backup og meta

Mom Shaming คืออะไร ช่วยทำให้กลายเป็นแม่ที่ดีได้จริงหรือ

Mom Shaming คืออะไร ช่วยทำให้กลายเป็นแม่ที่ดีได้จริงหรือ

Mom Shaming หรือการวิพากษ์วิจารณ์แม่ เป็นเทรนด์หนึ่งที่สามารถพบเจอได้ทั่วไป ตั้งแต่จากคนใกล้ตัว เพื่อนบ้าน ไปจนถึงภายในโลกออนไลน์ ที่มักจะตัดสินคุณแม่ที่เลี้ยงลูกแบบผิด ๆ ว่าเป็นแม่ที่ไม่ดี และวิพากษ์วิจารณ์ ต่อว่า หรือประณามคุณแม่เหล่านั้น แต่ยังคงมีข้อสงสัยหนึ่งว่าในการประณามแม่นั้น จะช่วยให้แม่ที่ไม่ดี ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกลายเป็นแม่ที่ดีได้จริงหรือ

Mom Shaming คืออะไร

การประณามแม่ (Mom Shaming) หมายถึงการรังแก หรือวิพากษ์วิจารณ์ลักษณะการเลี้ยงลูกของแม่คนนั้นอย่างเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็นการต่อว่าต่อหน้าตรงๆ พูดคุยในกลุ่มสนทนา หรือการโพสประจารณ์บนโลกออนไลน์ ทำให้คุณแม่คนนั้นรู้สึกผิดหรือสงสัยในตัวเอง

ในปัจจุบันเราสามารถเรียนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงลูกได้จากแหล่งความรู้ต่างๆ ทั้งหนังสือ เว็บไซต์ หรือสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการเลี้ยงลูก จึงอาจทำให้หลายคนที่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ ทำตัวเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” และเผยแพร่คำแนะนำของตัวเองให้กับผู้อื่น หรือตักเตือนผู้ที่อาจจะเลี้ยงลูกในลักษณะที่ “ไม่ถูกต้อง” ตามความเข้าใจของพวกเขา โดยที่คำแนะนำเหล่านั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องถูกต้องเสมอไป

ลักษณะที่พบอาจมีดังต่อไปนี้

  • ติเรื่องการไม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เราอาจจะทราบกันอยู่แล้วว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นมีประโยชน์อย่างมากทั้งต่อตัวแม่และตัวเด็ก จึงทำให้หลายๆ คนสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และอาจจะติเตียนผู้ที่เลี้ยงลูกด้วยนมผง แต่ในความเป็นจริงนั้น คุณแม่บางคนอาจจะมีเหตุผลบางประการที่ไม่สามารถเลือกที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หรือมีเหตุผลที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมผง การติเตียนและวิจารณ์ตัวเลือกของผู้อื่นจึงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องนัก

  • ตั้งคำถามเกี่ยวกับพัฒนาการของลูกผู้อื่น

หลายคนมักจะชอบที่จะเป็นกังวล และสงสัยเกี่ยวกับพัฒนาการของลูกผู้อื่นอยู่เสมอ เช่น ทำไมลูกของเธอถึงยังไม่คลานล่ะ ลูกพูดได้รึยัง ลูกยังไม่เดินอีกเหรอ คำถามเหล่านี้จะกลายเป็นการสร้างความกดดันต่อตัวแม่เด็ก ทำให้พวกเขาเกิดความสงสัยและกังวลใจเกี่ยวกับพัฒนาการของลูกของตัวเอง ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงนั้น พัฒนาการของเด็กแต่ละคนไม่ได้เหมือนกันเสมอไป การตั้งคำถามโดยไม่จำเป็นอาจเพิ่มความตึงเครียดที่ไม่จำเป็นแก่แม่เด็กได้

  • พยายามแก้ไขวิธีการเลี้ยงลูกของผู้อื่น

คนเหล่านี้อาจจะทำตัวเหมือนเป็นผู้เชี่ยวชาญในการเลี้ยงลูกราวกับเป็นแพทย์ผู้เขียนตำราการเลี้ยงลูก พวกเขาจะพยายามชี้นำวิธีการเลี้ยงลูก หรือคอยตั้งคำถามว่า คุณควรจะทำแบบนั้นจริงๆ เหรอ? หรือฉันว่าคุณไม่ควรทำแบบนั้นนะ แม้ว่าคำแนะนำเหล่านี้อาจจะมีจุดประสงค์ที่ดี แต่ในบางครั้งก็อาจจะเป็นการก้าวล้ำเส้น และตัดสินคนอื่นมากจนเกินไป

  • ตัดสินแม่คนอื่นบนโลกโซเชียล

ในปัจจุบันนี้อาจจะเป็นเรื่องปกติที่เราจะแบ่งปันเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตบนโลกโซเชียล รวมถึงเรื่องราวของลูกน้อย และบ่อยครั้งที่เราอาจจะมองเห็นคอมเมนต์เกลียดชัง เช่น ตัดสินแม่ที่แต่งหน้าแต่งตัวไปเที่ยว หรือทำกิจกรรมเข้าสังคม ว่าพวกเขาละเลยลูก หรือติเตียนว่าคนเป็นแม่ไม่ควรทำตัวแแบบนี้

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการประณามแม่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน การประณามแม่นั้นสามารถมาได้ในหลากหลายรูปแบบ ในบางครั้ง คำแนะนำที่เราคิดว่าดี อาจจะกลายเป็นการสร้างผลเสียต่อตัวแม่โดยที่เราไม่รู้ตัวได้ หากคุณแม่พบว่าตัวเองกำลังถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงลูก ทางที่ดีที่สุดคือลองพิจารณาว่าคำแนะนำเหล่านี้เป็นจริงหรือไม่ และพยายามอย่าให้ความสนใจกับสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ

ทำไม Mom Shaming จึงเป็นที่นิยมในปัจจุบัน

การประณามแม่นั้นไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่อะไร หลายๆ ครอบครัว โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ มักจะชอบติเตียนและเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกของคนในครอบครัวกันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่การเฟื่องฟูของอินเตอร์เน็ตที่มาพร้อมกับโลกโซเชียล ทำให้การประณามแม่นี้ยกระดับขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

ด้วยความที่การเข้าถึงข้อมูลต่างๆ นั้นสามารถทำได้อย่างง่ายดายมากขึ้นเพราะอินเตอร์เน็ต เราสามารถเรียนรู้เรื่องที่เราสนใจได้ง่ายๆ เพียงแค่ไม่กี่คลิก หลายคนจึงมักจะทำตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญ และคอยตัดสินการกระทำของคนอื่นๆ ผ่านทางโซเชียล โดยเฉพาะเหล่าคุณแม่ที่ชอบโพสเรื่องราวต่างๆ บนโซเชียลมีเดียต่างๆ และเนื่องจากการติดต่อสื่อสารผ่านโลกอินเตอร์เน็ตนั้น เราไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน หรือจำเป็นต้องรู้จักกับอีกฝ่ายแต่อย่างใด

จึงส่งผลให้การตัดสิน การต่อว่า และการประณามจึงทำได้อย่างง่ายดายมากขึ้น เพราะไม่จำเป็นต้องมาระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับความสัมพันธ์ในโลกของความเป็นจริง เราจึงมักจะพบเห็นคนที่คอยตามประณามการกระทำของคนที่ไม่รู้จักบนโลกโซเชียลอยู่เป็นประจำ

Mom Shaming ทำให้เกิดผลดีจริงหรือ

คำแนะนำ คำวิจารณ์ และคำติเตียนที่ได้จากจากเหล่า “ผู้เชี่ยวชาญ” ในบางครั้งอาจจะเป็นประโยชน์ต่อคุณแม่ และทำให้พวกเรามีแนวทางในการเลี้ยงดูลูกที่ดีขึ้น แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ผลลัพธ์ที่ได้จากคำแนะนำที่เหมือนจะหวังดีเหล่านี้ จะกลายเป็นการทำลายความมั่นใจของคนเป็นแม่ และทำให้พวกเขาไม่กล้าที่จะเลี้ยงลูกโดยไม่รู้สึกระแวงกับคำติของผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา

แม่ส่วนใหญ่มักจะมีสัญชาตญาณและความต้องการที่จะเป็นแม่ที่ดีตามธรรมชาติอยู่แล้ว และพวกเขาต่างก็พยายามทุ่มเท เพื่อสร้างทางเลือกที่ดีที่สุดสำคัญลูกน้อยของพวกเขา การติเตียน ว่ากล่าว และประณามสิ่งที่คุณแม่เหล่านี้เลือกและทำ อาจทำลายความมั่นใจในการเลี้ยงลูก และทำลายความสามารถในการเป็นแม่คน

เมื่อเหล่าคุณแม่ที่ถูกประณามในเรื่องของการเลี้ยงลูก พวกเขามักจะสูญเสียความมั่นใจ และมีความวิตกกังวลในการเลี้ยงลูกมากขึ้น การเลี้ยงเด็กนั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่าย โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีแรก เพราะแม่จะต้องทำการตัดสินใจแทนลูกเกือบทุกตัวเลือก ทำให้ความกดดันในการแบกรับผลจากการตัดสินใจมาอยู่ที่ตัวแม่ คำวิจารณ์และคำติเตียนอาจจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการตัดสินใจของแม่เด็ก และเมื่อเวลาผ่านไป ผลกระทบเหล่านี้อาจทำให้เกิดอันตรายต่อตัวแม่ และเด็กได้

[embed-health-tool-vaccination-tool]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

10 Dos and Don’ts Every Mom Needs to Know About Mom Shaming. https://www.verywellfamily.com/dos-and-donts-of-mom-shaming-4137757. Accessed 8 January 2020
‘You’re Doing it Wrong’ — The Long History of Mom Shaming. https://www.healthline.com/health-news/youre-doing-it-wrong-the-problem-with-social-media-influencers-and-parenting. Accessed 8 January 2020
10 Ways You Might Be Mom-Shaming. https://www.medelabreastfeedingus.com/article/196/10-ways-you-might-be-mom-shaming. Accessed 8 January 2020
Why ‘Mom Shaming’ — on Social Media and in Person — Needs to Stop. https://healthblog.uofmhealth.org/childrens-health/why-mom-shaming-on-social-media-and-person-needs-to-stop. Accessed 8 January 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

22/11/2022

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ลูกฝันร้าย คุณพ่อคุณแม่ควรรับมืออย่างไร

ตะคอก ใส่เด็กบ่อย ๆ ส่งผลเสียอย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 22/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา