backup og meta

อันตรายจากปัญหา ลูกไม่นอน และวิธีการแก้ไข

อันตรายจากปัญหา ลูกไม่นอน และวิธีการแก้ไข

ลูกไม่นอน เป็นปัญหาหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจต้องพบเจอ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านพัฒนาการและการเจริญเติบโต ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาทางอารมณ์และการเข้าสังคมอีกด้วย คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้เด็กพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อพัฒนาการทางด้านต่างๆของร่างกายและจิตใจ จะได้มีความพร้อมสมบูรณ์

[embed-health-tool-vaccination-tool]

ลูกควรนอนวันละเท่าไหร่

ทารกวัยแรกเกิด (อายุต่ำกว่า 6 เดือน)

นาฬิกาชีวิตของทารกวัยแรกเกิดยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ทารกที่อายุต่ำกว่า 6 เดือน จะนอนเป็นเวลา 18 ชั่วโมงต่อวัน โดยแบ่งเป็นตอนกลางคืนและตอนกลางวันเท่ากัน

ในช่วงสองสามสัปดาห์แรก ทารกแรกเกิดควรตื่นทุกๆ 3-4 ชั่วโมงจนกระทั่งพวกเขามีน้ำหนักตัวปกติ หลังจากนั้นทารกวัยแรกเกิดจะสามารถนอนติดต่อกันเป็นเวลานานขึ้นได้ และสำหรับทารกวัย 3 เดือน โดยเฉลี่ยจะนอนหลับ 14 ชั่วโมง ซึ่งใช้เวลานอน 8-9 ชั่วโมงต่อวัน และจะงีบหลับระหว่างวัน 2-3 ครั้ง

ทารกวัย 6-12 เดือน

ทารกวัยนี้ต้องการนอนโดยเฉลี่ย 14 ชั่วโมงต่อวัน และงีบหลับระหว่างวัน 2-3 ครั้งๆ ละ 30 นาทีถึง 2 ชั่วโมง เด็กในวัยนี้ส่วนใหญ่จะเริ่มไม่ตื่นมากินนมกลางคืน หรือหากตื่นขึ้นมากลางดึก ก็ไม่จำเป็นต้องป้อนนมแล้ว

วัยเตาะแตะ

ในวัย 1-3 ปี เด็กส่วนใหญ่จะนอนหลับประมาณ 12-14 ชั่วโมง แต่เด็กในวัยนี้อาจเกิดอาการที่เรียกว่า “ความกลัวในการถูกพรากจากพ่อแม่” ทำให้เด็กอยากอยู่กับพ่อแม่ตลอดเวลา และแสดงออกด้วยการไม่ยอมเข้านอน แต่พ่อแม่จำเป็นต้องกำหนดเวลาการเข้านอนที่แน่นอน และพยายามให้ลูกนอนตามเวลา

พ่อแม่บางคนมักเข้าใจผิดว่า การทำให้เด็กตื่นอยู่นานๆ จะทำให้เด็กง่วงนอนและหลับง่ายขึ้น แต่จริงๆ แล้ว ยิ่งเด็กเหนื่อยเท่าไหร่ ก็จะยิ่งนอนหลับยากขึ้นเท่านั้น และมักจะแสดงออกด้วยการร้องไห้งอแง เด็กวัยนี้ยังต้องการนอนกลางวันประมาณ 1-3 ชั่วโมง แต่ไม่จำเป็นต้องบังคับให้ลูกนอนกลางวัน แค่ให้ลูกอยู่ในที่สงบเงียบสักช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้ลูกได้พักผ่อน โดยที่อาจไม่จำเป็นต้องหลับก็ได้

วัยก่อนเข้าเรียน

เด็กๆ วัยก่อนเข้าโรงเรียนจะนอนหลับ 11-12 ชั่วโมงในตอนกลางคืน และสำหรับเด็กๆ ที่นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอในตอนกลางคืน อาจไม่ต้องการงีบหลับในตอนกลางวัน แต่ก็ควรให้เด็กได้มีเวลาพักผ่อนเงียบๆ สักพักในตอนกลางวัน และเด็กที่ไม่นอนกลางวันก็มักจะเข้านอนเร็วขึ้นด้วย

เด็กวัยเรียนถึงก่อนวัยรุ่น

เด็กวัยเรียนควรนอนหลับในตอนกลางคืน 10-11 ชั่วโมง และปัญหาการนอนหลับมักจะเริ่มต้นในวัยนี้ เนื่องจากมีเหตุผลหลายอย่าง เช่น การบ้าน การออกกำลังกาย กิจกรรมหลังเลิกเรียน คอมพิวเตอร์ ทีวี โทรศัพท์ และกิจกรรมของครอบครัว ซึ่งเหตุผลเหล่านี้สามารถทำให้เด็กๆ นอนหลับไม่เพียงพอได้

วัยรุ่น

วัยรุ่นจำเป็นต้องนอนหลับเป็นเวลา 9 ชั่วโมงต่อวัน แต่วัยรุ่นส่วนใหญ่นอนหลับไม่เพียงพอ เนื่องจากมีเหตุผลหลายประการ เช่น การทำการบ้าน คุยกับเพื่อน ติดโทรศัพท์มือถือ หรือทำกิจกรรมหลายอย่าง ที่อาจทำให้นอนหลับไม่เพียงพอเป็นประจำ จนเป็นนิสัย

ลูกไม่นอน อันตรายอย่างไร

1. ส่งผลต่อการทำงานของสมอง

งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Academic Pediatrics พบว่า เด็กๆ ในวัยก่อนเข้าโรงเรียนที่นอนไม่พอ อาจมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาในการมีสมาธิ ควบคุมอารมณ์ และการประมวลผลข้อมูลในวัยที่โตขึ้น ซึ่งโดยปกติแล้วเด็กวัย 3-4 ปีควรนอนหลับ 11 ชั่วโมงต่อวัน

แต่หากนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพออาจส่งผลต่อการทำงานของสมองได้ เนื่องจากงานวิจัยพบว่า การนอนไม่พอ อาจส่งผลกระทบต่อสมองส่วนที่ใช้ในการคิดและการควบคุมอารมณ์

2. เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น

การนอนไม่พอส่งผลให้การเคลื่อนไหวร่างกายของเด็กแย่ลง นพ.คารล์ ฮันท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคนอนหลับผิดปกติ แห่งสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ข้อมูลว่า การบาดเจ็บเนื่องจากการปั่นจักรยาน หรืออุบัติเหตุในสนามเด็กเล่น มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กๆ นอนไม่พอ

หากเด็กๆ ยังคงมีนิสัยการนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพ ก็จะยิ่งเสี่ยงเกิดอุบัติมากขึ้นเรื่อยๆ และอาจส่งผลกระทบไปจนกระทั่งตอนเป็นวัยรุ่นด้วย

3. ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก

โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) เป็นฮอร์โมนที่ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตในวัยเด็ก โดยระดับโกรทฮอร์โมนที่สูงที่สุดจะหลั่งออกมาในกระแสเลือดในช่วงหลับลึก ดังนั้น การนอนไม่พอจึงอาจทำให้ร่างกายการหลั่งของโกรทฮอร์โมนลดลง ซึ่งอาจส่งผลต่อความสูงและการเจริญเติบโตของเด็กได้

4. ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน

การนอนไม่พออาจส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน เพราะในระหว่างที่นอนหลับ ร่างกายจะหลั่งสารอินเตอร์ลิวคิน-1 (interleukin-1) ซึ่งเป็นสารประกอบที่กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันออกมา และการนอนไม่พอติดต่อกันหลายคืน สามารถรบกวนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของเด็กๆ ได้

5. อาจส่งผลต่อการฉีดวัคซีน

งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Journal of American Medical Association เมื่อปี 2002 รายงานว่า การนอนไม่พอสามารถจำกัดประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในเด็ก

6. เพิ่มความเสี่ยงโรคอ้วนและโรคเบาหวาน

การนอนไม่พอมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคอ้วนและโรคเบาหวาน โดยทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยชิคาโกรายงานว่า การนอนหลับไม่เพียงพอทำให้ระดับฮอร์โมนที่ควบคุมความหิว และกระตุ้นความอยากอาหารเปลี่ยนแปลง รวมถึงกระตุ้นให้เราเลือกกินอาหารที่มีแคลอรี่และคาร์โบไฮเดรตสูง

ดังนั้น การนอนหลับไม่เพียงพอในเด็ก อาจเป็นเหตุให้เด็กๆ กินอาหารที่ไม่มีประโยชน์มากเกินไป เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวาน

วิธีแก้ไขปัญหา ลูกไม่นอน

คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยให้ลูกนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอได้ ด้วยวิธีการเหล่านี้

  • ให้ลูกเข้านอนตรงเวลาจนเป็นนิสัย ซึ่งกิจวัตรประจำวันง่ายๆ คือ การอาบน้ำ อ่านหนังสือ และเข้านอน โดยควรทำให้เป็นกิจวัตรในทุกๆ วันรวมถึงช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ด้วย
  • สร้างบรรยากาศให้เหมาะกับการนอนหลับ ห้องนอนควรมืดสนิท อากาศเย็นสบาย และเงียบสงบ จะช่วยให้ลูกๆ หลับได้เร็วขึ้น
  • คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรให้เด็กๆ ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือน้ำตาลสูงในช่วงบ่าย เพราะอาจส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Poor Sleep as Preschooler, Behavior Issues Later?. https://www.webmd.com/children/news/20170314/poor-sleep-in-preschool-years-could-mean-behavior-troubles-later#1. Accessed on October 23, 2018.

All About Sleep. https://kidshealth.org/en/parents/sleep.html. Accessed on October 23, 2018.

If Your Child Has Problems, It May Due to Lack of Sleep. https://psychcentral.com/lib/if-your-child-has-problems-it-may-due-to-lack-of-sleep/. Accessed on October 23, 2018.

เวอร์ชันปัจจุบัน

01/12/2022

เขียนโดย Sopista Kongchon

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

อีสุกอีใส ใน เด็ก มีวิธีการดูแลอย่างไรบ้าง

ลูกท้องผูก อาการ สาเหตุ วิธีบรรเทาอาการ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 01/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา