ของเล่นเด็กแรกเกิดและทารกในวัยต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ให้กับลูกน้อย ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และสังคม โดยคุณพ่อคุณแม่ควรเลือกของเล่นที่เสริมสร้างประสาทสัมผัสทั้ง 5 นั่นก็คือ การมองเห็น การสัมผัส การได้ยิน การใช้ปาก และการสูดดม เพราะประสาทสัมผัสเหล่านี้อาจช่วยส่งเสริมให้เด็กเข้าใจและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ นอกจากนี้ ของเล่นยังช่วยเพิ่มความสนุกสนานให้กับเด็ก ซึ่งถือเป็นการช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางด้านอารมณ์ ทั้งยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ภายในครอบครัวได้ด้วย อย่างไรก็ตาม ควรเลือกของเล่นเด็กแรกเกิดที่ปลอดภัยและเหมาะสม เพื่อพัฒนาการที่ดีสมวัย
[embed-health-tool-vaccination-tool]
การเล่นเสริมสร้างพัฒนาการอย่างไร
การเล่นสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กแรกเกิดทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา การเรียนรู้ อารมณ์และสังคม โดยเด็กแรกเกิดจะเริ่มเรียนรู้จากคนใกล้ตัวและสภาพแวดล้อมรอบตัว ดังนั้น การเล่นจึงเป็นวิธีที่จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ทักษะการเคลื่อนไหวทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ รู้จักการสื่อสารเพื่อแสดงความต้องการหรือความรู้สึก การแสดงออกทางอารมณ์ รู้จักการเข้าสังคมผ่านการเล่น เข้าใจสภาพแวดล้อมรอบตัว และเข้าใจถึงการอยู่ร่วมกับผู้อื่นมากขึ้น
ของเล่นเด็กแรกเกิด
ของเล่นเด็กแรกเกิดถึง 12 เดือน อาจมีลักษณะที่แตกต่างกันไป ล้อไปกับพัฒนาการตามวัย เพื่อช่วยเสริมสร้างพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม ดังนี้
- ของเล่นเด็กแรกเกิดถึง 3 เดือน ในช่วงวัยนี้เด็กอาจยังไม่สามารถขยับตัวหรือเคลื่อนที่ไปไหนได้ จึงควรเลือกของเล่นที่ช่วยเสริมพัฒนาการทางด้านการมองเห็นและการได้ยิน เช่น ตุ๊กตาแขวนหลากสี โมไบล์ เตียงเด็กหรือรถเข็นสีสันสดใส ตุ๊กตาหรือของเล่นที่มีเสียงแสง
- ของเล่นเด็กอายุ 4-6 เดือน ในช่วงวัยนี้เด็กเริ่มเคลื่อนไหวได้มากขึ้น เริ่มพลิกตัว กำมือ อาจเริ่มคันเหงือคันฟัน การมองเห็นเริ่มชัดขึ้นและสนใจเสียงต่าง ๆ รอบตัวมากขึ้น ดังนั้น ของเล่นที่เหมาะสมกับช่วงวัยนี้อาจจะเป็นตุ๊กตาหรือของเล่นที่เขย่า บีบ กดแล้วมีเสียง มีสีสันสดใส และยางกัดสำหรับเด็ก รวมทั้งการอ่านนิทานให้ลูกฟังได้ทุกช่วง
- ของเล่นเด็กอายุ 7-9 เดือน ในช่วงวัยนี้เด็กเริ่มที่จะมีพัฒนาการทางร่างกายมากขึ้น ชอบสำรวจ อยากรู้อยากเห็นในสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ไขว่ขว้าได้ ดังนั้น ของเล่นที่เหมาะสมอาจจะเป็นตัวต่อชิ้นใหญ่ ลูกบอลหลากสี ของเล่นที่มีลวดลายสีสันสดใส
- ของเล่นเด็กอายุ 10-12 เดือน ในช่วงวัยนี้เด็กสามารถเคลื่อนไหวได้คล่องตัว เกาะยืน เกาะเดิน ชอบวิ่งเล่นและสำรวจรอบ ๆ สามารถหยิบจับสิ่งของได้ถนัดขึ้น จึงควรเสริมทักษะการเรียนรู้และการสังเกตมากขึ้น ของเล่นที่เหมาะสมกับช่วงวัยนี้ ได้แก่ รถลาก ลูกบอล ของเล่นที่มีหลายรูปทรง
ความปลอดภัยสำหรับการเลือกของเล่นเด็กแรกเกิด
ก่อนซื้อของเล่นเด็กแรกเกิด คุณพ่อคุณแม่ควรพิจารณาถึงความปลอดภัยของของเล่น ดังนี้
- ควรเลือกของเล่นที่มีเครื่องหมายมาตรฐานการผลิต หรือ มอก. รับรองเพื่อให้แน่ใจว่าวัสดุที่นำมาใช้ทำของเล่นผ่านมาตรฐานความปลอดภัยและผ่านการตรวจสอบแล้ว นอกจากนี้ ควรสังเกตฉลากข้อมูลวิธีเล่น อายุเด็กที่เหมาะสม คำเตือน รายชื่อผู้ผลิตที่ชัดเจน
- ควรเลือกของเล่นที่มีขนาดใหญ่กว่า 3 เซนติเมตร ควรหลีกเลี่ยงของเล่นที่มีชิ้นส่วนเล็ก ๆ เนื่องจากเด็กแรกเกิดอาจหยิบของเล่นเข้าปากและอาจเข้าไปอุดตันหลอดลมจนเป็นอันตรายได้
- ควรเลือกของเล่นที่มีพื้นผิวเรียบ ไม่มีเหลี่ยมแหลม หรือวัสดุมีคมที่อาจเป็นอันตรายต่อเด็ก
- ไม่ควรเลือกของเล่นที่มีเสียงดังมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้เด็กตกใจและอาจส่งผลเสียต่อเซลล์ประสาทการรับเสียงของเด็กได้
- ไม่ควรเลือกของเล่นที่มีสายยาว ๆ เพราะอาจเสี่ยงที่จะพันตัวหรือรัดคอเด็กจนเกิดอันตรายได้
- ไม่ควรเลือกของเล่นที่อาจส่งเสริมพฤติกรรมก้าวร้าวให้กับเด็ก เช่น ปืนของเล่น มีด ดาบ
การเล่นกับเด็กแรกเกิด
นอกจากของเล่นที่สำคัญต่อพัฒนาการของเด็กแรกเกิดแล้ว การร่วมเล่นและพูดคุยกับเด็กก็ช่วยเสริมทักษะทางสังคมและสติปัญญาได้ เช่น ทักษะด้านภาษา การสื่อสาร การเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว คุณพ่อคุณแม่จึงควรเพิ่มเวลาในการเล่นกับเด็กแรกเกิดให้มากขึ้น ด้วยวิธีต่อไปนี้
- การทำกิจกรรมง่าย ๆ เช่น การซ่อนแอบ ร้องเพลง จั๊กจี้ นับนิ้วมือนิ้วเท้า เล่นนิ้ว พูดคุย เพื่อช่วยเสริมสร้างความผูกพันทางอารมณ์และการจดจำเสียง
- การทำกิจกรรมสร้างรอยยิ้ม เช่น ทำหน้าตลก ยิ้ม หัวเราะ ที่ช่วยสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้เด็กจะช่วยทำให้เด็กมีความสุขมากขึ้นและสร้างสัมพันธ์ที่ดีในการทำกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกัน
- การใช้ดนตรีหรือการเต้นรำเพื่อช่วยให้เด็กที่กำลังงอแงสงบอารมณ์ลง การเปิดเพลงกล่อมเบา ๆ พร้อมกับการโยกตัวเต้นรำไปกับเด็กอาจช่วยให้เด็กรู้สึกสงบมากขึ้น และการร้องเพลงไปด้วยอาจช่วยให้เด็กรู้จักขั้นตอนแรกของการสื่อสารและการใช้ภาษา
- เด็กแรกเกิดในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก มีการพัฒนาด้านการมองเห็น ดังนั้น การเลือกใช้ของเล่นที่มีสีสันสดใส แสงไฟ อาจช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านการมองเห็นและพัฒนาสายตาของเด็ก
- การช่วยให้เด็กรู้จักเชื่อมโยงเสียงกับรูปลักษณ์ของวัตถุ เช่น คุณพ่อคุณแม่อาจนำขวดเปล่ามาเติมก้อนหินหลายขนาด จากนั้นเขย่าให้เกิดเสียง เพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งการมองเห็นและการได้ยิน
- การให้เด็กแรกเกิดได้สัมผัสกับวัตถุ เช่น ของเล่นนุ่ม เหนียว แข็ง ของเล่นที่เขย่าแล้วมีเสียง อาจสร้างความสนุกสนานให้กับเด็กแรกเกิดและช่วยให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับเนื้อสัมผัสที่แตกต่างกันของวัตถุ
- การอ่านหนังสือให้เด็กแรกเกิดฟัง หรือทุกช่วงอายุ อาจช่วยเสริมสร้างทักษะการสื่อสารและการใช้ภาษา พร้อมทั้งกระตุ้นการมองเห็นและการได้ยิน คุณพ่อคุณแม่ควรเปิดหนังสือให้ห่างจากเด็กประมาณ 20-30 เซนติเมตร จากนั้น อ่านหนังสือไปเรื่อย ๆ เพื่อที่เด็กจะได้ฟังและมองภาพประกอบไปพร้อมกัน