หากคุณมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อยบ่อย ๆ ในบางครั้งอาจไม่ใช่ภาวะท้องอืดท้องเฟ้อทั่วไป แต่อาจเป็นสัญญาณเตือนของ ภาวะกระเพาะอาหารย่อยช้า ก็เป็นได้ ในบทความนี้ Hello คุณหมอ จึงพาทุกคนมาทำความรู้จักกับภาวะดังกล่าวให้มากขึ้นกันค่ะ
ภาวะกระเพาะอาหารย่อยช้า (Gastroparesis) เกิดจากอะไร
ภาวะกระเพาะอาหารย่อยช้า (Gastroparesis) เกิดจากการที่อาหารอยู่ในกระเพาะอาหารนานผิดปกติ โดยปกติแล้วการหดตัวของกล้ามเนื้อจะขับเคลื่อนอาหารผ่านทางเดินอาหาร แต่ในผู้ที่อยู่ในภาวะกระเพาะอาหารย่อยช้า คืออาหารจะผ่านทางเดินอาหารช้าลงหรือไม่ทำงานเลยทำให้อาหารไม่สามารถเคลื่อนจากกระเพาะอาหารไปยังลำไส้ได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ คลื่นไส้ อาเจียน
อย่างไรก็ตาม ภาวะกระเพาะอาหารย่อยช้าพบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคเบาหวาน และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย แต่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการรับประทานยา และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต
สาเหตุของการเกิดภาวะกระเพาะอาหารย่อยช้า
ในปัจจุบันยังไม่มีข้อบ่งชี้สาเหตุที่แน่ชัดของภาวะกระเพาะอาหารย่อยช้า โดยมีข้อสันนิษฐานว่า ภาวะกระเพาะอาหารย่อยช้าเกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทเวกัส (Vagus nerve) ส่งผลให้กล้ามเนื้อกระเพาะอาหารและลำไส้ทำงานผิดปกติทำให้ไม่สามารถลำเลียงอาหารจากกระเพาะอาหารไปยังลำไส้ได้ รวมถึงสาเหตุและปัจจัยอื่น ๆ ดังนี้
- โรคเบาหวาน
- การผ่าตัดช่องท้อง
- การติดเชื้อไวรัสในกระเพาะอาหาร
- ยาบางชนิดที่ชะลอการย่อยอาหาร
- โรคหนังแข็ง (Scleroderma)
- โรคทางระบบประสาท เช่น โรคระบบประสาทส่วนกลางเสื่อม โรคพาร์กินสัน
- ไทรอยด์ต่ำ (Hypothyroidism)
สัญญาณและอาการของภาวะกระเพาะอาหารย่อยช้า
หากคุณมีอาการปวดท้อง ท้องอืดบ่อย ๆ นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะกระเพาะอาหารย่อยช้า รวมถึงอาการอื่น ๆ ที่บ่งบอกของภาวะดังกล่าว ดังนี้
- คลื่นไส้ อาเจียน
- รู้สึกอิ่มหลังจากรับประทานอาหารเพียงไม่กี่คำ
- กินข้าวไม่กี่ชัวโมงก็อาเจียนออกมา
- กรดไหลย้อน
- ท้องอืด
- อาการปวดท้อง
- การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือด
- รู้สึกอยากอาหารน้อยลง
วิธีการรักษาภาวะกระเพาอาหารย่อยช้า
หากคุณมีอาการที่บ่งชี้ของภาวะกระเพาะอาหารย่อยช้า ควรรีบปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการรักษา ถ้าหากปล่อยไว้เนิ่นนานอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายได้ โดยหลังจากการปรึกษาหรือวินิจฉัยโรคแล้ว วิธีการรักษาทางการแพทย์จะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของแต่ละบุคคล รวมถึงการปรับพฤติกรรมตนเอง ดังนี้
การรักษาด้วยการรับประทานยา
- เมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) รับประทานยนี้ก่อนอาหาร ทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้บีบตัวมากขึ้น ช่วยในการลำเลียงอาหารในกระเพาะอาหารไปยังลำไส้ได้เร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการปวดท้อง อาจเจียน
- อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) เป็นยาปฏิชีวนะช่วยให้กระเพาะอาหารบีบตัวและเคลื่อนย้ายอาหารออก และยังช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อต่างๆ
- ยาต้านอาการคลื่นไส้ อาเจียน (Antiemetics) ป้องกันการเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน
การรักษาด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
- ปรับพฤติกรรมการกิน เปลี่ยนจากการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ 3 มื้อต่อวัน เป็นรับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ 6 มื้อต่อวัน และหลังรับประทานอาหารเสร็จควรนั่งก่อนอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
[embed-health-tool-bmr]