backup og meta

ของเล่นเสริมพัฒนาการ 6 เดือน ควรเลือกอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 20/04/2022

    ของเล่นเสริมพัฒนาการ 6 เดือน ควรเลือกอย่างไร

    ของเล่นเสริมพัฒนาการ 6 เดือน ควรเลือกให้เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็ก เด็กวัยนี้กำลังเรียนรู้ทักษะด้านต่าง ๆ เช่น การเคลื่อนไหว การมองเห็น การสื่อสาร สามารถหยิบจับของเล่นได้ถนัดมือ และเรียนรู้ที่จะเล่นของเล่นเดิมซ้ำเป็นประจำ การเลือกของเล่นให้เด็กในวัยนี้ควรคำนึงถึงเรื่องการเสริมสร้างพัฒนาการ ส่งเสริมจินตนาการ เพิ่มทักษะการแก้ปัญหา และเป็นของเล่นที่ปลอดภัยต่อการใช้งานของเด็กมากที่สุด

    พัฒนาการเด็ก 6 เดือน

    พัฒนาการของเด็กในวัย 6 เดือน อาจมีดังนี้

    • พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว เด็กในวัยนี้มีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว สามารถขยับแขนขาได้มากขึ้น เตะได้อย่างคล่องแคล่ว พลิกตัวไปมาจากนอนหงายเป็นนอนคว่ำ ลุกขึ้นมานั่งได้เอง มือกับสายตาทำงานประสานกันได้ดีขึ้น เริ่มใช้นิ้วหยิบจับสิ่งต่าง ๆ ใกล้มือแล้วนำเอาเข้าปาก จึงควรเลือกของใช้ที่ชิ้นไม่เล็กเกินไป ลดความเสี่ยงที่เด็กจะหยิบเข้าปากหรือกลืนลงคอ และควรจับตาดูพฤติกรรมของเด็กอย่างใกล้ชิด
    • พัฒนาการด้านการมองเห็น เด็กในวัยนี้สามารถแยกแยะเฉดสีหลัก ๆ เช่น สีฟ้า สีเหลือง สีแดง ได้บ้างแล้ว อาจชอบมองของที่มีรูปร่างซับซ้อน เช่น ของเล่นที่เป็นรูปทรง สีสันสดใส มีความสนใจต่อสิ่งที่รอบตัวที่มองเห็นได้ด้วยตา และมักมองตามการเคลื่อนไหวของวัตถุต่าง ๆ เช่น เด็กจะหันศีรษะตามลูกบอลที่กลิ้งไปตามพื้นห้อง
    • พัฒนาการด้านการสื่อสาร เด็กในวัยนี้เริ่มหัดเปล่งเสียง เลียนเสียงตัวเองและผู้อื่น พูดจาอ้อแอ้ตามประสาเด็กเล็ก เพื่อที่จะสื่อสาร เรียกร้องความสนใจ และแสดงความต้องการของตัวเอง เช่น เมื่อหิว มีความสุข ต้องการของเล่น คุณพ่อคุณแม่อาจเสริมสร้างพัฒนาการด้านการสื่อสารด้วยการเรียกชื่อลูกบ่อย ๆ หรือชวนคุยเพื่อให้เกิดการตอบโต้ระหว่างกัน
    • พัฒนาการด้านสติปัญญา เด็กในวัยนี้มีความอยากรู้อยากเห็นเป็นอย่างมาก จะพยายามสำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว และหยิบสิ่งของขึ้นมาสังเกตเป็นประจำ สามารถหยิบของจากอีกมือไปถือไว้อีกมือหนึ่งได้แล้ว ควรมีของเล่นที่สามารถหยิบขึ้นมาดูได้ด้วยมือเดียว เช่น ตุ๊กตาผ้า คุณพ่อคุณแม่อาจคุยกับเด็กเรื่องสิ่งของต่าง ๆ ที่ลูกหยิบขึ้นมาสำรวจ เพื่อให้ลูกรู้จักและคุ้นเคยกับสิ่งของรอบตัว

    สัญญาณเตือนพัฒนาการผิดปกติในเด็ก 6 เดือน

    พฤติกรรมเหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าเด็กมีพัฒนาการผิดปกติ

    • ไม่หยิบจับของเข้าปากเหมือนที่เด็กในวัยนี้มักทำ
    • ไม่ตอบสนองต่อเสียงรอบตัว
    • ไม่พยายามพลิกตัวจากนอนหงายเป็นนอนคว่ำ
    • ไม่ตื่นเต้นและสนุกที่จะอยู่กับคนอื่น
    • พยายามหยิบสิ่งของด้วยมือเพียงข้างเดียว
    • กล้ามเนื้อดูเกร็ง ตึง ไม่เป็นธรรมชาติ

    หากพบว่าเด็กมีพฤติกรรมผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคทางพัฒนาการ เช่น การได้ยินบกพร่อง ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา ภาวะบกพร่องทางการเคลื่อนไหว โรคออทิสติก ควรพาเด็กไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติม หากวินิจฉัยว่ามีปัญหาด้านพัฒนาการและได้รับการรักษาเร็ว อาจช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพและพัฒนาการของเด็กให้เทียบเท่าหรือใกล้เคียงปกติได้

    ของเล่นเสริมพัฒนาการ 6 เดือน

    ของเล่นเสริมพัฒนาการ 6 เดือน ที่เหมาะกับเด็กในวัยนี้ อาจมีดังนี้

    เครื่องดนตรีของเล่น

    อาจช่วยพัฒนาด้านการเคลื่อนไหว กระตุ้นการใช้งานกล้ามเนื้อมือ เครื่องดนตรีของเล่นที่เหมาะกับเด็กวัยนี้ ได้แก่ เปียโน กลอง ระนาด มาราคัสหรือลูกแซกด้ามไม้ เด็ก 6 เดือนอยู่ในช่วงที่กล้ามเนื้อมือกำลังพัฒนา สามารถคว้าไม้กลองมาตีกลองหรือตีระนาดขนาดเล็กได้แล้ว หรือแม้เด็กจะแค่โบกเครื่องดนตรีไปมา หรือใช้แรงมือกดให้เกิดเสียงดนตรี ก็ช่วยเสริมพัฒนาการด้านร่างกายและอารมณ์ของเด็กได้

    กล่องหยอดบล็อก

    อาจช่วยบริหารกล้ามเนื้อนิ้วมือและมือของเด็ก รวมทั้งการทำงานประสานกันของสายตาและมือ อีกทั้งเด็กยังได้ใช้ความคิดในการหยิบบล็อกรูปทรงเรขาคณิตที่มีสีสันหลากหลายมาหยอดลงในกล่องให้ตรงกับช่องที่มีรูปร่างแบบเดียวกัน ซึ่งอาจช่วยเพิ่มทักษะการแก้ไขปัญหาได้ด้วย แม้เด็ก 6 เดือนอาจจะยังหยอดบล็อกได้ไม่ถูกต้อง และยังไม่ถนัดการเล่นของเล่นประเภทนี้นัก แต่การเล่นกล่องหยอดบล็อกเป็นประจำก็ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้การแยกรูปร่างและสีสัน โดยปกติแล้ว เด็กจะเล่นกล่องหยอดบล็อกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่ออายุประมาณ 15-18 เดือน ควรเลือกกล่องหยอดบล็อกที่มีชิ้นส่วนขนาดใหญ่ เหมาะกับวัยของเด็ก เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กนำเข้าปาก หรือกลืนลงคอจนเข้าไปติดในหลอดลม ทำให้หายใจไม่ออก

    ของเล่นป๊อปอัพ (Pop-up Toy)

    เช่น รถไฟป๊อบอัพ กล่องสัตว์ป่าป๊อบอัพ อาจช่วยเสริมพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวและบริหารกล้ามเนื้อมือ ของเล่นประเภทนี้มีลักษณะเป็นปุ่มเพื่อให้กด หมุน ดัน เมื่อดันปุ่มแล้วก็จะมีตุ๊กตาหรือวัตถุเด้งออกมา สร้างความเพลิดเพลินให้กับเด็ก ทั้งยังมีส่วนช่วยด้านการเรียนรู้เรื่องเหตุและผล เช่น หากต้องการให้มีตุ๊กตาแมวเด้งออกมา ก็ต้องกดปุ่มที่มีสติกเกอร์รูปแมว นอกจากนี้ ของเล่นป๊อปอัพบางชิ้นอาจมีเสียงประกอบ สร้างความเพลิดเพลินให้กับเด็ก 6 เดือนที่สนใจเรื่องเสียง เด็กมักทำเสียงเลียนแบบ ตอบโต้ด้วยเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ ตามที่ได้ยินจากแหล่งกำเนิดเสียง

    หนังสือนิทาน

    อาจช่วยเสริมพัฒนาการด้านภาษา การสื่อสาร และพัฒนาการทางสมอง ทั้งยังกระตุ้นให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์และการใช้จินตนาการ อาจเริ่มจากการอ่านนิทานให้เด็กฟังก่อนนอน เลือกหนังสือนิทานที่มีเนื้อหาเข้าใจง่าย เหมาะสมกับเด็ก มีภาพขนาดใหญ่ สีสันสดใส ซึ่งอาจช่วยปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้กับเด็กต่อไปในอนาคต เด็ก 6 เดือนเป็นวัยที่มีความใคร่รู้ในสิ่งรอบตัวเป็นอย่างมาก อาจเลือกหนังสือที่เด็กสามารถหยิบจับ กระชากแรง ๆ ด้วยความอยากรู้อยากเห็น หรือนำเข้าปากได้ เช่น หนังสือนิทานทำจากซิลิโคนนุ่ม หนังสือนิทานภาพที่ทำจากกระดาษอาร์ตเคลือบมัน หนังสือนิทานที่ทำจากผ้า

    วิธีการเลือกของเล่นสำหรับเด็กวัย 6 เดือนและวิธีเก็บรักษาที่ปลอดภัย

    วิธีเลือกของเล่นและการเก็บรักษาให้ปลอดภัยสำหรับเด็กวัย 6 เดือน อาจมีดังนี้

  • ควรอ่านฉลากของเล่นให้ดีก่อนซื้อ ตรวจสอบแน่ใจว่าเป็นของที่ได้มาตรฐานมอก. ศึกษาช่วงวัยที่แนะนำ ข้อควรระวัง และทำตามวิธีการใช้อย่างเคร่งครัด
  • เลือกของเล่นที่แข็งแรง ทนต่อการหยิบจับ กระชาก หรือกัดเคี้ยวเล่นแรง ๆ ของเด็ก
  • ไม่เลือกของเล่นที่มีชิ้นส่วนขนาดเล็กที่อาจหลุดได้ง่ายจากการแกะเล่น เช่น กระดุมเสื้อตุ๊กตา
  • เลือกของเล่นที่มีมุมมน ไม่มีขอบแหลมที่อาจบาดมือหรือปากของเด็ก หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุอื่น ๆ
  • ควรเลือกของเล่นที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางอย่างน้อย 3 เซนติเมตร และควรยาวอย่างน้อย 6 เซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กกลืนของเล่นจนสำลัก หากเป็นของเล่นที่มีสายยาว ไม่ควรยาวเกิน 18 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้สายของของเล่นไปพันตัวและคอของเด็ก
  • เก็บของเล่นเด็กทันทีที่ลูกเลิกเล่น โดยเก็บใส่กล่องให้เป็นระเบียบ ไม่วางกระจายเต็มพื้นห้องหรือบริเวณบ้าน เพื่อเลี่ยงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กและสมาชิกคนอื่น ๆ ในบ้าน
  • หมั่นสังเกตความสมบูรณ์ของของเล่นเด็กอยู่เสมอ หากของเล่นแตกหักหรือมีชิ้นส่วนหลุดออกมาและอาจทำอันตรายกับเด็กได้ เช่น เสี้ยนจากของเล่นที่ทำจากไม้ ชิ้นส่วนพลาสติกที่แตกแล้วมีมุมแหลม ควรรีบซ่อมแซม หากซ่อมไม่ได้ควรทิ้งทันที เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 20/04/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา