backup og meta

พัฒนาการเด็ก คืออะไร คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมพัฒนาการอย่างไร

พัฒนาการเด็ก คืออะไร คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมพัฒนาการอย่างไร

พัฒนาการเด็ก เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม โดยจะเริ่มตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งการส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้เหมาะสมตามช่วงวัยมีความสำคัญอย่างมากต่อการเจริญเติบโตของเด็กในทุก ๆ ด้าน รวมถึงอาจช่วยให้เด็กสามารถเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ และสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม ดังนั้น การเข้าใจถึงพัฒนาการเด็กจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของเด็กได้อย่างเหมาะสม

[embed-health-tool-vaccination-tool]

พัฒนาการเด็ก คืออะไร

พัฒนาการเด็ก คือ การเปลี่ยนแปลงของเด็กทั้งทางร่างกาย ภาษา ความคิด และอารมณ์ โดยจะเริ่มตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งในกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนและการส่งเสริมทักษะในด้านต่าง ๆ จากคุณพ่อคุณแม่ บุคคลรอบข้าง และสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อช่วยให้เด็กได้เรียนรู้และมีพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเหมาะสมตามวัย

คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมพัฒนาการเด็กอย่างไร

คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้ครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีในทุกช่วงวัยอย่างเหมาะสม โดยพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ที่ควรส่งเสริมให้แก่เด็ก มีดังนี้

  • พัฒนาการในด้านความรู้ความเข้าใจ ส่งเสริมการเรียนรู้ และการแก้ปัญหา
  • พัฒนาการในด้านคำพูดและภาษา ส่งเสริมการใช้ภาษา การอ่าน และการสื่อสาร
  • พัฒนาการในด้านทักษะทางกายภาพ ส่งเสริมทักษะทางร่างกายทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็กและกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น ขยับนิ้ว หยิบจับสิ่งของ เดิน วิ่ง คลาน
  • พัฒนาการในด้านการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการควบคุมอารมณ์ ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและควบคุมอารมณ์ของตนเอง
  • พัฒนาการในด้านการรับรู้ทางประสาทสัมผัส ส่งเสริมประสาทสัมผัสและการรับรู้สิ่งต่าง ๆ เช่น การแยกแยะพื้นผิวขรุขระและเรียบ การแยกแยะของนิ่มและของแข็ง

สำหรับวิธีที่คุณพ่อคุณแม่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กในแต่ละด้านอาจทำได้ ดังนี้

  • การเล่น

เป็นวิธีที่อาจช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในทุกด้าน ทั้งด้านการเรียนรู้ การพูด การใช้ภาษา การเข้าสังคม การควบคุมอารมณ์ ทักษะทางกาย และการฝึกประสาทสัมผัส โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกของเล่นให้เหมาะสมตามช่วงอายุของเด็ก หรือเลือกของเล่นเพื่อเน้นฝึกทักษะในด้านนั้น ๆ เช่น สมุดวาดรูปเพื่อฝึกทักษะการวาดรูประบายสี เกมปริศนาเพื่อฝึกทักษะความคิดและการแก้ปัญหา

นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถร่วมเล่นกับเด็กเพื่อฝึกทักษะการสื่อสาร การใช้ภาษา การเข้าสังคม และการควบคุมอารมณ์ เพื่อให้เด็กได้ฝึกพูด เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ จากคุณพ่อคุณแม่ และเรียนรู้การแบ่งปันของเล่น ซึ่งจะช่วยให้เด็กเรียนรู้การควบคุมพฤติกรรมและอารมณ์ได้

  • การอ่าน

การอ่านอาจช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางสมองของเด็ก โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มอ่านหนังสือนิทานสั้น ๆ ให้เด็กฟัง เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้และจดจำภาษา คำศัพท์ใหม่ ๆ จากการฟังหนังสือเล่มเดิมซ้ำ ๆ และเมื่อเด็กเริ่มอ่านหนังสือได้อาจเลือกหนังสือที่มีจำนวนคำมากขึ้น เพื่อช่วยให้เด็กได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ การอ่านหนังสือร่วมกันกับเด็กอาจช่วยเพิ่มความรักความผูกพันภายในครอบครัวได้อีกด้วย

  • การให้ความรัก ความอบอุ่น และความสบายใจ

เด็กอาจมีความวิตกกังวล กดดัน เครียด และเศร้าเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การขัดแย้งภายในครอบครัว การอบรมเลี้ยงดู ความคาดหวังจากพ่อแม่ การเรียน ดังนั้น การให้ความรัก ความอบอุ่น และความสบายใจภายในครอบครัวอาจช่วยผ่อนคลายความเครียดภายในจิตใจของเด็ก ซึ่งจะส่งผลดีต่อทักษะด้านอารมณ์ และการจัดการความรู้สึกของเด็ก

ปัญหาที่ส่งผลต่อพัฒนาการเด็ก มีอะไรบ้าง

ปัญหาที่ส่งผลต่อพัฒนาการเด็กอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอก ดังนี้

  • ปัญหาที่เกิดจากปัจจัยภายใน

เป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นตั้งแต่กำเนิด ซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ เช่น พันธุกรรม ฮอร์โมน เพศ ลักษณะรูปร่าง พื้นฐานอารมณ์ สภาวะสุขภาพร่างกาย ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจกระทบต่อสภาพจิตใจและคุณภาพชีวิตของเด็ก ที่อาจทำให้เกิดปัญหาต่อพัฒนาการของเด็กในหลายด้าน เช่น ภาวะสุขภาพเรื้อรังที่อาจทำให้เด็กไม่สามารถเรียนได้อย่างเต็มที่ จนทำให้พัฒนาการทางการเรียนรู้ช้ากว่าเพื่อนคนอื่น ๆ หรือเด็กที่มีลักษณะของรูปร่าง สีผิว หรือใบหน้าที่ผิดปกติ อาจทำให้เกิดปัญหาการถูกกลั่นแกล้ง ซึ่งกระทบต่อจิตใจที่อาจส่งผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์ สังคมและปัญหาสุขภาพจิต

  • ปัญหาที่เกิดจากปัจจัยภายนอก

เป็นปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นรอบตัวเด็ก อาจหล่อหลอมพฤติกรรม นิสัย หรือพัฒนาการของเด็ก ซึ่งเป็นปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ เช่น บุคลิกภาพของคุณพ่อคุณแม่ สภาพครอบครัว การอบรมเลี้ยงดู ทัศนคติของคุณพ่อคุณแม่ ค่านิยมของคุณพ่อคุณแม่ ฐานะทางบ้าน โอกาสทางการศึกษา สภาพเพื่อนบ้าน สภาพสังคม ศาสนา และวัฒนธรรม ปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยแวดล้อมที่สามารถทำให้เกิดปัญหาพัฒนาการเด็กได้อย่างมาก เช่น หากเด็กเติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะทางบ้านที่ดี มีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ ได้อยู่ในสถานศึกษาที่มีสื่อการเรียนรู้ที่ดี อาจส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการทั้งทางปัญญา อารมณ์และสังคมดีตามไปด้วย แต่ในทางกลับกัน หากเด็กเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีฐานะทางบ้านไม่ดี อาจทำให้เด็กได้รับโอกาสในการศึกษาน้อย ใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว หรืออยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยอบายมุข อาจทำให้เด็กมีพัฒนาการทางปัญญา อารมณ์และสังคมน้อยตามไปด้วยเช่นกัน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What is Child Development?. https://childdevelopment.com.au/areas-of-concern/what-is-child-development/#:~:text=Child%20development%20refers%20to%20the,parents%2Fguardians%20to%20increasing%20independence. Accessed September 11, 2022

How to Encourage a Child’s Brain Development. https://helpmegrowmn.org/HMG/HelpfulRes/Articles/HowEncourageBrainDev/index.html. Accessed September 11, 2022

Promoting healthy growth and development. https://www.who.int/activities/promoting-healthy-growth-and-development. Accessed September 11, 2022

Healthy Development. https://www.cdc.gov/ncbddd/childdevelopment/facts.html. Accessed September 11, 2022

Child development: the first five years. https://raisingchildren.net.au/newborns/development/understanding-development/development-first-five-years. Accessed September 11, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

29/10/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ของเล่นเสริมพัฒนาการเด็ก 2 ขวบ เลือกอย่างไรให้ปลอดภัยต่อเด็ก

นิทาน เด็ก เสริมสร้างพัฒนาการเด็กอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 29/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา