backup og meta

วิธีการออกกำลังกาย สำหรับผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ รับรองอาการดีขึ้นแน่

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 16/12/2020

    วิธีการออกกำลังกาย สำหรับผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ รับรองอาการดีขึ้นแน่

    การออกกำลังกายถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่ดีที่สุด ที่ทำเพื่อให้ร่างกายได้แข็งแรงขึ้น แม้กระทั่งผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ก็สามารถออกกำลังกายได้ หากออกอย่างเหมาะสม วิธีการออกกำลังกาย สำหรับผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ นั้นช่วยลดอาการเจ็บปวด กระดูกดีขึ้น และช่วยให้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น วันนี้ Hello คุณหมอ มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการออกกำลังกายสำหรับผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มาฝากกันค่ะ

    วิธีการออกกำลังกาย สำหรับผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

    วิธีการออกกำลังกายเหล่านี้ จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์นั้น มีอาการปวดน้อยลง ลดความตึงที่ข้อต่อ และยังมีส่วนช่วยให้อาการอื่น ๆ ของโรคดีขึ้นด้วย

    การยืดเหยียด

    การยืดเหยียดช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับร่างกาย ช่วยลดความตึงของกล้ามเนื้อ และช่วยให้มีการเคลื่อนไหวได้มากขึ้น ซึ่งการยืดเหยียดในทุก ๆ วันเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะช่วยให้โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ดีขึ้น ซึ่งควรยืดเหยียดในแต่ละส่วนของร่างกายตามอาการ หากเรามีอาการปวดที่ส่วนไหนก็ควรยืดเหยียดที่ส่วนนั้น ซึ่งวิธีการยืดเหยียดด้วยทั่ว ๆ ไปมีดังนี้

    • เริ่มต้นด้วยการอบอุ่นร่างกายโดยการเดินหรือแกว่งแขนขณะนั่งหรือยืนเป็นเวลา 3 นาที
    • ยืดเหยียดบริเวณที่มีอาการปวดเป็นเวลา 10-20 วินาทีแล้วค่อย ๆ ผ่อนออก
    • ทำซ้ำแบบเดิม 2-3 เซต

    การเดิน

    การเดินเป็นวิธีการออกกำลังกายที่งานที่สุด เพราะไม่ต้องมีอุปกรณ์มากมาย เพียงรองเท้าหนึ่งคู่ก็สามารถเดินได้ ที่สำคัญการเดินนั้นช่วยให้สุขภาพหัวใจ ข้อต่อ และช่วยส่งเสริมให้อารมณ์นั้นดีขึ้นได้ แต่ก็ต้องคำนึงถึงการเลือกรองเท้า ให้มีความเหมาะสมในการเดิน เพื่อช่วยซัพพอร์ตเท้า นอกจากนี้ขณะที่เดินควรจิบน้ำอยู่เรื่อย ๆ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ โดยอาจจะเริ่มต้นด้วยการเดินอย่างช้า ๆ ก่อนแล้วค่อยเพิ่มความเร็วขึ้นเรื่อย ๆ หากทำได้

    การเล่นไทเก็กหรือโยคะ

    การเล่นไทเก็กหรือโยคะ เป็นการออกกำลังกายที่มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ผสมผสานไปกับการกำหนดลมหายใจ และมีส่วนช่วยในการฝึกสมาธิ ซึ่งการออกกำลังกายแบบนี้ จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น เพิ่มความสมดุล ช่วยให้เคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในการลดความเครียดได้อีกด้วย ทั้งไทเก็กและโยคะนั้นมีท่าสำหรับผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์โดยเฉพาะ

    พิลาทิส (Pilates)

    พิลาทิส เป็นการออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกกับข้อต่อน้อย และยังมีส่วนช่วยทำให้ข้อต่อและกล้ามเนื้อบริเวณรอบ ๆ นั้นแข็งแรงขึ้น ผู้ที่ไม่เคยเล่นพิลาทิสมาก่อน ควรเล่นพิลาทิสโดยการใช้เสื่อโยคะก่อนการใช้เครื่อง เพราะจะมีความปลอดภัยต่อกล้ามเนื้อมากกว่า

    การออกกำลังกายในน้ำ

    การออกกำลังกายในน้ำ น้ำช่วยในการพยุงน้ำหนัก ทำให้เวลาออกกำลังกายนั้นจะไม่กระทบกระเทือนข้อต่อมากนัก การว่ายน้ำ การเต้นแอโรบิคในน้ำ และการออกกำลังกายอื่น ๆ ในน้ำช่วยทำให้ร่างกายมีความยืดหยุ่นดีขึ้น มีการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น แข็งแรงมากขึ้น นอกจากนี้การออกกำลังกายในน้ำยังช่วยลดความตึงของข้อต่ออีกด้วย

    ข้อควรระวังในการออกกำลังกาย สำหรับผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

    ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ใช้กำลังมาก ๆ การออกกำลังกายที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือการออกกำลังกายที่ทำให้เกิดอาการตึงบริเวณข้อต่อ แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อกำหนดถึงประเภทของการออกกำลังกายที่ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยง เพราะการออกกำลังกายแต่ละประเภทในแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกัน การออกกำลังกายบางชนิดอาจสร้างความเจ็บปวดให้บางคน แต่สำหรับบางคนก็ไม่มีอาการเจ็บปวด ที่สำคัญควรคำนึงถึงอาการและขีดจำกัดของร่างกายตนเอง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 16/12/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา