไม่อยากอาหาร และบางครั้งอาจกินขนมและเครื่องดื่มมากจนทำให้รู้สึกอิ่มและไม่อยากกินอาหารมื้อหลัก

ลูกมีปัญหาสุขภาพ

บางครั้งการที่ ลูกเลือกกินหรือกินยาก อาจมาจากปัญหาสุขภาพ หากลูกกระวนกระวาย หรืองอแงตลอดเมื่อถึงเวลากินอาหาร อาจเป็นเพราะเด็กเป็นภูมิแพ้อาหาร หรือมีความผิดปกติของระบบประมวลผลทางประสาทสัมผัส (Sensory Processing Disorder) เกิดจากสมองไม่สามารถประมวลข้อมูลที่ได้รับผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้ เด็กที่เป็นโรคนี้จึงมักไวต่อรส กลิ่น หรือเนื้อสัมผัสของอาหารบางชนิดเป็นพิเศษ

ลูกเลือกกิน สังเกตได้อย่างไรบ้าง

เด็กที่มีปัญหากินยาก หรือเลือกกินมักมีพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ได้แก่

  • ไม่ยอมกินอาหารที่มีสี รูปทรง หรือลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เช่น อาหารที่มีสีแดง อาหารแฉะ ๆ
  • เลือกกินแต่อาหารที่ตัวเองชอบ ไม่ยอมกินอาหารชนิดอื่น
  • บางครั้งเมื่ออยู่ที่โต๊ะอาหาร กลับสนใจทำอย่างอื่นมากกว่ากินอาหาร
  • ไม่ยอมลองกินอาหารใหม่ ๆ

เทคนิครับมือเมื่อลูกกินยาก

หากพบว่าลูกกินยาก คุณพ่อคุณแม่อาจลองปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

ลดเครื่องดื่มแคลอรีสูง

หากให้ลูกดื่มเครื่องดื่มที่มีแคลอรีสูง เช่น น้ำผลไม้ น้ำอัดลม มากเกินไป อาจทำให้รู้สึกอิ่มท้องจนไม่อยากกินอาหารมื้อหลัก คุณพ่อคุณแม่จึงควรจำกัดปริมาณเครื่องดื่มที่มีแคลอรีสูง โดยให้ดื่มน้ำผลไม้ได้ไม่เกินวันละ 120 มิลลิลิตร ส่วนน้ำอัดลม ไม่ควรให้ลูกกินเลยจะดีที่สุด เพราะแคลอรีและน้ำตาลสูง ที่สำคัญ มีคาเฟอีนและสารเคมีที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย

กำจัดสิ่งเบี่ยงเบนความสนใจ

เด็ก ๆ มักจะห่วงเล่นมากกว่าห่วงกิน ฉะนั้น เมื่อถึงเวลากินข้าว คุณพ่อคุณแม่ควรปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด ทั้งโทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ เพื่อให้ลูกและทุกคนในครอบครัวได้ตั้งใจและสนใจกินอาหารพร้อมกัน รวมถึงการจัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศให้เหมาะสมแก่การรับประทานอาหารด้วย ไม่ปล่อยให้บริเวณโต๊ะอาหารมืดเกินไป

กำหนดเวลามื้ออาหารให้แน่นอน

ควรฝึกให้ลูกกินอาหารเป็นเวลา โดยกำหนดเวลาอาหารมื้อหลักและอาหารว่างให้แน่ชัด และไม่ควรให้ลูกกินอาหารหรือขนมระหว่างมื้อ อย่างไรก็ตาม หากถึงเวลาอาหารแล้วลูกไม่ยอมกิน ควรให้เขานั่งร่วมโต๊ะอาหารด้วย เพื่อให้รู้ว่าตอนนี้คือเวลาที่ควรกินอาหาร

ไม่ให้ลูกกินอาหารจานสะดวก

บางครั้งเมื่อลูกไม่ยอมกินอาหารที่เตรียมไว้ให้ คุณพ่อคุณแม่อาจให้ลูกกินขนมหรืออาหารง่าย ๆ เช่น ขนมปัง ลูกชิ้นทอด ขนมขบเคี้ยว เพราะไม่อยากให้ลูกต้องทนหิว นอกจากนั้น เด็กส่วนใหญ่ยังชอบกินอาหารประเภทดังกล่าว แต่หากยปล่อยให้ลูกกินอาหารเหล่านี้จนติดเป็นนิสัย อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ ทั้งฟันผุ โรคอ้วน  ดังนั้น หากลูกไม่ยอมกินอาหาร ควรให้เขารอจนกว่าจะถึงมื้อต่อไป หรือถ้าลูกหิวจนรอไม่ไหว ก็ให้กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผลไม้ นม

ลูกเลือกกินอย่าเพิ่งท้อ เพราะอาจต้องลองถึง 11 ครั้ง

การที่เด็กไม่ยอมรับสิ่งใหม่ง่าย ๆ ถือเป็นเรื่องธรรมชาติ บางครั้งเด็ก ๆ อาจต้องลองกินอาหารชนิดเดิมถึง 11 ครั้ง จึงจะรู้ตัวว่าชอบกินอาหารชนิดนั้นหรือไม่ ฉะนั้น หากลูกไม่ยอมกินอาหารที่เตรียมไว้ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรบังคับ ลองให้เขาได้หยิบจับ หรือเล่นกับอาหารนั้น ๆ เพื่อทำความคุ้นเคยกับเนื้อสัมผัสก่อน แล้วค่อย ๆ ให้ลองชิมดู

ให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการทำอาหาร

ลองให้เด็ก ๆ ได้มีส่วนช่วยในการทำอาหารแต่ละมื้อ ตั้งแต่การคิดเมนู การเลือกซื้อวัตถุดิบ โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยแนะนำและอธิบายถึงประโยชน์ของวัตถุดิบแต่ละชนิด เมื่อถึงเวลาทำอาหาร อาจให้ลูกช่วยงานครัวที่เหมาะสมกับช่วงวัย เช่น ล้างผักผลไม้ ชั่งตวงวัตถุดิบ คนส่วนผสม จัดโต๊ะอาหาร ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เด็กภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมและรู้สึกอยากกินอาหารฝีมือตัวเอง

อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตและหาสาเหตุที่ทำให้ลูกเลือกกิน หากพบว่า ลูกเลือกกินเพราะมีปัญหาในการเคี้ยวอาหาร กลืนอาหาร หรือแสดงอาการวิตกกังวลรุนแรงเมื่อต้องลองกินอาหารใหม่ ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรรีบปรึกษาคุณหมอ เพราะปัญหาเหล่านี้อาจทำให้ลูกได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ จนส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

How to End the Picky Eating Struggle. https://www.webmd.com/parenting/guide/picky-eater-kids#1. Accessed October 27, 2022.

Picky Eaters. https://www.ucsfbenioffchildrens.org/education/picky_eaters/. Accessed October 27, 2022.

10 Tips for Parents of Picky Eaters. https://www.healthychildren.org/English/ages-stages/toddler/nutrition/Pages/Picky-Eaters.aspx. Accessed October 27, 2022.

How To Deal With a Picky Eater Toddler. https://health.clevelandclinic.org/how-to-overcome-your-childs-picky-eating-habits/. Accessed October 27, 2022.

Study gives insight — and advice — on picky eating in children. https://www.health.harvard.edu/blog/study-gives-insight-and-advice-on-picky-eating-in-children-2020060920004. Accessed October 27, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/10/2022

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

เลือกกิน กินยาก เด็กเป็นแบบนี้เพราะสื่อโฆษณาหรือเปล่า

นมกล่อง เด็กจะเริ่มกินได้เมื่อไหร่ และวิธีฝึกให้เด็กกินนมกล่อง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 27/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา