backup og meta

เด็ก 8 เดือน มีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    เด็ก 8 เดือน มีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

    เด็ก 8 เดือน มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย และมีพัฒนาการทางสติปัญญาและการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การนั่ง การคลาน การเดิน การยืน การพูด การชี้นิ้ว การสร้างความสัมพันธ์ ซึ่งเด็กแต่ละคนอาจมีพัฒนาการที่เกิดขึ้นไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูและปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ เช่น กิจกรรม อาหาร อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะอาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติด้านพฤติกรรมของเด็ก และควรเข้าพบคุณหมอทันทีเพื่อทำการรักษา

    เด็ก 8 เดือน มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างไร

    เด็ก 8 เดือน มีการเจริญเติบโตทางร่างกายอย่างต่อเนื่องโดยเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายอาจมีน้ำหนักและส่วนสูงที่แตกต่างกันเล็กน้อย ดังนี้

    • เด็กผู้ชาย น้ำหนักเฉลี่ย 8 กิโลกรัม ส่วนสูงเฉลี่ย 69 เซนติเมตร
    • เด็กผู้หญิง น้ำหนักเฉลี่ย 7 กิโลกรัม ส่วนสูงเฉลี่ย 68 เซนติเมตร

    ทั้งนี้ การเจริญเติบโตของเด็กอาจขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ปริมาณกิจกรรมของเด็กที่ทำในแต่ละวัน อาหารที่เด็กได้รับ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับพัฒนาการและการเจริญเติบโตทางร่างกาย นอกจากนี้ เมื่อเด็กอายุ 6-9 เดือน การเจริญเติบโตทางร่างกายอาจค่อย ๆ ช้าลง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะอยู่ในช่วงวัยที่เด็กต้องใช้พลังงานมาก แต่สิ่งนี้ก็ถือเป็นการเจริญเติบโตตามปกติของเด็กในช่วงวัยนี้

    เด็ก 8 เดือนมีพัฒนาการทางสติปัญญาอย่างไร

    เด็ก 8 เดือนจะเริ่มมีพัฒนาการทางสติปัญหาที่เพิ่มมากขึ้น ดังนี้

    • การนั่ง เด็ก 8 เดือนจะสามารถลุกขึ้นนั่งได้ด้วยตัวเองโดยที่ไม่ต้องมีใครพยุง
    • การคลาน เมื่อเด็กเริ่มนั่งได้ด้วยตัวเอง หลังจากนั้นในไม่นานเด็กจะเริ่มเรียนรู้การคลาน อย่างไรก็ตาม เด็กบางคนอาจยังไม่เริ่มคลานในช่วงอายุนี้ ซึ่งไม่ใช่ความผิดปกติเนื่องจากเด็กอาจเริ่มคลานเมื่ออายุ 1 ปี หรือบางคนอาจข้ามจากการคลานไปเป็นเดินเลย
    • การยืน เด็ก 8 เดือนเป็นช่วงวัยที่กำลังฝึกดึงตัวเองให้ลุกขึ้นยืนด้วยการจับสิ่งของรอบตัวที่จะสามารถช่วยพยุงได้ และเมื่อเด็กเริ่มยืนได้มั่นคง เด็กจะเริ่มฝึกเดินอย่างช้า ๆ อย่างไรก็ตาม พัฒนาการนี้อาจเกิดขึ้นเมื่อเด็กอายุครบ 9 เดือนได้เช่นกัน
    • การสร้างความสัมพันธ์ เด็ก 8 เดือนจะเริ่มสร้างความสัมพันธ์กับสิ่งของต่าง ๆ เช่น ผ้าห่ม ตุ๊กตา ซึ่งถือเป็นพัฒนาการด้านความสัมพันธ์ โดยเด็กจะรู้สึกมีความรักใคร่สิ่งต่าง ๆ มากขึ้น และรู้สึกปลอดภัยเมื่อได้อยู่กับสิ่งที่ตัวเองรัก
    • การพูด เด็กวัยนี้จะเริ่มเปล่งเสียงพูดที่ไม่เป็นคำ หรือเด็กบางคนอาจเริ่มพูดคำว่า พ่อ แม่ หรือคำสั้น ๆ ที่มักได้ยินบ่อย ๆ
    • การควบคุมกล้ามเนื้อที่ดีขึ้น เด็กอาจหยิบจับและส่งต่อสิ่งของต่าง ๆ ได้มากขึ้น เช่น ส่งของเล่นจากมือข้างหนึ่งไปยังมืออีกข้างหนึ่งได้อย่างราบรื่น หรืออาจมีทักษะในการจับสิ่งของชิ้นเล็ก ๆ และนำเข้าปาก
    • การชี้นิ้ว เด็กวัยนี้จะเริ่มสนใจสิ่งรอบตัวจึงอาจมีปฏิกิริยาตอบสนองด้วยการส่งเสียงและชี้นิ้ว เพื่อบอกให้คุณพ่อคุณแม่สนใจ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรตอบสนองต่อพฤติกรรมที่เกิดขึ้น เพื่อช่วยส่งเสริมพัฒนาการการเรียนรู้

    ปัญหาพัฒนาการของเด็ก 8 เดือน

    คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการและพฤติกรรมของเด็กต่อไปนี้ เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาพัฒนาการของเด็ก 8 เดือน ซึ่งควรเข้าพบคุณหมอทันที

    • เด็กไม่สบตา ไม่มองตามวัตถุที่เคลื่อนไหว หรือกรอกตาไปมาตลอดเวลา
    • เด็กไม่พูด หรือพูดช้า
    • เด็กไม่หันศีรษะไปทางที่มีเสียง
    • เด็กไม่กลิ้งหรือพลิกตัว
    • เด็กไม่สามารถลุกขึ้นนั่งเองได้แม้ว่าจะถึงวัยที่ควรลุกนั่งเองได้แล้ว
    • เด็กใช้มือข้างใดข้างหนึ่งมากกว่ามืออีกข้างหนึ่ง

    วิธีช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก 8 เดือน

    วิธีที่อาจช่วยเสริมพัฒนาการของเด็ก 8 เดือนให้สมวัยสามารถทำได้ ดังนี้

    • พูดคุยกับเด็ก 8 เดือน เด็กในวัยนี้มีความสนใจในการพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่และคนรอบข้าง ดังนั้น จึงควรพูดคุยกับเด็กอยู่เสมอเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว หรือสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น การบอกรัก พูดเล่นกับเด็ก พูดให้เด็กดูสิ่งรอบตัว
    • ฟังและตอบสนองต่อเสียงพูดของเด็ก วิธีนี้จะช่วยสร้างทักษะด้านภาษาและการสื่อสาร รวมทั้งยังช่วยให้เด็กรู้สึกถึงความรักและการมีคุณค่าในตัวเอง เพราะได้รับความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรตอบรับต่อเสียงของเด็กและพูดคุยกับเด็กด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มอยู่เสมอ
    • เล่นกับเด็ก เช่น ร้องเพลง เล่นจ๊ะเอ๋ ซ่อนแอบ ทำเสียงตลก ทำเสียงสัตว์ เพื่อช่วยส่งเสริมพัฒนาการการเรียนรู้ พัฒนาทักษะด้านภาษา การสื่อสารและการเข้าสังคม
    • อ่านหนังสือด้วยกันกับเด็ก อาจช่วยพัฒนาจินตนาการของเด็กได้ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถพูดคุยเกี่ยวกับรูปภาพในหนังสือ และการเล่านิทานให้ฟัง เพราะอาจช่วยให้เด็กเข้าใจภาษาและเรียนรู้การอ่านได้มากขึ้น
    • ส่งเสริมการเคลื่อนไหว เช่น การดึงสิ่งของเพื่อยืนและเดิน การใช้มือหยิบจับสิ่งของ การคลาน การพลิกตัว เพื่อช่วยส่งเสริมให้เด็กมีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อทั้งมัดเล็กและมัดใหญ่
    • ควรทำให้บ้านปลอดภัย ด้วยการเก็บกวาดสิ่งที่อาจเป็นอันตรายต่อเด็ก เช่น มีด ไม้แหลม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เพื่อให้เด็กสามารถเคลื่อนไหวได้โดยไม่ได้รับบาดเจ็บ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา