backup og meta

เด็กปฐมวัย พัฒนาการ แนวทางการดูแลที่เหมาะสม

เด็กปฐมวัย พัฒนาการ แนวทางการดูแลที่เหมาะสม

เด็กปฐมวัย หรือเด็กช่วงก่อนวัยเรียนที่อยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 3-6 ปี เป็นอีกช่วงชีวิตของเด็กที่มีพัฒนาการ การเจริญเติบโต การเรียนรู้ที่ไวขึ้น อีกทั้งอาจเปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูของคนในครอบครัว เพื่อดูแลเด็กปฐมวัยให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในวันข้างหน้าและมีสุขภาพที่ดี คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาแนวทางการเลี้ยงดูเด็กช่วงวัยนี้ รวมถึงโภชนาการอาหารที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการที่เด็กควรได้รับอย่างเหมาะสม

พัฒนาการเด็กปฐมวัย

พัฒนาการของเด็กปฐมวัย มีดังนี้

  • พัฒนาการด้านกายภาพ เด็กปฐมวัยมีการเคลื่อนไหวคล่องแคล่ว มีทักษะในการกระโดด วิ่ง ปีน และชอบทำกิจกรรมที่ใช้พลังงาน เช่น วิ่งเล่น ปั่นจักรยาน เตะบอล โยนลูกบอล ถึงอย่างไรระหว่างที่เด็กทำกิจกรรมคุณพ่อคุณแม่ควรคอยเฝ้าดู เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่ไม่อาจคาดการณ์ได้สำหรับพัฒนาการช่วงปฐมวัยแบ่งออกตามช่วงวัย ดังนี้
    • เด็กอายุ 3 ปี มักจะเริ่มมีจินตนาการ เริ่มวาดรูปคน วงกลมได้ เริ่มใช้กรรไกร หรือใช้สิ่งของเป็น ชอบเล่นเลียนแบบผู้ใหญ่ เริ่มรู้เพศตนเอง
    • เด็กอายุ 4 ปี จะเริ่มวาดรูปสี่เหลี่ยม ใช้กรรไกรตัดเป็นเส้นตรง สามารถหยิบจับช้อนรับประทานข้าวได้เอง และรู้ถึงการสวมใส่เสื้อผ้าอย่างถูกต้อง
    • ด็กอายุ 5 ปี สามารถวาดรูปทรงสามเหลี่ยม ใช้ความคมของใบมีดเป็น เช่น คัตเตอร์ แต่ถึงอย่างไรเพื่อความปลอดภัย ควรอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ปกครองหรือให้อุปกรณ์อื่น ๆ ในการตัดแทน สามารถสวมใส่เสื้อผ้าเองได้ ดูแลความสะอาดตนเองได้พอสมควรเมื่อเข้าห้องน้ำ
  • พัฒนาการด้านการสื่อสาร หากคุณพ่อคุณแม่พูดคุยสื่อสารกับลูกสม่ำเสมอตั้งแต่ช่วงแรกเกิด จะส่งผลให้เด็กจดจำคำที่คุณพ่อคุณแม่พูดและสามารถพูดออกมาได้ เช่น ชื่อคุณพ่อคุณแม่ คำศัพท์ ชื่อเพื่อน คำสรรพนามที่ใช้เรียก การเล่าเรื่อง เด็กบางคนอาจพูดได้อย่างชัดถ้อยชัดคำ มีการใช้ภาษาใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ อีกทั้งยังแยกแยะสิ่งของที่เหมือนและแตกต่างกันได้
  • พัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์ เด็กช่วงวัยนี้เริ่มอยากพบเจอประสบการณ์และผู้คนใหม่ ๆ อยากมีส่วนร่วมทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ และครอบครัว เช่น ร้องเพลง เต้น แสดงละคร ทำงานบ้าน บางครั้งเด็กอาจแสดงอารมณ์อ่อนโยน แสดงความรัก ความกังวล เศร้า หรือหงุดหงิดได้ หากเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อจิตใจ ควรสังเกตอารมณ์และพฤติกรรมของเด็กวัยนี้ และใช้การตอบสนองในเชิงบวกเพื่อเพิ่มพฤติกรรมที่ดีของเด็ก
  • พัฒนาการด้านสติปัญญา เด็กปฐมวัยจะมีกระบวนการคิดไตร่ตรองได้ดีมากขึ้น สามารถเข้าใจ เชื่อฟัง แยกแยะผิดถูกจากคำสอนของคุณพ่อคุณแม่ได้มากขึ้น นอกจากนี้ หากได้รับการฝึกเสริมทักษะอยู่สม่ำเสมอ อาจทำให้เด็กแยกแยะสี รูปทรงสิ่งของ นับเลข ท่องภาษา อ่านหนังสือ รู้ความหมายของสิ่งของต่าง ๆ เช่น เงิน อาหาร ว่าใช้อย่างไรหรือสิ่งนี้เรียกว่าอะไรได้ รวมทั้งหาวิธีแก้ปัญหาง่ายๆในชีวิตประจำวันได้

วิธีเสริมพัฒนาการให้ เด็กปฐมวัย

คุณพ่อคุณแม่หรือคนในครอบครัว สามารถร่วมส่งเสริมพัฒนาการ การเรียนรู้ และการเจริญเติบโตให้เด็กปฐมวัยได้ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ใช้เวลาทำกิจกรรม ร่วมกับเด็กให้มาก ๆ เช่น วิ่งเล่น วาดรูป ปั้นแป้งโดว์ตามจินตนาการด้วยกัน
  • พูดคุยกับเด็ก หรือขอให้เด็กเล่าเรื่องสิ่งที่พบเห็น สิ่งที่ชอบ ให้เด็กสรุปเรื่องราวแต่ละวันง่ายๆ เป็นการฝึกใช้ภาษาและการเรียบเรียงความคิด
  • ควรให้เด็กออกไปพบเจอเพื่อน เล่นกับเพื่อน โดยควรมีผู้ปกครองเฝ้าดูความปลอดภัยอยู่ห่าง ๆ 
  • อ่านหนังสือให้เด็กฟังทุกวัน โดยอาจเป็นเรื่องที่เด็กให้ความสนใจหรือความรู้แปลกใหม่ ให้เด็กเลือกเองในแต่ละวัน เพื่อส่งเสริมความมั่นใจ
  • ทำกิจกรรมเสริมทักษะ เช่น เล่นเกมส์คำคล้องจอง วาดรูป ระบายสี

โภชนาการอาหารส่งเสริมการเจริญเติบโต

นอกจากการเสริมทักษะให้เด็กปฐมวัย คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้ลูกรับประทาน เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตและพัฒนาการ ดังนี้

  • ธัญพืช เป็นอาหารที่ช่วยให้พลังงาน ส่งเสริมพัฒนาการ การเรียนรู้ และการเจริญเติบโตให้แก่เด็ก เพื่อให้เด็กดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ราบรื่น อาหารจากธัญพืชที่เด็กสามารถรับประทานได้ คือ ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วเขียว
  • โปรตีน อาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ ไก่ ถั่ว เต้าหู้ อาจมีสารอาหารที่ประกอบด้วยเหล็ก สังกะสี วิตามินบี 12 โอเมก้า 3 ที่ช่วยบำรุงสมองและการเรียนรู้ให้เด็กปฐมวัย โดยเน้นการปรุงให้สุกก่อนรับประทาน
  • ผักและผลไม้ ผักผลไม้ส่วนใหญ่ประกอบด้วยวิตามิน สารต้านอนุมูลอิสระ ใยอาหาร และน้ำ ที่ช่วยปกป้องโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็งบางชนิด แต่ก่อนนำมาให้เด็กรับประทานนั้นจำเป็นต้องล้างทำความสะอาดจากเชื้อโรค สารเคมี และควรให้เด็กรับประทานทุกมื้อหรือเป็นของว่างแทนขนมหวานเพื่อสุขภาพที่ดี
  • ผลิตภัณฑ์จากนม ควรให้เด็กรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันต่ำ เช่น โยเกิร์ต นม เพราะอาหารเหล่านี้มีแคลเซียม บำรุงกระดูก ข้อต่อ ให้เด็กเคลื่อนไหวและทำกิจกรรมได้คล่องตัว

เนื่องจากเด็กช่วงนี้มีความคล่องตัวสูงจนอาจไม่ทันได้ระมัดระวัง ดังนั้น เคล็ดลับการเลี้ยงเด็กปฐมวัยให้มีพัฒนาการที่ดี และปลอดภัยจากอุบัติเหตุ ได้แก่

  • จำกัดเวลาการดูทีวีและเล่นสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง/วัน เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกติดอุปกรณ์ดิจิทัล ซึ่งอาจนำไปสู่พฤติกรรมก้าวร้าว
  • ไม่บังคับให้เด็กทำในสิ่งที่ไม่ชอบ หากเด็กมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมควรสร้างวินัยใหม่และพูดด้วยเหตุผล
  • ไม่กดดันเด็กโดยการเพิ่มทักษะให้มากเกินไป ควรส่งเสริมในเรื่องที่เด็กสนใจ
  • สวมอุปกรณ์ป้องกันการกระแทก เช่น หมวกกันน็อค สนับเข่า เมื่อลูกปั่นจักรยาน กระโดด หรือวิ่ง
  • ไม่ควรให้เด็กวิ่งเล่นใกล้ถนน ควรให้วิ่งเล่นในบริเวณสนามเด็กเล่นที่จัดไว้ หรือในสวนที่ไม่รก ไม่มีสัตว์มีพิษ
  • เฝ้าดูลูกอย่างใกล้ชิดหากทำกิจกรรมทางน้ำหรือเล่นน้ำ
  • เก็บของมีคม วัตถุไวไฟ สารเคมีให้พ้นจากมือเด็ก
  • สอนให้ลูกอยู่ห่างจากคนแปลกหน้า
  • คุณพ่อคุณแม่ควรติดตั้งคาร์ซีทในรถยนต์และสอนให้เด็กขาดเข็มขัดนิรภัยก่อนออกเดินทาง
  • อ่านหนังสือให้ลูกฟัง หรือพาลูกเข้าร้านหนังสืออย่างสม่ำเสมอ
  • ให้ลูกมีส่วนร่วมช่วยทำงานบ้านง่าย ๆ ส่งเสริมความรับผิดชอบ
  • ส่งเสริมให้ลูกเล่นกับเด็กคนอื่น ๆ เพื่อช่วยให้เรียนรู้การแบ่งปันและมิตรภาพ
  • สอนลูกด้วยเหตุผลเมื่อลูกมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม
  • กระตุ้นลูกพัฒนาทักษะทางภาษาที่ดี โดยการใช้คำพูดเชิงบวก พูดให้กำลังใจ
  • ช่วยลูกแก้ไขปัญหาหากต้องการความช่วยเหลือ หรือสังเกตว่าลูกอารมณ์ไม่ดี ให้สงบสติอารมณ์ก่อน จากนั้นให้ลูกหัดวิเคราะห์การแก้ปัญหาที่ผ่านมาด้วยคำพูดสร้างสรรค์ หลีกเลี่ยงการตำหนิ
  • ให้ลูกมีส่วนร่วมการตัดสินใจและเลือกของด้วยตัวเอง เช่น เสื้อผ้า ของเล่น อาหารว่าง เลือกนิทานที่อยากฟัง

[embed-health-tool-vaccination-tool]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Preschooler Nutrition. https://www.stanfordchildrens.org/en/topic/default?id=preschooler-nutrition-90-P02273 . Accessed October 29, 2021

Your Child at 3: Milestones. https://www.webmd.com/parenting/guide/child-at-3-milestones#1 . Accessed October 29, 2021

Developmental Milestones: 3 to 4 Year Olds. https://www.healthychildren.org/English/ages-stages/preschool/Pages/Developmental-Milestones-3-to-4-Year-Olds.aspx . Accessed October 29, 2021

Developmental Milestones: 4 to 5 Year Olds. https://www.healthychildren.org/English/ages-stages/preschool/Pages/Developmental-Milestones-4-to-5-Year-Olds.aspx . Accessed October 29, 2021

Preschooler development. https://medlineplus.gov/ency/article/002013.htm . Accessed October 29, 2021

Child Development Basics. https://www.cdc.gov/ncbddd/childdevelopment/facts.html . Accessed October 29, 2021

Preschoolers (3-5 years of age). https://www.cdc.gov/ncbddd/childdevelopment/positiveparenting/preschoolers.html . Accessed October 29, 2021

Healthy food for school-age children: the five food groups. https://raisingchildren.net.au/school-age/nutrition-fitness/daily-food-guides/school-age-food-groups . Accessed October 29, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

23/05/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

เมนูอาหารลูกน้อยวัย 2 ขวบ และสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

อาหารพัฒนาสมองเด็กก่อนวัยเรียน เสริมสร้างพัฒนาการให้เฉียบแหลม


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 23/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา