backup og meta

รู้ไว้ มลภาวะทางเสียง อาจเพิ่มความเสี่ยง โรคซึมเศร้า ไม่รู้ตัว

รู้ไว้ มลภาวะทางเสียง อาจเพิ่มความเสี่ยง โรคซึมเศร้า ไม่รู้ตัว

เสียงรบกวนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียงก่อสร้างที่ดังรบกวนในเช้าวันหยุดขณะที่คุณกำลังนอนหลับ หรือเสียงพูดคุยจอแจในเวลาที่คุณกำลังต้องการสมาธิ มลภาวะทางเสียงเหล่านี้แม้ว่าจะสร้างความรำคาญให้คุณ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ให้เป็นอันตรายอะไรจนต้องระมัดวัง แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า มลภาวะทางเสียง นั้นอาจทำให้เรากลายเป็นโรคซึมเศร้าได้โดยที่เราไม่รู้ตัว

อย่างไรจึงจะเรียกว่า มลภาวะทางเสียง

มลภาวะทางเสียงโดยทั่วไปแล้ว จะหมายถึงระดับเสียงที่ดังอย่างต่อเนื่อง และทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ได้ให้ข้อมูลว่า ระดับเสียงที่ต่ำกว่า 70 เดซิเบล นั้นจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ และระดับเสียงที่มากกว่า 85 เดซิเบลขึ้นไป หากฟังอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่า 8 ชั่วโมง อาจจะเป็นอันตรายได้ หากคุณต้องทำงานนานกว่า 8 ชั่วโมง ในบริเวณที่ใกล้เคียงกับสถานที่ที่มีเสียงรบกวน เช่น ติดถนน หรือติดกับไซต์ก่อสร้าง ก็อาจทำให้คุณได้รับอันตรายจากมลภาวะทางเสียงได้

มลภาวะทางเสียงที่คุณอาจจะพบเจอได้มีดังต่อไปนี้

  • เสียงการจราจรบนท้องถนน เช่น เสียงรถ เสียงแตร เสียงรถฉุกเฉิน
  • เสียงจากการก่อสร้าง เช่น เสียงขุดเจาะ หรือเสียงเครื่องจักรอื่นๆ
  • เสียงจากสนามบิน ในขณะที่เครื่องบินกำลังบินขึ้น หรือลงจอด
  • เสียงจากที่ทำงาน โดยเฉพาะหากทำงานในสถานที่ที่เปิดโล่ง
  • การฟังเสียงเพลงดังเป็นเวลานาน
  • เสียงจากโรงงานอุตสาหกรรม เช่น เสียงพัดลม หรือเครื่องจักร
  • เสียงจากสถานีรถไฟ
  • เสียงจากเครื่องใช้ในบ้าน เช่น เครื่องดูดฝุ่น เครื่องตัดหญ้า หรือการเปิดเพลงดังเป็นเวลานานๆ
  • เสียงจากพลุหรือดอกไม้ไฟ

มลภาวะทางเสียงเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้าอย่างไร

เสียงรบกวน หรือมลภาวะทางเสียงนั้นเป็นตัวการในการสร้างความรำคาญและความตึงเครียดทางสภาพแวดล้อม การเปิดรับกับมลภาวะทางเสียงในระดับที่ดังเกินกำหนด หรือเป็นเวลานาน มักจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทั้งทางร่างกาย และทางจิตใจ

มีงานวิจัยจำนวนมากที่พบว่า มลภาวะทางเสียงนั้นสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยการรบกวนการนอนหลับ และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดปกติ ระบบการเผาผลาญผิดปกติ และโรคหลอดเลือดสมอง

มีงานวิจัยที่ศึกษาในเรื่องของความเกี่ยวข้องระหว่างมลภาวะทางเสียงและสุขภาพจิต เช่น โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า พบว่า มลภาวะทางเสียงมีความเกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นของโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลมากเป็นสองเท่า เนื่องจากเสียงรบกวนเหล่านี้ จะเป็นตัวการสำคัญของการสร้างความรำคาญ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม

นอกจากนี้ปัญหาการนอนไม่หลับที่มาพร้อมกับมลภาวะทางเสียง จะทำให้ร่างกายและจิตใจเกิดความเครียดสะสม เนื่องจากร่างกายไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า

เราจะหลีกเลี่ยงมลภาวะทางเสียงได้อย่างไร

  • ปิดหน้าต่าง การปิดหน้าต่างจะช่วยลดเสียงรบกวนจากภายนอก ไม่ให้เข้ามาในบ้าน หรือในห้องที่คุณอยู่ คุณควรจะเปิดหน้าต่างก็ต่อเมื่อภายนอกไม่มีเสียงดังรบกวน
  • ใช้ที่อุดหู การสวมที่อุดหูเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการลดเสียงรบกวน คุณสามารถสวมที่อุดหูในขณะนอนหลับหรือเวลาที่ต้องการความเงียบสงบ ที่อุดหูนี้จะช่วยให้คุณสามารถนอนหลับได้โดยไม่ต้องเจอกับเสียงรบกวนตอนนอน
  • ติดตั้งแผ่นซับเสียงหรือฉนวนกันเสียง เพื่อป้องกันมลภาวะทางเสียงอย่างจริงจัง แผ่นซับเสียงและฉนวนกันเสียงนี้จะสามารถป้องกันมลภาวะทางเสียงไม่ให้เข้ามาหรือออกไปจากห้องได้เกือบทั้งหมด
  • สวมหูฟังที่ตัดเสียงรบกวน หูฟังขนาดใหญ่แบบครอบหูที่สามารถป้องกันเสียงรบกวนก็สามารถป้องกันคุณจากมลภาวะทางเสียงได้ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องทำงานอุตสาหกรรม และผู้ที่ต้องทำงานในบริเวณที่มีเสียงดัง

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Noise Annoyance Is Associated with Depression and Anxiety in the General Population- The Contribution of Aircraft Noise. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4873188/. Accessed 10 January 2020
What Is Noise Pollution? https://www.environmentalpollutioncenters.org/noise-pollution/. Accessed 10 January 2020
Noise pollution: not only an environmental hazard but also links to mental health. https://www.healtheuropa.eu/noise-pollution-environmental-hazard/88441/. Accessed 10 January 2020
20+ Easy and Practical Ways to Reduce Noise Pollution. https://www.conserve-energy-future.com/easy-and-practical-ways-to-reduce-noise-pollution.php. Accessed 10 January 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Sukollaban Khamfan


บทความที่เกี่ยวข้อง

เช็คด่วน 5 สัญญาณเตือน ที่บ่งบอกว่าคุณเป็น โรคซึมเศร้าจากเฟซบุ๊ก

เสียงดัง ที่ได้ยินในชีวิตประจำวัน ดังแค่ไหนถึงเป็นอันตราย


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา