backup og meta

SSSS หรือ โรค 4S คืออะไร สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

SSSS หรือ โรค 4S คืออะไร สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

โรค 4S หรือ SSSS (Staphylococcal Scalded Skin Syndrome) คือ โรคติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟฟิลโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcal Aureas) ที่ผิวหนังอย่างรุนแรง ส่วนใหญ่พบในเด็กทารกและเด็กเล็ก แต่ก็อาจพบในผู้ใหญ่ที่มีภูมิต้านทานต่ำได้เช่นกัน อาการเริ่มต้นอาจพบว่าเด็กร้องไห้งอแง อ่อนเพลีย และมีไข้ ตามมาด้วยมีผื่นแดง จากนั้นไม่กี่วัน ผื่นแดงจะกลายเป็นตุ่มน้ำและที่หลุดลอกออกเป็นแผ่น ๆ เห็นผิวด้านล่างเป็นสีแดง อาจรุนแรงจนเกิดอาการช็อกได้ หากพบว่าเด็กมีอาการผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของโรค 4s ดังที่กล่าวไปข้างต้น หรือมีอาการผิดปกติทางผิวหนังอื่น ๆ ควรรีบพาไปพบคุณหมอโดยเร็ว เพราะหากทิ้งไว้ไม่รักษา อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

[embed-health-tool-vaccination-tool]

SSSS คืออะไร

โรค 4S หรือ SSSS (Staphylococcal scalded skin syndrome) คือ โรคติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟฟิลโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcal aureas) ที่ผิวหนังอย่างรุนแรง มักพบในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี โดยเฉพาะเด็กทารก สแตฟฟิลโลคอคคัส ออเรียส เป็นเชื้อแบคทีเรียก่อโรคบนผิวหนังและเนื้อเยื่อ เมื่อแบคทีเรียชนิดนี้ปล่อยสารพิษเข้าสู่กระแสเลือด จะทำให้ผิวหนังเสียหาย มีตุ่มแดง ที่กลายเป็นตุ่มน้ำ และหลุดลอกเป็นแผ่นหรือเป็นขุยขนาดใหญ่ เห็นผิวด้านล่างเป็นสีแดงคล้ายกับถูกไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน

ปัจจัยเสี่ยงโรค 4S อาจมีดังนี้

  • มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โดยเฉพาะเด็กแรกเกิดที่แอนตีบอดียังไม่แข็งแรงพอจะต่อต้านเชื้อโรคหรือแบคทีเรียได้ และไตที่ทำหน้าที่กำจัดสารพิษยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรค 4s
  • มีภาวะไตเรื้อรังหรือไตวาย ผู้ใหญ่ที่มีปัญสุขภาพไต ไตทำงานผิดปกติ ก็อาจเสี่ยงเป็นโรค SSSS ได้

สัญญาณและอาการของโรค SSSS

สัญญาณและอาการของโรค SSSS หรือ 4S อาจมีดังต่อไปนี้

  • มีไข้
  • ร้องไห้งอแงมากกว่าปกติ
  • เกิดผื่นแดงเหมือนรอยย่นคล้ายกระดาษทิชชู่ที่ทำให้รู้สึกเจ็บบริเวณรอบปาก เยื่อบุจมูก ตา
  • เมื่อผ่านไปสักพักผื่นแดงจะกระจายไปทั่วร่างกาย รวมถึงแขน ขา และลำตัว ในทารกแรกเกิด มักพบรอยโรคที่ผิวหนังบริเวณใต้ผ้าอ้อมหรือสายสะดือ
  • ภายใน 24-48 ชั่วโมงจะเกิดตุ่มน้ำ โดยเฉพาะบริเวณข้อพับ เช่น รักแร้ ขาหนีบ
  • ตุ่มน้ำจะหลุดลอกเป็นแผ่นใหญ่ ๆ เห็นผิวชั้นล่างเป็นสีแดงหรือชมพูคล้ายโดนน้ำร้อนลวก

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที มีดังนี้

  • สูญเสียของเหลวในร่างกายจนทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ และอาจเกิดอาการช็อกได้
  • ติดเชื้อรุนแรงและลุกลาม
  • เกิดรอยแผลเป็นบนผิวหนัง
  • เสียชีวิต

การวินิจฉัยและการรักษา

การวินิจฉัย

คุณหมออาจวินิจฉัยโรคนี้ด้วยการสอบถามอาการ ประวัติสุขภาพของเด็ก ตรวจร่างกายโดยละเอียด และอาจมีการทดสอบบางอย่าง ดังต่อไปนี้

  • การตรวจชิ้นเนื้อ คุณหมออาจส่งเนื้อเยื่อผิวหนังไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค
  • ตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย คุณหมออาจตรวจหาเชื้อแบคทีเรียสแตฟฟิลโลคอคคัส ออเรียสในเลือด ปัสสาวะ จมูก คอ และผิวหนัง ในเด็กแรกเกิดอาจตรวจหาเชื้อบริเวณสายสะดือ

การรักษา

วิธีการรักษาโรค 4s อาจทำได้ดังนี้

  • ให้ยาปฏิชีวนะแบบรับประทานหรือให้ยาทางหลอดเลือดดำ เพื่อลดการติดเชื้อ
  • รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล เพื่อบรรเทาอาการบริเวณผิวหนังภายนอกและลดไข้
  • ดูแลแผลให้สะอาด เช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำเกลืออย่างเบามือ
  • ทายาเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง
  • ดูแลไม่ให้ผู้ป่วยมีอาการขาดน้ำ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการขาดน้ำเนื่องจากตุ่มน้ำที่ผิวหนังแตกและมีของเหลวไหลซึมออกมา จึงอาจให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำสำหรับผู้ป่วยบางราย
  • ในกรณีรุนแรง อาจต้องให้อาหารทางสายยางทางปาก

วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรค

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรค 4S อาจทำได้ดังนี้

  • ล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด จากนั้นเช็ดมือให้แห้งทุกครั้งก่อนสัมผัสตัวเด็ก
  • รักษาแผล หรือผื่นที่ผิวหนังของเด็กให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อลดการติดเชื้อ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดผม ผ้าขนหนู ร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ติดเชื้อสแตฟฟิลโลคอคคัส ออเรียส
  • หากเด็กมีไข้ขึ้น ผิวหนังบวมแดง ควรพาไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What Is Scalded Skin Syndrome? https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/what-is-scalded-skin-syndrome. Accessed August 16, 2022

Staphylococcal Scalded Skin Syndrome. https://rarediseases.org/rare-diseases/staphylococcal-scalded-skin-syndrome/. Accessed August 16, 2022

Staphylococcal Scalded Skin Syndrome. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK448135/. Accessed August 16, 2022

Staphylococcal Scalded Skin Syndrome https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/staphylococcal-scalded-skin-syndrome. Accessed August 16, 2022

Staphylococcal scalded skin syndrome. https://dermnetnz.org/topics/staphylococcal-scalded-skin-syndrome. Accessed August 16, 2022

โรค 4S หรือ Staphylococcal scalded skin syndrome (SSSS). https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1359. Accessed August 16, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

25/09/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

การติด เชื้อราในเด็ก วิธีสังเกตและการรักษา

เด็ก งอแง สาเหตุและการดูแล


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 25/09/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา