backup og meta

เทรนเนอร์ส่วนตัว ควรมีไหม? แล้วเลือกยังไงให้เหมาะสม

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 30/06/2020

    เทรนเนอร์ส่วนตัว ควรมีไหม? แล้วเลือกยังไงให้เหมาะสม

    หากพูดถึง “เทรนเนอร์ส่วนตัว” หลายคนอาจรู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นเพราะต้องเสียค่าจ้างแพง จ้างมาแล้วก็กลัวจะฝึกกับเทรนเนอร์ไม่คุ้ม หรือฝึกแล้วไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ ในขณะที่บางคนก็เลือกออกกำลังกายกับเทรนเนอร์เพราะรู้สึกว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า มีคนคอยคุมแล้วทำให้ตัวเองมีวินัยในการออกกำลังกายมากขึ้น ว่าแต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าจริง ๆ แล้วตัวเองจำเป็นต้องมี เทรนเนอร์ส่วนตัว ไหม และควรเลือกเทรนเนอร์อย่างให้ถึงจะเหมาะสม เราไปดูกันเลย

    เมื่อไหร่ที่คุณควรมี เทรนเนอร์ส่วนตัว

    ไม่รู้จะเริ่มออกกำลังกายอย่างไรดี

    หากคุณเป็นมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มออกกำลังกาย คุณก็อาจจะยังไม่รู้ว่าตัวเองควรออกกำลังกายรูปแบบไหน ในระดับความเข้มข้นเท่าไหร่ และควรออกกำลังกายนานเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม แต่เทรนเนอร์ส่วนตัวสามารถจัดโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมให้คุณได้ ทั้งยังแนะนำได้ด้วยว่าคุณควรเริ่มออกกำลังกายอย่างไร ต้องทำท่าอย่างไรถึงจะถูกต้อง และต้องออกกำลังกายนานเท่าไหร่

    ออกกำลังกายเองแล้วไม่ได้ผล

    สำหรับคนที่ออกกำลังกายเองติดต่อกันมาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนแล้ว แต่น้ำหนักก็ยังไม่ลดลง หรือยังได้ผลลัพธ์ไม่เป็นที่น่าพอใจ การมีเทรนเนอร์ส่วนตัวก็อาจเป็นตัวเลือกที่ดี เพราะเทรนเทอร์สามารถช่วยดูโปรแกรมการออกกำลังกายในปัจจุบันของคุณได้ว่าต้องปรับเปลี่ยนอะไรตรงไหนบ้างถึงจะได้ผลมากกว่าที่เป็นอยู่ หรือบางคนที่ออกกำลังกายแล้วไม่ได้ผลก็อาจเป็นผลคุณยังออกกำลังกายไม่หนักพอ ซึ่งเทรนเนอร์ก็จะช่วยผลักดันให้คุณออกกำลังกายหนักขึ้นได้

    คุณเบื่อการออกกำลังกายแบบเดิม ๆ

    หากคุณเป็นคนที่ออกกำลังกายอยู่แล้ว แต่รู้สึกเบื่อรูปแบบการออกกำลังกายเดิม ๆ อยากลองออกกำลังกายให้หลากหลายขึ้น ก็อาจลองจ้างเทรนเนอร์ส่วนตัวดู เทรนเนอร์จะได้ช่วยแนะนำรูปแบบการออกกำลังกายใหม่ ๆ ที่น่าสนใจและน่าสนุกให้คุณได้ ทั้งยังช่วยกำหนดเป้าหมายที่ท้าทายกว่าเก่า ที่อาจช่วยกระตุ้นให้คุณอยากออกกำลังกายมากขึ้นได้ด้วย

    อยากเรียนรู้พื้นฐานการออกกำลังกายที่ถูกต้อง

    ต่อให้คุณอยากออกกำลังกายเอง คุณก็จำเป็นต้องมีพื้นฐานในการออกกำลังกายที่ถูกต้องก่อน จึงจะทำเองได้อย่างปลอดภัยและเห็นผล และวิธีในการเรียนรู้พื้นฐานหรือท่าทางการออกกำลังกายที่ถูกต้องพร้อมกับได้ปฏิบัติจริงไปด้วย ก็คือ การเรียนรู้จากเทรนเนอร์ส่วนตัวนั่นเอง เทรนเนอร์สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับกล้ามเนื้อในร่างกาย รูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสำหรับกล้ามเนื้อแต่ละส่วน วิธีออกกำลังกายที่ถูกต้อง อุปกรณ์ออกกำลังกายที่จำเป็น และคุณอาจได้เรียนรู้วิธีการกินอาหารที่เหมาะสมด้วย

    มีอาการบาดเจ็บ หรือมีปัญหาสุขภาพบางประการ

    หากคุณเคยบาดเจ็บ หรือมีปัญหาสุขภาพบางประการ แพทย์อาจแนะนำให้คุณออกกำลังกายกายเป็นประจำ เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูได้เร็วขึ้น แต่ในกรณีนี้ คุณจำเป็นต้องออกกำลังกายภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญอย่างเทรนเนอร์ส่วนตัว เพราะการออกกำลังกายเองอาจทำให้เสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้

    โดยปัญหาสุขภาพที่ควรออกกำลังกายกับเทรนเนอร์ เช่น ข้ออักเสบ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน อาการบาดเจ็บเรื้อรัง อาการปวดหลังหรือปวดคอ มีปัญหาด้านการทรงตัว กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวไม่แข็งแรง มีปัญหาตั้งครรภ์ยาก แต่แนะนำว่าคุณควรปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดก่อน และต้องแน่ใจด้วยว่าเทรนเนอร์ที่เลือกมีประสบการณ์ในการเทรนคนที่มีปัญหาสุขภาพด้านนั้น ๆ

    เทรนเนอร์ส่วนตัวที่ดีควรเป็นอย่างไร

    • มีใบอนุญาตถูกต้อง เทรนเนอร์ควรผ่านการทดสอบและได้รับใบประกอบวิชาชีพหรือใบอนุญาตอย่างถูกต้อง
    • มีกฎเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจที่ชัดเจน คือ ควรมีการรับประกันที่น่าเชื่อถือ และมีการพิมพ์สัญญาว่าจ้างอย่างถูกต้อง โดยในสัญญาควรชี้แจงขั้นตอนในการดำเนินการสอน การให้บริการ ราคา การยกเลิก และการคืนเงินที่ชัดเจน
    • มีประสบการณ์ เทรนเนอร์ส่วนตัวควรมีประสบการณ์ในการสอน และทางที่ดีควรเป็นด้านที่คุณต้องการด้วย เช่น หากคุณอยากเป็นนักเพาะกาย ก็ควรหาเทรนเนอร์ที่มีประสบการณ์ด้านนี้โดยเฉพาะ
    • มีความรู้เฉพาะทาง หากคุณหาเทรนเนอร์ส่วนตัวมาช่วยเทรนให้เพราะมีปัญหาสุขภาพ ก็ควรหาเทรนเนอร์ที่มีความรู้เฉพาะทางในด้านนั้น ๆ และสามารถทำงานร่วมกับแพทย์และนักบำบัดได้เป็นอย่างดี
    • เป็นผู้ฟังที่ดี เทรนเนอร์ส่วนตัวควรรับฟังความต้องการของคุณด้วยว่า คุณมีเป้าหมายในการออกกำลังกายอย่างไรบ้าง ชื่นชอบการออกกำลังกายรูปแบบใดเป็นพิเศษ หรือมีเวลาออกกำลังกายมากน้อยแค่ไหน เป็นต้น และเมื่อฟังแล้วก็ควรจัดรูปแบบการออกกำลังกายที่สอดคล้องกับความต้องการ หรือสภาพร่างกายของคุณด้วย
    • ใส่ใจคุณ ขณะที่คุณกำลังออกกำลังกายอยู่นั้น เทรนเนอร์ส่วนตัวที่ดีจะต้องคอยให้คำแนะนำ และใส่ใจแค่คุณเท่านั้น
    • ติดตามผลการออกกำลังกายของคุณเสมอ จะได้รู้ว่าการออกกำลังกายที่ผ่านมาของคุณให้ผลลัพธ์อย่างไรบ้าง และต้องปรับเปลี่ยนอะไรตรงไหนไหม

    วิธีเลือก เทรนเนอร์ส่วนตัว ให้เหมาะสม

    เลือกคนที่เหมาะกับเป้าหมายของคุณ

    ก่อนที่คุณจะเลือกเทรนเนอร์ส่วนตัว คุณควรรู้ก่อนว่าตัวเองอยากออกกำลังกายเพื่อจุดประสงค์ใด เช่น อยากลดน้ำหนัก อยากฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ อยากฝึกซ้อมเพื่อวิ่งมาราธอน เมื่อคุณรู้แล้วว่าตัวเองต้องการอะไร ก็ให้เลือกเทรนเนอร์ส่วนตัวที่มีประสบการณ์หรือความเชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ

    เลือกระดับราคาที่เหมาะสม

    สาเหตุที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยอยากใช้บริการเทรนเนอร์ส่วนตัวก็เพราะรู้สึกว่ามีราคาแพง ฉะนั้น หากคุณอยากมีเทรนเนอร์ส่วนตัวแต่ก็ไม่อยากเสียเงินก้อนโต ก็ควรเลือกเทรนเนอร์ในระดับราคาที่เหมาะสมกับตัวเอง และอย่าลืมศึกษาด้วยว่าเขามีส่วนลดอะไรหรือไม่ ต้องซื้อคอร์สรูปแบบไหนจึงจะคุ้มค่าที่สุด

    เลือกนิสัยที่ใช่

    เทรนเนอร์บางคนอาจมีความรู้แน่น แต่สื่อสารกับผู้อื่นไม่ค่อยเก่งเท่าไหร่นัก ซึ่งหากเป็นแบบนี้ ก็อาจทำให้การออกกำลังกายของคุณไม่ได้ผลเท่าที่ควรได้ ฉะนั้น ก่อนตัดสินใจเลือกเทรนเนอร์ส่วนตัว คุณควรศึกษาก่อนว่าเทรนเนอร์ที่คุณสนใจนั้นมีลักษณะนิสัยอย่างไร โดยคุณอาจลองสอบถามพูดคุยกับเขา หรือศึกษาข้อมูลผ่านการรีวิวจากลูกค้าคนอื่น ๆ ก็ได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 30/06/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา