backup og meta

เสื้อผ้ามือสอง อันตรายแฝงที่เราอาจไม่เคยรู้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 14/03/2021

    เสื้อผ้ามือสอง อันตรายแฝงที่เราอาจไม่เคยรู้

    เสื้อผ้ามือสอง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าราคาถูกที่คุณซื้อมาจากร้านขายเสื้อผ้ามือสอง หรือจะเป็นเสื้อเก่าที่คุณได้รับบริจาคมาจากผู้อื่น หรือตกทอดมาสู่คุณ ไม่ว่าคุณจะได้เสื้อผ้ามือสองมาด้วยวิธีการใด การใช้เสื้อผ้าเหล่านี้ย่อมเป็นมิตรต่อกระเป๋าสตางค์ และประหยัดเงินเป็นแน่แท้ แต่บ่อยครั้ง ที่เสื้อผ้ามือสอง มักจะนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างที่คาดไม่ถึง

    ความเสี่ยงที่แฝงมากับ เสื้อผ้ามือสอง

    หลายคนเลือกใช้เสื้อผ้ามือสอง เนื่องจากเป็นหนึ่งในวิธีการช่วยประหยัดเงิน ทำให้ไม่ต้องเสียเงินมากมายไปกับเสื้อผ้าแฟชั่นราคาแพง และยิ่งในบางครั้งหากเราเลือกดี ๆ ก็อาจทำให้เราได้เสื้อผ้าคุณภาพดี ในราคาที่เป็นมิตรอีกด้วย แต่การประหยัดนั้นก็อาจนำมาซึ่งความเสี่ยง เพราะเสื้อผ้ามือสองนั้นอาจเป็นสาเหตุสำคัญของความเสี่ยงต่อสุขภาพ ดังต่อไปนี้

    โรคผิวหนัง

    โรคที่ติดเชื้อทางผิวหนังต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคกลาก โรคเกลื้อน หรือโรคหิด อาจติดต่อสู่กันได้ ผ่านทางเสื้อผ้ามือสอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณไม่ได้ทำความสะอาดเสื้อผ้ามือสองเหล่านั้นให้ดี โรคผิวหนังเหล่านี้อาจสร้างความรำคาญใจให้คุณ และอาจกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และทันท่วงที

    • โรคกลาก

    โรคกลากเป็นการติดเชื้อราบนผิวหนัง เกิดจากเชื้อราในกลุ่มเดอมาโทไฟท์ (Dermatophytes) เชื้อราประเภทนี้จะอาศัยอยู่ในชั้นผิวหนังที่ตายแล้ว และมีความคงทนต่อสภาพอากาศ สามารถอาศัยอยู่ในผิวหนัง ในพื้นดิน หรืออยู่ตามสิ่งของและเสื้อผ้าต่าง ๆ ได้เป็นเวลานานหลายเดือน เชื้อราประเภทนี้จึงมักจะแฝงมาพร้อมกับเสื้อผ้ามือสอง ทำให้เราสามารถติดโรคกลากได้หากใส่เสื้อผ้าที่ปนเปื้อนเชื้อราเหล่านี้

    โรคกลากจะมีลักษณะเป็นวงแดง ๆ หรือขุยสีขาว ๆ และอาจมาพร้อมกับอาการผื่นร่วมด้วย โรคกลากนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น หนังศีรษะ ใบหน้า มือ เท้า ไปจนถึงเล็บ และจะพบได้มากในเด็ก

    • โรคเกลื้อน

    โรคเกลื้อน เป็นการติดเชื้อราที่ผิวหนัง จากเชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia) โดยจะมีลักษณะเป็นผื่นขึ้นเป็นดวง ๆ อาจจะมีสีขาว สีชมพู สีแดง หรือสีน้ำตาล โดยอาจเกิดขึ้นดวงเดียวหรือหลาย ๆ ดวงพร้อมกับ เกลื้อนนั้นมักจะพบได้ในบริเวณลำตัว คอ ต้นแขน และส่วนหลัง หากปล่อยไว้ไม่ทำการรักษา อาจทำให้ดวงเล็ก ๆ เหล่านี้รวมตัวกัน แล้วขยายใหญ่ขึ้น

    • โรคหิด

    โรคหิดนั้นจะหมายถึงอาการตุ่มที่เกิดขึ้นตามร่างกาย และทำให้เกิดอาการคัน มักจะพบได้ในบริเวณง่ามมือ รักแร้ สะดือ หรือขาหนีบ และสามารถติดต่อสู่ผู้อื่นได้ หากคุณพบว่าตัวเองมีอาการของโรคหิด อาจต้องทำการรักษากันทั้งครอบครัว เพราะโรคนี้สามารถแพร่เชื้อสู่คนรอบตัวได้อย่างง่ายดาย

    โรคภูมิแพ้

    ในเสื้อผ้าเก่า ๆ อย่างเสื้อผ้ามือสองนั้น มักจะมีการสะสมของไรฝุ่น ฝุ่นในใยผ้า และฝุ่นที่ติดมาจากการบรรจุในกระสอบ ระหว่างการขนส่ง นอกจากนี้ ในเสื้อผ้ามือสองยังอาจผ่านการใช้น้ำยารีดผ้าที่มีความเข้มข้นสูง เพื่อใช้รีดเสื้อให้เรียบก่อนการจัดจำหน่าย ฝุ่นละออง และสารเคมีเหล่านี้ เป็นสารก่อภูมิแพ้ชั้นดี ที่อาจทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคือง ยิ่งโดยเฉพาะกับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่ก่อนแล้ว ก็อาจจะทำให้อาการภูมิแพ้รุนแรงขึ้นได้

    พาหะนำโรคต่าง ๆ

    บ่อยครั้งที่เสื้อผ้ามือสองนั้นจะไม่ได้รับการทำความสะอาดอย่างถูกวิธี จึงทำให้กลายเป็นพาหะของเชื้อปรสิตต่าง ๆ เช่น ไร ตัวเลือด เห็บ หมัด เหา หรือโลน และอาจจะสะสมไปด้วยเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดเป็นโรค เช่น โรคแผลพุพอง (Impetigo) ที่มีลักษณะเป็นผื่นแดง อาจทำให้เกิดตุ่มหนอง และสามารถแพร่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ผ่านทางการเกา

    การทำความสะอาด เสื้อผ้ามือสอง อย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันโรคติดต่อ

    การจะป้องกันความเสี่ยงที่มาพร้อมกับเสื้อผ้ามือสอง สามารถทำได้โดยการ ทำความสะอาดเสื้อผ้ามือสองให้ถูกวิธี เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการรับสารก่อภูมิแพ้ ฝุ่นละออง เชื้อโรค และเชื้อปรสิตต่าง ๆ ที่อาจแฝงมาพร้อมกับเสื้อผ้ามือสอง โดยวิธีการทำความสะอาดเสื้อผ้ามือสองอย่างถูกต้อง มีดังต่อไปนี้

  • ทำความสะอาดเสื้อผ้า โดยการซักผ้าด้วยผงซักฟอก หรือน้ำยาซักผ้า ตามปกติ
  • แช่เสื้อผ้ามือสองไว้ในน้ำร้อน อุณหภูมิอย่างน้อย 60 องศาเซลเซียสขึ้นไป เป็นเวลาอย่างน้อย 20 นาที ถึง 1 ชั่วโมง การแช่เสื้อผ้าในน้ำร้อนจะช่วยกำจัดปรสิต เช่น หิด เหา ที่ติดมากับเสื้อผ้า
  • ใส่เสื้อผ้ามือสองที่ได้รับมาไว้ในถุงพลาสติกที่ปิดมิดชิด ทิ้งไว้อย่างน้อย 5-7 วัน เพื่อให้เชื้อโรคที่ติดมาตายหมด
  • หากว่าคุณซักทำความสะอาด ตากให้แห้งเรียบร้อย แล้วนำมาใส่ พยายามอย่าแกะหรือเกาผิวหนัง นอกจากนี้ หากคุณสังเกตพบอาการของโรคผิวหนัง ควรรีบติดต่อแพทย์ในทันที
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 14/03/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา