backup og meta

ไอเรื้อรังในเด็ก สาเหตุและวิธีรับมือที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้

ไอเรื้อรังในเด็ก สาเหตุและวิธีรับมือที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้

การไอ เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปในเด็ก เกิดจากร่างกายตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอม เช่น ไวรัส ที่อาจเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ แต่หาก ไอเรื้อรังในเด็ก หรือไอนานเกิน 4 สัปดาห์ รักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือยิ่งแย่ลง คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรละเลย และควรพาเด็กไปเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมโดยเร็ว เพราะอาการไอเรื้อรังในเด็ก อาจเป็นสัญญาณของภาวะสุขภาพที่รุนแรงกว่า

ไอนานแค่ไหนถึงเรียกว่าเรื้อรัง

การไอเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อการระคายเคืองหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เส้นประสาทจะส่งสัญญาณไปยังสมอง ให้สมองขจัดสิ่งแปลกปลอม เช่น เสมหะ น้ำหอม ฝุ่นละออง หรือเชื้อโรค เช่น ไวรัส ออกจากทางเดินหายใจ สำหรับเด็ก หากมีอาการไอไม่ถึง 2 สัปดาห์ เรียกว่า อาการไอเฉียบพลัน แต่หากไอต่อเนื่องยาวนานกว่า 4 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน ถือว่าไอเรื้อรัง ซึ่งอาการไอเรื้อรังในเด็กนี้ถือเป็นอาการที่พบได้บ่อย คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสมที่สุด

สาเหตุของอาการ ไอเรื้อรังในเด็ก

สาเหตุที่พบได้บ่อยของอาการไอเรื้อรังในเด็ก เช่น

อาการหลังติดเชื้อไวรัส

โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ กลุ่มอาการครูป (Croup/Laryngotracheobronchitis) โรคโควิด-19 สามารถทำให้เด็กมีอาการไอติดต่อกันได้ยาวนานหลายสัปดาห์ เด็กที่เป็นไข้หวัดธรรมดาอาจมีอาการไอแค่ก ๆ หากเป็นไข้หวัดใหญ่มักมีอาการไอแห้ง ส่วนกลุ่มอาการครูปจะทำให้เด็กมีอาการไอเสียงก้องพร้อมหายใจเสียงดัง ส่วนใหญ่มักเกิดในตอนกลางคืน

อาการไอเรื้อรังในเด็กที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสนี้ไม่มียารักษาจำเพาะ แต่จะค่อย ๆ หายได้เอง หากเป็นเด็กอายุ 4 ปีขึ้นไป คุณหมออาจรักษาด้วยการให้กินยาระงับอาการไอ หรือยากดอาการไอ (Cough Suppressants)

โรคหืด

เด็กส่วนใหญ่ที่เป็นโรคหืดหรือหอบหืด (Asthma) จะมีภาวะทางเดินหายใจบวมหรือติดเชื้อ จนเป็นสาเหตุให้หายใจหรือไอแบบมีเสียงฟืดฟาดหรือเสียงหวีด (Wheezing cough) โดยเฉพาะในตอนกลางคืน ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในร่างกายจะค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้นจนกระตุ้นให้เกิดภาวะหดเกร็งเพราะหอบหืด เป็นเหตุให้เด็กที่เป็นโรคหืดมีอาการไอหนักในตอนนอน

คุณพ่อคุณแม่ควรให้เด็กหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นโรคหืด เช่น ควันพิษ น้ำหอม การออกกำลังกาย อากาศเย็น เพราะอาจทำให้อาการไอเรื้อรังในเด็กแย่ลงได้

โรคกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อน นอกจากจะทำให้มีอาการเกี่ยวกับกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่น ปวดท้อง แสบร้อนกลางอก คลื่นไส้อาเจียน รวมไปถึงมีรสเปรี้ยวหรือขมในปากแล้ว ยังทำให้เกิดอาการไอเรื้อรังได้อีกด้วย เนื่องจากกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดลมและหลอดอาหาร จึงทำให้ไอออกมา เด็กที่ไอเรื้อรังเพราะโรคกรดไหลย้อนจะมีอาการไอแห้ง ส่วนใหญ่มักเกิดอาการในตอนกลางวันขณะที่เด็กนั่งอยู่ โดยเฉพาะหากเด็กพูด หัวเราะ หรือร้องเพลงไม่หยุดหลังกินอาหาร

อาการไอเนื่องจากกรดไหลย้อนนี้อาจป้องกันได้ด้วยการงดให้เด็กกินอาหารที่อาจกระตุ้นให้เกิดกรดไหลย้อน เช่น ช็อกโกแลต อาหารทอด อาหารมัน อาหารเผ็ด น้ำอัดลม ผลไม้รสเปรี้ยว ควรให้เด็กกินอาหารหรือเครื่องดื่มอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนเข้านอน ไม่กินอาหารช่วงก่อนนอน และแบ่งอาหารเป็นมื้อย่อย ๆ ให้เด็กกินอาหารแต่ละมื้อในปริมาณน้อยลง จะได้ย่อยง่ายขึ้น

โรคภูมิแพ้และโรคไซนัสอักเสบ

โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) และโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง (Chronic Sinusitis) ถือเป็นสองสาเหตุหลักของอาการไอในเด็ก โดยเด็กที่เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้จะจามบ่อย มักมีน้ำมูกใส และดวงตาระคายเคือง ส่วนเด็กที่เป็นโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังจะมีน้ำมูกเหนียวข้นสีเหลืองปนเขียว เด็กอาจรู้สึกเหมือนมีอะไรกดทับหรือปวดที่ใบหน้า และมีอาการเหล่านี้มากกว่า 12 สัปดาห์ขึ้นไป เด็กที่เป็นโรคทั้งสองชนิดนี้มักมีอาการเสมหะไหลลงคอ (Postnasal drip) ซึ่งนำไปสู่อาการไอเรื้อรัง

คุณพ่อคุณแม่ควรให้เด็กอยู่ห่างจากสารก่อภูมิแพ้ เช่น อาหาร มลพิษ สะเก็ดหนัง ขนสัตว์ และรักษาด้วยยาแก้ภูมิแพ้ตามคำแนะนำของคุณหมอ หากเป็นไซนัสอักเสบคุณหมออาจให้รักษาด้วยยาปฏิชีวนะ หรือการล้างไซนัส

อาการไอกรน

อาการไอกรน (Whooping cough) หรือโรคไอกรน (Pertussis) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย สามารถทำให้ไอติดต่อกันหลายครั้งพร้อมพร้อมมีเสียงหายใจลำบากตามมาหลังไอ โรคไอกรนทำให้มีอาการไอเรื้อรังในเด็กนานติดต่อกันได้หลายเดือน และอาจทำให้เกิดอาการหรือโรคแทรกซ้อนรุนแรงได้ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Sleep Apnea) ร่างกายขาดออกซิเจน โรคปอดอักเสบหรือปอดบวม อาการชัก หรือร้ายแรงอาจถึงขึ้นเสียชีวิต

โรคไอกรนนี้ถือเป็นโรคร้ายแรงต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน

[embed-health-tool-vaccination-tool]

โรคซิสติกไฟโบรซิส

โรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic  Fibrosis) เป็นโรคเรื้อรังที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ส่งผลให้เซลล์สร้างเมือกที่หนาและเหนียวข้นกว่าปกติ เมื่อเมือกดังกล่าวไปอุดกั้นตามอวัยวะต่าง ๆ จะส่งผลให้อวัยวะนั้น ๆ ทำงานผิดปกติ เช่น ไปปิดกั้นปอดจนปอดติดเชื้อเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคนี้มักมีอาการไอเรื้อรัง น้ำหนักตัวลดหรือน้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้นแม้จะกินอาหารเยอะมาก ท้องเสียเรื้อรัง เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน เป็นต้น

สาเหตุอื่น ๆ

นอกจากสาเหตุข้างต้นแล้ว อาการไอเรื้อรังในเด็กยังสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น

  • การติดเชื้อแบคทีเรียที่ทางเดินหายใจส่วนล่าง
  • สิ่งแปลกปลอม เช่น ของเล่น อาหาร เข้าไปติดในหลอดลมหรือหลอดอาหาร มักเกิดกับเด็กอายุ 2-4 ปี หากหาสาเหตุไม่ได้ เด็กอาจมีอาการไอไม่หยุดนานหลายสัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือน
  • ไอโดยที่ไม่มีโรค หรือที่เรียกว่า Habit Cough มักหาโรคที่เป็นสาเหตุไม่ได้ เด็กส่วนใหญ่จะไอแห้งติด ๆ กัน (Honking cough) และไม่เป็นในเวลานอนหลับ สันนิษฐานว่าเกิดจากกล้ามเนื้อร่วมประสาทกระตุก
  • ไอเพราะระคายเคือง เนื่องจากสูดมลพิษเข้าไป เช่น ควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสีย ซึ่งอาการไอจะยิ่งเรื้อรังและแย่ลงหากเด็กเป็นโรคหืด หรือโรคเยื่อจมูกอักเสบ

สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้ก่อนให้เด็กกินยาแก้ไอ

อาการไอสามารถบรรเทาได้ด้วยยาจิบแก้ไอ หรือที่เรียกว่ายาน้ำแก้ไอ ส่วนอาการเจ็บคอที่นำไปสู่อาการไอนั้นสามารถบรรเทาได้ด้วยยาอมหรือลูกอมแก้เจ็บคอ แต่หากเด็กมีอาการไข้หวัด อาการไอ หรือเจ็บคอ คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอ ใช้ยาตามที่คุณหมอและนำ และควรทราบข้อเท็จจริงต่อไปนี้

  • ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีจิบยาน้ำแก้ไอที่มีน้ำผึ้งเป็นส่วนผสม
  • ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปีกินยาอมหรือลูกอมแก้เจ็บคอ เพื่อป้องกันเด็กสำลัก รวมถึงไม่ควรให้กินยาขับเสมหะ (Expectorants) หรือยาระงับอาการไอ (Cough Suppressants) ด้วย
  • ห้ามให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีกินยาแอสไพรินเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการราย (Reye’s syndrome) จนสมองเสียหายและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

เมื่อใดที่ควรพาเด็กไปพบคุณหมอ

หากเด็กมีอาการไอเรื้อรังร่วมกับอาการดังต่อไปนี้ ควรพาไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมโดยเร็ว

  • พูดหรือหายใจลำบาก
  • อาเจียนบ่อย
  • ไอจนหน้าดำหน้าแดง
  • ดูเหนื่อยล้าอ่อนเพลียมาก
  • สงสัยว่ามีสิ่งแปลกปลอมติดคอ
  • เจ็บหน้าอกเมื่อสูดหายใจแรง ๆ
  • ไอเป็นเลือด หรือหายใจหวีด
  • สำหรับเด็กอ่อนหรือเด็กทารกอายุไม่เกิน 4 เดือนที่มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส หรือกินยาแก้ไข้ตามที่คุณหมอสั่งนานกว่า 2 ชั่วโมงแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพาไปพบคุณหมอทันที

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

COUGH IN CHILDREN. https://www.aaaai.org/conditions-and-treatments/library/allergy-library/cough-in-children. Accessed January 22, 2019

8 Causes of Chronic Cough in Kids. https://www.rush.edu/health-wellness/discover-health/chronic-cough-kids. Accessed January 22, 2019

Children’s Cough: Causes and Treatments. https://www.webmd.com/children/guide/cough-treatment#1. Accessed January 22, 2019

Colds, coughs and ear infections in children. https://www.nhs.uk/conditions/baby/health/colds-coughs-and-ear-infections-in-children/#:~:text=Children%27s%20coughs,usually%20anything%20to%20worry%20about. Accessed Noverber 8, 2022

Causes and Treatment of Coughs in Children. https://www.webmd.com/first-aid/coughs. Accessed Noverber 8, 2022

Cough. https://www.rch.org.au/kidsinfo/fact_sheets/Cough/. Accessed Noverber 8, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

08/11/2022

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

5 โรคในเด็ก ที่พบบ่อย วิธีการรักษาและการป้องกัน

โรคติดเชื้อในเด็ก ที่คุณพ่อคุณแม่พึงระวัง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 08/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา