คุณเคยมีเพื่อนหรือคนรู้จักที่ชอบโทษว่า ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตเขา เป็นความผิดของสิ่งต่างๆ หรือคนอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวกันบ้างไหม ผู้ที่ ชอบคิดว่าตัวเองเป็นเหยื่อ เหล่านี้ มักจะโทษทุกอย่างยกเว้นโทษตัวเอง และในบางครั้งอาจจะเป็นการยากที่จะต้องอยู่ร่วมกับคนแบบนี้ บทความนี้จะมานำเสนอเกี่ยวกับลักษณะของผู้ที่ ชอบคิดว่าตัวเองเป็นเหยื่อ และวิธีในการรับมือกับปัญหาเหล่านี้
อาการ ชอบคิดว่าตัวเองเป็นเหยื่อ เป็นอย่างไร
บางครั้งคุณอาจจะสังเกตเห็นคนบางคนที่มักจะตกเป็นเหยื่อในทุกๆ สถานการณ์ ทั้งยังชอบโทษว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความผิดของผู้อื่น หรือสิ่งอื่นๆ รอบตัว ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เขาหกล้ม ก็จะโทษว่าถนนไม่ดี ทำให้เขาต้องเจ็บตัว ผู้ที่ชอบคิดว่าตัวเองเป็นเหยื่อ (Victim Mentality) เหล่านี้จะไม่ยอมรับผิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้น อาจมีสาเหตุเนื่องมาจากตัวเอง แต่จะพยายามโทษผู้อื่นก่อนเสมอ แม้ว่าการกล่าวโทษนั้นจะไม่สมเหตุสมผลแค่ไหนก็ตาม
สัญญาณที่เห็นได้ชัดมีดังนี้
รู้สึกไม่มีความสามารถพอที่จะแก้ปัญหา
คนที่ชอบคิดว่าตัวเองเป็นเหยื่อ มักจะเชื่อว่าพวกเขาไม่มีพลัง อำนาจ และความสามารถมากพอที่จะรับมือกับปัญหา หรือเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้ชื่นชอบสถานการณ์ที่เป็นอยู่ และอยากให้อะไรๆ มันดีขึ้น แต่พวกเขาก็ยังมองว่า ตัวเองไม่สามารถทำอะไรให้ดีขึ้นได้อยู่ดี
หลีกเลี่ยงการรับผิดชอบ
พวกเขามักจะชอบพยายามโทษคนอื่น สร้างข้ออ้าง และพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อที่ตัวเองจะไม่ต้องรับผิดชอบกับสิ่งแย่ๆ ที่เกิดขึ้น แม้ว่าปัญหานั้นอาจจะเกิดขึ้นเนื่องมาจากการกระทำของพวกเขาก็ตาม เช่น บางคนอาจจะเดินชนโต๊ะ แล้วโทษว่าโต๊ะเกะกะ ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นคนเดินไปชน
มองว่าปัญหาคือความโชคร้าย
พวกเขามักจะชอบโทษปัญหาที่เกิดขึ้น ว่ามีสาเหตุเนื่องมาจากความซวยของตัวเอง จริงอยู่ว่าในบางครั้งปัญหานั้นก็อาจจะเกิดขึ้นจากโชคร้ายได้จริง แต่ก็ใช้ว่าจะเป็นเช่นนั้นเสมอไป
คิดว่าคนอื่นจงใจทำร้ายตัวเอง
ในบางครั้งปัญหาที่เกิดขึ้น อาจจะเป็นเพียงแค่เรื่องบังเอิญ หรือเกิดจากความผิดของตัวคุณเอง แต่ผู้ที่ชอบคิดว่าตัวเองเป็นเหยื่อจะมองว่าอีกฝ่ายตั้งใจหาเรื่องจ้องจะจับผิดพวกเขา และมองปัญหาว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล
มองโลกในแง่ลบ
ผู้ที่ชอบคิดว่าตัวเองเป็นเหยื่อ มักจะชอบมีความคิดในแง่ลบอยู่เสมอ เช่น “เรื่องร้ายๆ มักจะเกิดกับฉันตลอด” “ฉันแก้ไขปัญหาพวกนี้ไม่ได้หรอก” “ไม่มีใครสนใจฉัน” ความรู้สึกในด้านลบเหล่านี้มักจะแสดงออกมาให้เห็นผ่านทางการพูดพึมพำคนเดียว และกลายเป็นการย้ำเตือนกับตัวเองให้พวกเขารู้สึกว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริงๆ
สาเหตุที่ทำให้บางคนคิดว่าตัวเองเป็นเหยื่อ
เรื่องสะเทือนใจในอดีต
หากคุณมองจากภายนอก คุณอาจจะมองว่าการที่คนคนหนึ่งชอบคิดว่าตัวเองเป็นเหยื่อ นั้นเป็นการแสดงออกที่โอเวอร์ และดูเกินจริง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ลักษณะการคิดแบบนี้อาจจะเกิดขึ้นจากประสบการณ์ในอดีตของผู้ที่เคยประสบปัญหาการถูกทารุณกรรม หรือเจอเรื่องร้ายในอดีต ที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันกับเรื่องที่เคยเจอมาก่อน ทำให้พวกเขาเกิดความกังวลว่า สถานการณ์ที่เลวร้ายในอดีตนั้นอาจจะเกิดขึ้นซ้ำสองได้
การถูกหักหลัง
การถูกหักหลังจากคนที่เชื่อใจ โดยเฉพาะกับผู้ที่ทำให้เขาตกเป็นเหยื่อของการกระทำ จะทำให้คนเหล่านี้ยากที่จะกลับไปเชื่อใจคนอื่น และหวาดระแวงว่าตัวเองจะตกเป็นเหยื่ออีกครั้ง
เรียกร้องความสนใจ
คนเรามักจะให้ความเห็นใจ และให้ความสนใจกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในสถาการณ์ต่างๆ นอกจากนี้ยังอาจจะใจดี และคอยช่วยเหลือผู้ที่เป็นเหยื่ออีกด้วย ดังนั้น การพยายามทำให้ผู้อื่นเชื่อว่าตัวเองตกเป็นเหยื่อ ก็จะทำให้เขาได้รับความสนใจ รวมถึงสิทธิพิเศษเหล่านี้ นอกจากนี้บางคนอาจจะชอบคิดว่าตัวเองเป็นเหยื่อ เพราะสนุกสนานกับการรับบทเหยื่อ และโทษคนอื่นว่าเป็นคนผิด โทษว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ อยู่ในความรับผิดชอบของคนอื่น ทำให้พวกเขารู้สึกผิด และยอมทำตามสิ่งที่ “เหยื่อ” เรียกร้องแต่โดยดี
ทำอย่างไรจึงจะหยุดความคิดว่าตัวเองเป็นเหยื่อได้
ตระหนักถึงปัญหาที่คุณเป็น ก่อนอื่น คุณจะต้องรับรู้เสียก่อนว่าคุณกำลังมีนิสัย ชอบคิดว่าตัวเองเป็นเหยื่อ และตระหนักรู้ว่านิสัยนั้นเป็นพิษต่อตัวเองและผู้อื่น แล้วจึงทำความเข้าใจถึงต้นตอของปัญหา และสาเหตุที่ทำให้คุณมีนิสัยชอบคิดว่าตัวเองเป็นเหยื่อ เพื่อพยายามหาทางแก้ไขต่อไป
รับผิดชอบกับชีวิตของคุณ เมื่อคุณรู้จักการรับผิดชอบชีวิตของตัวเอง คุณก็จะถือว่าความคิด ความรู้สึก และการกระทำนั้นเป็นสิ่งที่ตัวคุณกำหนด ไม่ใช่สิ่งที่ผู้อื่นกำหนดให้ ทำให้คุณไม่สามารถปัดความรับผิดชอบไปจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเพราะการกระทำของคุณเองไปสู่ผู้อื่นได้
ปรับเปลี่ยนมุมมอง ผู้ที่ชอบคิดว่าตัวเองเป็นเหยื่อ มักจะมีชอบมองโลกในแง่ลบ และคิดอยู่เสมอว่าตัวเองไม่ดีพอ และโชคไม่เข้าข้างอยู่เสมอ ดังนั้นจึงควรรู้จักการปรับเปลี่ยนมุมมอง หันไปมองโลกในแง่บวก มองปัญหาที่เกิดขึ้นโดยคิดว่าคุณสามารถแก้ไขมันได้ แทนที่จะตัดใจและคิดว่าคงไม่สามารถทำอะไรได้ และหยุดโทษดวงว่าเป็นสาเหตุของเรื่องร้ายๆ ที่เกิดขึ้น และเปลี่ยนไปคิดว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ อาจจะเป็นบททดสอบที่คุณควรเผชิญดู
เราจะอยู่ร่วมกับพวกเขาได้อย่างไร
หากคุณมีคนรู้จัก เพื่อน หรือเพื่อนร่วมงานเป็นพวกที่ชอบคิดว่าตัวเองเป็นเหยื่อ ในบางครั้งการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับพวกเขาอาจจะเป็นเรื่องลำบาก แต่เราก็มีวิธีที่จะช่วยให้เราสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับพวกเขาได้ง่ายขึ้น
หลีกเลี่ยงการเอ่ยถึง พยายามหลีกเลี่ยงการเอ่ยชื่อหรือระบุตัวคนที่คุณต้องการจะตักเตือน เพราะจะทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองเป็นเหยื่อโดยตรง แต่ให้ใช้เป็นพยายามยกตัวอย่างลักษณะที่คุณไม่ชอบ เช่น นิสัยชอบกล่าวโทษ หรือนิสัยไม่มีความรับผิดชอบ และอธิบายให้พวกเขาเข้าใจว่าลักษณะเหล่านี้ไม่ดีอย่างไร แทนที่จะบอกว่าเขาเป็นคนผิด
ให้ความช่วยเหลือ คุณอาจจะสามารถปกป้องคนที่คุณรัก ไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าตัวเองตกเป็นเหยื่อได้ด้วยการให้ความช่วยเหลือพวกเขา แต่พึงระลึกไว้เสมอว่า การให้ความช่วยเหลือคนที่คิดว่าตัวเองเป็นเหยื่อนั้นอาจจะเป็นเรื่องที่ยากลำบาก และดูดพลังชีวิตของคุณออกไปไม่น้อย
ขีดเส้นความสัมพันธ์ การพยายามให้ความช่วยเหลือผู้ที่คิดว่าตัวเองตกเป็นเหยื่อเป็นสิ่งที่ดี แต่ในบางครั้งการที่เราพยายามช่วย ก็จะกลายเป็นการเอาตัวเองเข้าไปรองรับอารมณ์ของเขาแทน จนอาจจะไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพจิตของคุณเอง ดังนั้นคุณจึงควรขีดเส้นความสัมพันธ์ให้ชัดเจน ว่าจุดไหนที่ไม่ควรล้ำเส้น หากอีกฝ่ายเอาแต่คิดว่าตัวเองเป็นเหยื่อและไม่ยอมรับฟังคำอธิบาย หรือไม่พยายามหาทางแก้ไข คุณอาจจะถอยห่างพวกเขาออกมาเสียก่อน เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้มีเวลาคิดและตัดสินใจ ก่อนที่จะพูดคุยกันเพื่อหาทางออกอีกครั้ง
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด