“อโรคยา ปรมาลาภา” ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ วลีเด็ดที่ไม่ว่าจะผ่านมานานแค่ไหน ก็ไม่เคยล้าสมัย เพราะคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า การมีสุขภาพที่ดีนั้นเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด วันนี้ Hello คุณหมอ จะพาคุณมาทำความรู้จักกับอีกหนึ่งสมุนไพรที่เพิ่งได้รับการเปิดตัวในวงการแพทย์ ด้วยสรรพคุณที่มีการบอกต่อกันมาว่า สามารถใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง รวมไปถึงโรคร้ายอีกหลายโรค สมุนไพรที่ว่านี้ก็คือ “กัญชา” เมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้แล้ว หลายคนอาจมีคำถามว่า กัญชารักษาโรค ได้จริงหรือไม่ เรามาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
ทำความรู้จักกัญชา (Cannabis)
กัญชา (Marijuana) เป็นพืชในตระกูล Cannabis มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Canabis sativa L. subs indica มีลักษณะต้นเป็นพุ่มเตี้ย ใบมีสีเขียวแยกเป็นแฉกประมาณ 5-7 แฉก มีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol หรือ THC) เป็นสารที่ช่วยกระตุ้นระบบประสาท หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่ากัญชาได้รับการปลดล็อคจากพืชสารเสพติดมาใช้ในเชิงการแพทย์ ในวันที่ 12 เมษายน 2561 โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ตามหลักการร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่
กัญชากับกัญชง ต่างกันอย่างไร
หลายคนอาจจะสงสัยและสับสนว่า กัญชาและกัญชงนั้นคือพืชชนิดเดียวกันไหม โดยพืชทั้งสองชนิดนี้มีความแตกต่างกันดังนี้
- กัญชา (Marijuana)
มีลักษณะเป็นพุ่มต้นเตี้ย กัญชาจะแตกกิ่งก้านค่อนข้างมาก ใบมีสีเขียวจัด ลักษณะของใบมี 5-7 แฉก โดยสารที่เป็นจุดเด่นในกัญชา คือ สารที่ทำให้เมา หรือสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล ซึ่งมีมากกว่าในกัญชง ส่วนใหญ่กัญชามักจะถูกนำมาใช้ในการช่วยเพิ่มความผ่อนคลาย
- กัญชง (Hemp)
มีลักษณะลำต้นสูงเรียวใหญ่ กัญชงจะแตกกิ่งก้านค่อนข้างน้อยกว่ากัญชา ใบมีสีเขียวอ่อนกว่า ใบเป็นแฉก 7-11 แฉก โดยจุดเด่นในกัญชงนั้นไม่ใช่สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล แต่เป็นสารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol หรือ CBD) ส่วนใหญ่กัญชงถูกนำมาสกัดใช้แปรรูปทางยาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เช่น ลดอาการเจ็บปวดต่าง ๆ ต้านอาการลมชัก
กัญชารักษาโรค มะเร็งได้จริงหรือไม่
จากผลการวิจัยที่ได้นำสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล และสารแคนนาบิไดออลมาทดลองในหนู พบว่าสามารถยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง และลดการแพร่กระจายลงได้ นอกจากนี้ กัญชายังมีสรรพคุณในการรักษาโรตต่าง ๆ ได้ดังนี้
- ลดอาการปวด
ข้อมูลจากวารสารเภสัชศาสตร์ กล่าวว่า สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล ช่วยลดอาการปวดต่าง ๆ และลดอาการอักเสบได้
- ผ่อนคลาย
ภญ. ดร.สุภาพร ปิติพร รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ได้ใช้กัญชามาทำเป็นยาหลายตำรับ เช่น ยานอนหลับที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย อีกทั้งยังช่วยแก้อาการท้องเสียได้ด้วย
- คลื่นไส้ อาเจียน
กัญชามีฤทธิ์ต้านอาเจียน ช่วยรักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียน และช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้ดี
ผลข้างเคียงจากการใช้กัญชาทางการแพทย์
กัญชา ถือเป็นสารเสพติดที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้งานได้ ผลข้างเคียงของกัญชาที่พบบ่อย คือ กระสับกระส่าย ใจสั่น เวียนศีรษะ ความดันโลหิตตก กล้ามเนื้อล้า มีความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า หวาดระแวง หรือถึงขั้นทำให้เห็นภาพลวงตา ประสาทหลอนมากขึ้นกว่าเดิม การใช้กัญชานั้นจึงจึงถูกควบคุมให้อยู่ภายใต้กฎหมายการใช้อย่างเคร่งครัด
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ จากบทความนี้ คุณจะเห็นได้ว่า เราสามารถใช้ กัญชารักษาโรค ได้ในหลายแขนง เนื่องจากกัญชามีสรรพคุณทางยาที่ได้รับการยอมรับในวงการแพทย์ แต่การใช้กัญชายังให้โทษสูงด้วยเช่นกัน ดังนั้นเพื่อการใช้กัญชาอย่างปลอดภัย จึงควรมีการศึกษาวิธีใช้อย่างถูกต้องและการเข้าขอรับคำแนะนำจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพก่อนเสมอ
[embed-health-tool-bmi]