backup og meta

ลูกแพร์ หวานฉ่ำ ชื่นใจ กรอบอร่อย และยังดีต่อสุขภาพด้วย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 14/10/2020

    ลูกแพร์ หวานฉ่ำ ชื่นใจ กรอบอร่อย และยังดีต่อสุขภาพด้วย

    ลูกแพร์ (Pear) เป็นผลไม้ที่หลายคนรู้สึกว่าคล้ายกับสาลี่เพราะว่ามีรสชาติที่ใกล้เคียงกัน แต่ความจริงแล้วสาลี่กับลูกแพร์เป็นผลไม้คนละสายพันธุ์กัน ลูกแพร์จะมีรสชาติออกหวานอมเปรี้ยว และมีความฉ่ำน้ำ จัดเป็นหนึ่งในผลไม้ที่หลายคนโปรดปราน แต่นอกจากความอร่อยแล้ว ลูกแพร์ก็ยังดีต่อสุขภาพด้วยนะ Hello คุณหมอ มีสาระดี ๆ เกี่ยวกับประโยชน์ดีๆ ของการกินลูกแพร์มาฝากค่ะ

    สารอาหารในลูกแพร์

    ลูกแพร์เป็นผลไม้ที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูงและอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญที่หลากหลาย ลูกแพร์ขนาดกลางหนึ่งผล (ประมาณ 178 กรัม) จะให้สารอาหารที่สำคัญ ดังนี้

    • พลังงาน  101 แคลอรี่
    • โปรตีน  1 กรัม
    • คาร์โบไฮเดรต  27 กรัม
    • ไฟเบอร์  6 กรัม
    • วิตามินซี  12 เปอร์เซ็นต์ต่อปริมาณวิตามินซีที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน
    • วิตามินเค  6 เปอร์เซ็นต์ต่อปริมาณวิตามินเคที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน
    • โพแทสเซียม  4 เปอร์เซ็นต์ต่อปริมาณโพแทสเซียมที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน
    • ทองแดง  16 เปอร์เซ็นต์ต่อปริมาณทองแดงที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน

    นอกจากนี้ ลูกแพร์ก็ยังโดดเด่นในการเป็นแหล่งของสารอาหารสำคัญอย่างโฟเลต ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์ และสร้างพลังงานให้แก่ร่างกาย มีวิตามินเอที่ช่วยในการบำรุงผิวพรรณ

    ไม่เพียงแค่สารอาหารสำคัญต่างๆ ที่ดีต่อร่างกายแล้ว ในลูกแพร์ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มของโพลีฟีนอล (Polyphenol) ซึ่งมีส่วนช่วยปกป้องเซลล์จากการถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระ เสริมให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง และเพื่อให้ร่างกายได้รับสารต้านอนุมูลอิสระอย่างเต็มที่ เวลากินลูกแพร์ควรที่จะกินทั้งเปลือก เพราะเปลือกของลูกแพร์มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าเนื้อของลูกแพร์ถึง 6 เท่าเลยทีเดียว

    ประโยน์ของ ลูกแพร์

    ดีต่อหัวใจ

    ลูกแพร์อุดมไปด้วยสารโพแทสเซียม ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่มีส่วนช่วยในการบำรุงสุขภาพหัวใจ เนื่องจากสารโพแทสเซียมจะทำหน้าที่ในการขยายหลอดเลือด จึงช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดความดันโลหิต ทำให้การไหลเวียนโลหิตในร่างกายทำได้อย่างเต็มที่ หัวใจสามารถสูบฉีดเลือดได้ดี จึงป้องกันความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

    ต้านมะเร็ง

    สารต้านอนุมูลอิสระในลูกแพร์ นอกจากจะช่วยปกป้องเซลล์จากอนุมูลอิสระและเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงแล้ว ผลการวิจัยหลายสถาบันก็แสดงให้เห็นว่า สารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มของ ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) และกรดซินนามิก (Cinnamic Acid) ที่พบได้ในลูกแพร์ มีส่วนช่วยลดอัตราการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในร่างกายได้

    ดีต่อลำไส้

    ลูกแพร์มีไฟเบอร์สูง ซึ่งมีทั้งไฟเบอร์แบบละลายน้ำได้และไฟเบอร์ที่ละลายในน้ำไม่ได้ การรับประทานไฟเบอร์เป็นประจำจะช่วยให้ลำไส้เกิดความสมดุลและทำการย่อยอาหารอย่างสม่ำเสมอ มากไปกว่านั้น ลูกแพร์ยังมีโพรไบโอติกซึ่งเป็นอาหารสำคัญที่มีประโยชน์ต่อลำไส้ด้วย

    การรับประทานลูกแพร์เป็นประจำจะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ ช่วยให้ลำไส้ดูดซึมสารอาหารได้ดีขึ้น อุจจาระนิ่มลง ดีต่อการขับถ่าย และป้องกันอาการท้องผูกได้ด้วย

    ดีต่อการลดน้ำหนัก

    นอกจากลูกแพร์จะเป็นผลไม้ที่ให้ไฟเบอร์สูงแล้ว ลูกแพร์ก็ยังจัดเป็นผลไม้ฉ่ำน้ำด้วย ซึ่งสำหรับผู้ที่กำลังลดน้ำหนักแล้ว การรับประทานลูกแพร์จะช่วยให้รู้สึกอิ่มได้ง่าย นานขึ้น และลดความอยากอาหารในมื้อต่อไป จึงดีต่อการลดน้ำหนักหรือการควบคุมอาหาร

    บำรุงกระดูก

    ไม่ใช่แค่การดื่มนมเท่านั้นที่ช่วยให้กระดูกแข็งแรง การรับประทานลูกแพร์เป็นประจำ ก็มีส่วนช่วยให้กระดูกแข็งแรงได้เช่นเดียวกัน เพราะลูกแพร์มีทั้งทองแดง แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมงกานีส และแมกนีเซียม ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญในการบำรุงกระดูก ช่วยลดการสูญเสียแร่ธาตุภายในกระดูก จึงสามารถป้องกันความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุน หรืออาการอักเสบที่เกี่ยวข้องกับกระดูกได้

    ข้อควรระวังในการรับประทานลูกแพร์

    แม้ลูกแพร์จะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่ก็มีข้อควรระวังบางประการ ดังนี้

    • ลูกแพร์มีน้ำตาลฟรุกโตสมากกว่าน้ำตาลกลูโคส จัดว่าเป็นอาหารในกลุ่ม FODMAPs ซึ่งเป็นกลุ่มอาหารที่มีองค์ประกอบของคาร์โบไฮเดรต น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว และน้ำตาลโมเลกุลคู่หลายชนิดรวมกัน การรับประทานอาหารอาหารในกลุ่ม FODMAPs ในปริมาณมาก จะเสี่ยงทำให้เกิดอาการลำไส้แปรปรวน (IBS) ได้ จึงควรกินลูกแพร์แต่พอดี
    • ผู้ที่มีอาการแพ้ลูกแพร์ ซึ่งถึงแม้จะพบได้น้อย แต่ถ้ามีอาการดังกล่าวควรหลีกเลี่ยงการรับประทานลูกแพร์ เพื่อป้องกันอาการแพ้กำเริบ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 14/10/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา