backup og meta

ไข้แดด เด็ก อาการ สาเหตุ และการรักษา

ไข้แดด เด็ก อาการ สาเหตุ และการรักษา

อาการของ ไข้แดด เด็ก มักเกิดขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด มีแดดจัด หรืออุณภูมิที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ซึ่งอาการของไข้แดดอาจเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่อาจพบได้บ่อยในเด็ก เนื่องจาก สภาพร่างกายของเด็กยังไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ทำให้ร่างกายสะสมความร้อนไว้ในร่างกาย ส่งผลให้อวัยวะภายในร้อนตาม จนอาจทำให้เด็กมีอาการไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว ตัวร้อน อ่อนเพลีย ปวดหัว กระหายน้ำ เหงื่อออกมากและผิวแดง

[embed-health-tool-vaccination-tool]

คำจำกัดความ

อาการของ ไข้แดด เด็ก คืออะไร

อาการของ ไข้แดด เด็ก คือ อาการไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว ตัวร้อน อ่อนเพลีย ปวดหัว กระหายน้ำ เหงื่อออกมากและผิวแดง ซึ่งเป็นอาการที่มักเกิดขึ้นในเด็ก เนื่องจาก ระบบประสาทส่วนกลางซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ จนอาจทำให้เด็กมีอาการไข้แดดได้ง่ายเมื่ออยู่ในสภาพอากาศร้อน มีแดดจัดหรืออยู่ในพื้นที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก นอกจากนี้ เด็กเป็นช่วงวัยที่ต้องการออกไปเรียนรู้ เล่นสนุก และใช้พละกำลังในการขยับร่างกายมาก จึงอาจทำให้อุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะหากต้องเล่นอยู่ในสภาพอากาศร้อนจัด มีแดดจัด ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการของไข้แดดได้เช่นกัน

อาการ

อาการของไข้แดด

อาการของไข้แดดมักเกิดจากการสัมผัสกับความร้อนหรือแสงแดดจัดเป็นเวลานาน จนทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและขาดน้ำ โดยอาการที่พบได้บ่อย อาจมีดังนี้

  • รู้สึกกระหายน้ำมากขึ้น
  • คลื่นไส้หรืออาเจียน อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ เป็นลม
  • ปวดหัว หงุดหงิด
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • ผิวแดง ผิวอบอุ่นขึ้น และแห้ง
  • เหงื่อออกมากจนผิวชื้น
  • อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น แต่ไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส

หากเด็กมีอาการของไข้แดดที่รุนแรงหรืออาจมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบพบคุณหมอทันที

  • คลื่นไส้และอาเจียนจนไม่สามารถดื่มน้ำได้
  • อาการขาดน้ำ เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปัสสาวะสีเข้ม ปากแห้ง
  • หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว ไม่มีเหงื่อออก ชัก หมดสติ
  • กล้ามเนื้อเป็นตะคริวนานกว่า 4 ชั่วโมง
  • มีไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส
  • วิงเวียนศีรษะนานกว่า 2 ชั่วโมง หลังจากดื่มน้ำเพิ่มขึ้นแล้ว

สาเหตุ

สาเหตุของอาการของ ไข้แดด เด็ก

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการของไข้แดดในเด็ก มักเกิดขึ้นจากการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแดดจัด อุณหภูมิสูง อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงบ่อย หรืออากาศถ่ายเทไม่ดี ส่วนใหญ่อาจเกิดขึ้นในผู้ที่มีระบบประสาทส่วนกลางทำงานไม่สมบูรณ์ ทำให้ไม่สามารถจัดการกับการเปลี่ยนของอุณหภูมิร่างกายได้อย่างเหมาะสม ซึ่งระบบประสาทส่วนกลางของเด็กอาจยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ จึงทำให้เกิดอาการของไข้แดดได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเด็กอยู่ในพื้นที่ร้อนหรือมีแดดจัดเป็นเวลานาน และต้องทำกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงานมากและขยับร่างกายอย่างหนัก เช่น วิ่งเล่น ออกกำลังกาย กระโดด อาจส่งผลให้อุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจเกิดเป็นไข้แดดได้

นอกจากนี้ กิจวัตรประจำวันบางอย่างที่อาจทำให้เด็กมีอาการของไข้แดดได้ง่ายขึ้น เช่น การดื่มน้ำน้อย การสวมใส่เสื้อผ้าไม่เหมาะกับสภาพอากาศ อาจทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น เนื่องจาก เหงื่อและความร้อนภายในร่างกายไม่สามารถระบายออกมาได้อย่างสะดวก และร่างกายอาจสูญเสียเหงื่อมากจนมีภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการของไข้แดดได้เช่นกัน

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของอาการไข้แดด

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอาการของไข้แดดในเด็ก อาจมีดังนี้

  • ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิของอากาศภายนอกที่ร้อนขึ้น ความชื้นในอากาศสูงขึ้น การอยู่กลางแจ้งที่ได้รับรังสีความร้อน อยู่ในที่ที่มีการระบายอากาศไม่ดีหรือลมพัดผ่านน้อย
  • เด็กที่มีร่างกายอ่อนแอ หรืออายุต่ำกว่า 5 ปี
  • เด็กที่ออกไปสัมผัสกับอากาศร้อนอย่างกะทันหัน เช่น เดินเข้าออกในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน พักผ่อนไม่เพียงพอ ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคปอด
  • ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น นักกีฬา เกษตรกร

ภาวะแทรกซ้อนจากอาการของไข้แดด

ภาวะแทรกซ้อนจากอาการของไข้แดด อาจมีดังนี้

  • อวัยวะสำคัญในร่างกายเสียหาย อาจเกิดขึ้นได้หากอุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นมากและไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม อาจทำให้สมองหรืออวัยวะสำคัญอื่น ๆ เช่น ตับ ไต กระเพาะอาหาร ระบบย่อยอาหาร บวม และอาจเสียหายถาวรได้
  • เสียชีวิต อุณภูมิในร่างกายที่สูงขึ้นอาจทำให้อวัยวะภายในเสียหาย และหากไม่ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลทันทีอาจทำให้เสียชีวิตได้

การวินิจฉัยและการรักษา

การวินิจฉัยอาการของไข้แดด

เด็กที่มีอาการของไข้แดดอย่างรุนแรงจนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล คุณหมออาจทำการวินิจฉัยอาการเบื้องต้น ดังนี้

  • ตรวจอุณหภูมิร่างกาย จากหน้าผาก ในปากหรือทวารหนัก
  • ตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจการทำงานของไตที่อาจได้รับผลกระทบจากไข้แดด โดยจะตรวจดูสีของปัสสาวะหากมีสีเข้มมากแสดงว่าร่างกายมีภาวะขาดน้ำมาก ต้องได้รับการรักษา
  • ตรวจเลือด เพื่อดูความเสียหายของระบบประสาทส่วนกลาง โดยการตรวจหาโซเดียม โพแทสเซียมและปริมาณก๊าซในเลือด
  • ตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อ เพื่อทดสอบความเสียหายของเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ
  • เอกซเรย์และทดสอบอื่น ๆ ตามความจำเป็น เพื่อตรวจสอบความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับอวัยวะภายในร่างกาย

การรักษาอาการของไข้แดด

การรักษาอาการของไข้แดดในเด็กอาจช่วยลดอุณหภูมิภายในร่างกาย และลดผลกระทบที่อาจเป็นอันตรายต่ออวัยวะภายใน ดังนี้

  • การอาบน้ำเย็น เป็นวิธีรักษาที่อาจช่วยลดอุณหภูมิในร่างกายได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งนำเด็กมาแช่ตัวในน้ำเย็นได้เร็วเท่าไหร่ ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและความเสียหายของอวัยวะภายในก็จะลดลงตามไปด้วย
  • การลดอุณหภูมิร่างกายด้วยไอน้ำ หากเด็กไม่สามารถแช่น้ำเย็นได้ คุณหมออาจลดอุณหภูมิร่างกายโดยการใช้ไอน้ำพ่นบนร่างกาย ซึ่งอาจจะช่วยให้ผิวหนังเย็นลง
  • การประคบน้ำแข็งและใช้ผ้าเย็น เป็นวิธีการประคบเย็นบริเวณขาหนีบ คอ หลัง และรักแร้ เพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย
  • การให้ยาเพื่อลดอาการสั่น การรักษาที่กล่าวมาข้างต้นอาจทำให้เด็กมีอาการสั่น คุณหมออาจให้ยาคลายกล้ามเนื้อ เช่น ยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) เพื่อช่วยลดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อที่ทำให้เกิดอาการสั่น

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับอาการของไข้แดด

เพื่อปกป้องเด็กจากอาการของไข้แดดที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ คุณพ่อคุณแม่อาจปฏิบัติ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการให้เด็กเล่นหรืออยู่ในพื้นที่ที่มีแดดจัดเป็นเวลานาน โดยควรให้เล่นในอาคารหรือพื้นที่ที่มีร่มเงา ระบายอากาศได้ดีและมีลมผ่าน
  • หากจำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีแดดจัดหรือเด็กมีอาการร้อน เหงื่อออกมาก ควรให้ดื่มน้ำเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนปริมาณน้ำในร่างกายที่สูญเสียไป โดยปกติควรดื่มน้ำประมาณ 2.5 ลิตร/วัน หากเด็กสูญเสียเหงื่อมากควรให้ดื่มน้ำเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 180-240 มิลลิลิตร ในทุก ๆ 15-30 นาที หรือจนกว่าเด็กจะรู้สึกดีขึ้น
  • หากเด็กมีอาการอ่อนเพลียจากความร้อน คุณพ่อคุณแม่ควรพาเข้าไปในพื้นที่ที่เย็นและมีอากาศถ่ายเท จากนั้นให้เด็กนอนราบและยกเท้าขึ้นเล็กน้อย อาจถอดเสื้อผ้าบางส่วนออกเพื่อให้ความร้อนถ่ายเทออกจากร่างกายมากขึ้น และใช้ผ้าชุบน้ำค่อย ๆ เช็ดตามตัวเพื่อระบายความร้อน จนกว่าเด็กจะรู้สึกดีขึ้น
  • หลังจากกลับมาจากข้างนอกที่มีอุณภูมิสูงหรือมีแดดจัด ควรให้เด็กอาบน้ำเพื่อระบายความร้อนประมาณ 5 นาที เนื่องจาก การอาบน้ำอาจช่วยลดอุณหภูมิในร่างกายได้อย่างรวดเร็ว
  • อาจให้เด็กดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ หากเด็กออกกำลังกายหรือสูญเสียเหงื่อมากเกินไป เนื่องจากวิตามินและแร่ธาตุในเครื่องดื่มเกลือแร่จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เด็กรู้สึกสดชื่นขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณาเครื่องดื่มเกลือแร่ที่เหมาะสมกับเด็กด้วย
  • ควรให้เด็กใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบาย ระบายอากาศได้ดี เหมาะสมกับสภาพอากาศร้อนและมีแดดจัด
  • จัดการกับพื้นที่ภายในบ้านให้โปร่งสบาย มีอากาศถ่ายเท โดยเปิดเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมในช่วงที่มีอากาศร้อนเพื่อให้บ้านเย็นสบายมากขึ้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Heat Exposure and Reactions. https://www.seattlechildrens.org/conditions/a-z/heat-exposure-and-reactions/#:~:text=Heatstroke%20or%20Sunstroke%20(Serious).,is%20a%20life%2Dthreatening%20emergency. Accessed May 20, 2022

Heat Illness. https://kidshealth.org/en/parents/heat.html. Accessed May 20, 2022

How will I know if my baby’s fever is due to the heat or an illness?. https://www.babycenter.in/x1050278/how-will-i-know-if-my-babys-fever-is-due-to-the-heat-or-an-illness. Accessed May 20, 2022

Heat Illness. https://medlineplus.gov/heatillness.html. Accessed May 20, 2022

What Is Heat Illness?. https://www.dir.ca.gov/dosh/etools/08-006/whatis.htm#:~:text=%22Heat%20Illness%22%20means%20a%20serious,see%20T8%20CCR%20Section%203395). Accessed May 20, 2022

Heatstroke. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/heat-stroke/diagnosis-treatment/drc-20353587. Accessed May 20, 2022

Heat exhaustion and heatstroke. https://www.nhs.uk/conditions/heat-exhaustion-heatstroke/. Accessed May 20, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

07/08/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

วัคซีน เด็ก ที่ควรได้รับ และเคล็ดลับไม่ให้ลูกงอแงตอนรับวัคซีน

เด็กป่วย จาก โรคมะเร็งปอด ผู้ปกครองสามารถดูแลได้อย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 07/08/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา