คุณอาจรู้แล้วว่า หากเทสโทสเตอโรนต่ำสามารถทำให้ผู้ชายหมดความสนใจในเรื่องเพศได้ และไม่เพียงเท่านั้น ยังกระทบต่อภาวะเจริญพันธุ์ของผู้ชาย ทำให้เกิด มีลูกยาก หรือเป็นหมัน แต่การแก้ปัญหา หรือรักษาภาวะนี้ในผู้ชาย ไม่ใช่เพียงแค่การเติมเทสโทสเตอโรน (Testosterone) เข้าไปในร่างกาย คงต้องผ่านกระบวนการตามแพทย์แนะนำทีละขั้นตอน เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้บุคคลที่ตกอยู่ในมีลูกยาก มีอาการแย่ลงกว่าเดิมก็เป็นได้ วันนี้ Hello คุณหมอ นำความรู้เบื้องต้นของความสัมพันธ์ระหว่างฮอร์โมนเทอเทสเตอโรน กับการมีลูกยาก พร้อมทั้งการรักษาทางการแพทย์ มาฝากทุกคนให้ทราบกันค่ะ
เทสโทสเตอโรนกับภาวะเจริญพันธุ์
เทสโทสเตอโรน (Testosterone) มีบทบาทสำคัญในการเจริญพันธุ์ เนื่องจากมีหน้าที่ในการสร้างอสุจิ โดยกระบวนการสร้างฮอร์โมนชนิดนี้ เริ่มต้นขึ้นที่ในสมองส่วนที่เรียกว่าไฮโปธาลามัส และต่อมใต้สมองซึ่งตั้งอยู่ใกล้กัน
สมองส่วนไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) จะสร้างสารเคมี ซึ่งทำหน้าที่สื่อสารกับต่อมใต้สมองให้สร้างฮอร์โมนสำคัญ ที่เกี่ยวกับการเจริญพันธุ์ ซึ่งจะไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเซลล์อสุจิขึ้น ขณะเดียวกันอัณฑะก็จะถูกระตุ้นให้สร้างฮอร์โมนเทสทอสเทอโรน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างอสุจิ
แต่เมื่อใดก็ตามที่เทสทอสเทอโรนลดต่ำ ก็เท่ากับว่าร่างกายจะผลิตอสุจิได้น้อยลง ทำให้โอกาสที่จะมีลูกน้อยลงตามไปด้วยซึ่งหนึ่งในการรักษาภาวะที่เทสทอสเทอโรนลดต่ำลง ก็คือ การให้ฮอร์โมนทดแทน แต่ผู้เชี่ยวชาญอย่างเช่น นพ.แฮริส เอ็ม เนเกอร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ แห่งโรงเรียนแพทย์ ณโรงพยาบาลเมาท์ไซนายในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ก็ชี้ว่า แทนที่จะได้ผลดี การรับเทสโทสเตอโรนทดแทน อาจจะทำร้ายภาวะเจริญพันธุ์ของคุณมากไปกว่าเดิมได้
ผลกระทบของการใช้ฮอร์โมนทดแทนกับภาวะเจริญพันธุ์
เหตุผลหลักก็คือ เมื่อคุณได้รับเทสโทสเตอโรนทดแทนในขนาดที่ไม่เหมาะสม หรือได้รับฮอร์โมนติดต่อกันเป็นเวลานาน สมองจะคิดว่าได้ทำหน้าที่ครบแล้ว และลดการสร้างฮอร์โมนโกนาโดโทรฟิน รีลีสซิ่ง (Gonadotropin releasing hormone; GnRH) ลง และเมื่อไม่ได้รับสัญญาณจากฮอร์โมนนี้ ต่อมใต้สมองก็หยุดการสร้างฮอร์โมนฟอลลิเคิล สติมูเลตติ้ง (Follicle Stimulating Hormone; FSH) และฮอร์โมนลูทีไนซิ่ง (Luteinizing hormone; LH) ที่จำเป็นต่อการสร้างอสุจิ ผลก็คือการสร้างอสุจิของคุณลดลง เมื่อจำนวนอสุจิน้อย และโอกาสที่จะมีลูกได้ก็น้อยลงตามไปด้วย
นายแพทย์ไมเคิล ไอซนเบิร์ก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบปัสสาวะ ผู้อำนวยการด้านการแพทย์และศัลยศาสตร์ในการรักษาภาวะมีลูกยาก แห่งโรงพยาบาลสแตนฟอร์ด ในเมืองปาโลอัลโต รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศหสรัฐอเมริกา ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญอีกคนที่ยืนยันถึงผลเสีย ของการใช้ฮอร์โมนทดแทน ที่มีต่อภาวะเจริญพันธุ์ของผู้ชาย รวมถึงยังให้ข้อมูลพิ่มเติมด้วยว่า ที่จริงแล้วยังมีการศึกษาเรื่องเทสโทสเตอโรนกับการคุมกำเนิด เนื่องจากผู้ชายร้อยละ 90 สามารถลดจำนวนอสุจิลงไปได้ถึงศูนย์ในขณะที่ใช้เทสโทสเตอโรน มันจึงมีส่วนช่วยในการคุมกำเนิดได้
มีลูกยาก สามารถเพิ่มการเจริญพันธ์ุ ได้อย่างไร
เนื่องจากเทสโทสเตอโรนมีส่วนในการสร้างอสุจิ เมื่อผู้ชายมีปัญหาเรื่องเทสโทสเตอโรนต่ำ จนส่งผลต่อการสร้างอสุจิที่มากพอ การรักษาภาวะมีบุตรยากก็ยังต้องรักษาในส่วนนี้ เพียงแต่ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญอย่าง นพ.ซิปโรส เมซิทิส ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อ จากโรงพยาบาลเลนน็อกซ์ฮิลล์ ในนิวยอร์กซิตี้ สหรัฐฯ ชี้ว่า การเพิ่มของเทสโทสเตอโรน ต้องมาจากภายในร่างกายของคนไข้เอง เพราะเทสโทสเตอโรนที่มาจากข้างนอก จะกดการสร้างอสุจิของร่างกาย
นพ.เมซิทิสบอกว่า วิธีการที่ใช้โดยทั่วไปก็คือ การตรวจจำนวนอสุจิของผู้ชาย ถ้าหากมีภาวะมีบุตรยาก และจำนวนอสุจิน้อย ขั้นต่อไปก็คือการตรวจเทสโทสเตอโรน ถ้าเทสโทสเตอโรนต่ำ ก็จะมีการฉีดฮอร์โมนฮอร์โมนโกนาโดโทรฟิน (Gonadotrophin; GN) ซึ่งจะส่งสัญญาณให้มีการสร้างเทสโทสเตอโรนตามกระบวนการธรรมชาติ
นอกจากนี้คุณยังควรเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ เช่น การกิน การออกกำลังกาย ลดความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ โดยเฉพาะคุณผู้ชายที่น้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน มีแนวโน้มจะมีเทสโทสเตอโรนต่ำ เพราะไขมันส่วนเกินที่หน้าท้อง สามารถเปลี่ยนเทสโทสเตอโรนให้เป็น เอสโตรเจน (Estrogen) การลดน้ำหนักจึงส่งผลกระทบในเชิงบวกที่ดีต่อการเจริญพันธุ์ของคุณ
การรักษา มีลูกยาก ในผู้ชาย
ภาวะมีบุตรยากในผู้ชายมีหลายสาเหตุ นอกเหนือจากเรื่องเทสโทสเตอโรน และนี่คือวิธีการโดยทั่วไป ที่มักใช้รักษาภาวะมีบุตรยาก
- การผ่าตัด จะช่วยซอมแซมเส้นทางการลำเลี่ยงอสุจิที่ถูกบล็อกหรืออุดตัน การผ่าตัดท่อนำอสุจิเป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ได้มากถึงร้อยละ 85 แต่ในบางกรณี การผ่าตัดอาจซ่อมแซมท่อนำอสุจิได้ แต่อาจไม่ทำให้มีบุตรได้ก็เป็นได้
- เทคโนโลยีช่วยการมีลูก ทางเลือกอื่นก็อย่างเช่น การฉีดอสุจิเข้าไปในมดลูก การผสมเทียมนอกร่างกาย (ในหลอดแก้ว) หรือการฉีดอสุจิตัวเดียวเข้าไปในไข่ (Intracytoplasmic Sperm Injection หรือ ICSI)