backup og meta

ตุ่ม PPE หรือตุ่มเอดส์ เมื่อเป็นแล้วควรดูแลตนเองอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 07/03/2023

    ตุ่ม PPE หรือตุ่มเอดส์ เมื่อเป็นแล้วควรดูแลตนเองอย่างไร

    ตุ่ม PPE เป็นอาการทางผิวหนังอย่างหนึ่งของผู้ติดเชื้อเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus หรือ HIV) อาจเรียกว่าตุ่มเอดส์ มีลักษณะเป็นตุ่มแดงขนาดเล็ก อาจทำให้รู้สึกคัน มักพบตามผิวหนังบริเวณนอกร่มผ้า เช่น ใบหน้า แขน ขา โดยทั่วไปตุ่ม PPE จะพบได้ในผู้ติดเชื้อเอชไอวีระยะที่ 2 ทั้งนี้ เมื่อไปพบคุณหมอ คุณหมออาจให้คนไข้รับประทานยาหรือทายาแก้แพ้ เพื่อรักษาอาการคัน

    ตุ่ม PPE คืออะไร

    PPE ย่อมาจาก Pruritic Papular Eruption หมายถึง ตุ่มแดงขนาดเล็กคล้ายตุ่มยุงกัด ก่อให้เกิดอาการคัน

    โดยปกติตุ่ม PPE มักพบได้ตามใบหน้า แขน หรือขาของผู้ติดเชื้อเอชไอวีซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเอดส์ ทำให้บางครั้งถูกเรียกว่า “ตุ่มเอดส์

    อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อโรคเอชไอวีบางรายอาจไม่มีตุ่ม PPE ขึ้นตามร่างกาย เนื่องจากตุ่ม PPE มักพบในผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 ซึ่งทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม ลดจำนวนลงจนเหลือน้อยกว่า 200 ต่อเลือด 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร

    ตุ่ม PPE อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาจเกิดจากการติดเชื้อเอชไอวี การใช้ยาบางชนิด ภาวะภูมิต้านตนเองหรือโรคพุ่มพวง รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองผิดปกติเมื่อโดนแมลงกัดต่อย

    ทั้งนี้ตุ่ม PPE พบมากบ่อยในผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ประเทศเขตร้อน เช่น ไทย เฮติ บราซิล อินเดีย เนื่องจากมีแมลงมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งอาจกัดหรือต่อยผู้ติดเชื้อเอชไอวีแล้วก่อให้เกิดตุ่ม PPE ขึ้นตามร่างกาย

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของตุ่ม PPE ในผู้ติดเชื้อเอชไอวี ตีพิมพ์ในวารสาร Indian Journal of Sexually Transmitted Diseases and AIDS ปี พ.ศ. 2562 นักวิจัยได้ศึกษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีตุ่ม PPE ขึ้นตามร่างกายมาแล้วหนึ่งเดือน พบว่า 97 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยมีประวัติถูกยุงกัด

    ดังนั้น ยุงกัดอาจเป็นสาเหตุหนึ่งให้เกิดตุ่ม PPE เกิดขึ้นตามร่างกายผู้ป่วยเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อเอชไอวีตอบสนองอย่างผิดปกติเมื่อโดนแมลงกัดต่อย

    ปกติแล้ว เมื่อมีตุ่ม PPE ขึ้นตามร่างกาย ผู้ติดเชื้อเอชไอวีอาจมีอาการเหล่านี้เกิดร่วมด้วย

    • ไข้ขึ้น
    • เจ็บคอ
    • เหนื่อยล้า หมดแรง
    • ปวดเมื่อยตามตัว
    • ปวดตามข้อ
    • ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต
    • มีฝ้าขาวในช่องปาก

    ตุ่ม PPE รักษาได้หรือไม่

    หากมีอาการทางผิวหนังที่มีลักษณะเดียวกับตุ่ม PPE ควรไปพบคุณหมอ โดยคุณหมอมักขอเจาะเลือดเพื่อตรวจหาเชื้อเอชไอวี และตรวจจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 เพื่อยืนยันอาการของตุ่ม PPE

    หากผลการตรวจยืนยันว่าเป็นตุ่ม PPE ไม่ใช่อาการทางผิวหนังอื่น ๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียง อย่างสิวหรือรูขุมขนอักเสบ คุณหมอจะเลือกรักษาเพื่อบรรเทาอาการคันด้วยวิธีการต่อไปนี้

    • ให้รับประทานยาต้านฮิสตามีน (Antihistamines)
    • ให้ทายาสเตียรอยด์ หรือยาทาโครลิมัส (Topical tacrolimus)
    • ให้เข้ารับการรักษาโดยการส่องไฟ

    นอกจากนี้ หากตุ่ม PPE เกิดจากการใช้ยาบางชนิด คุณหมอมักแนะนำให้หยุดใช้ยาชนิดนั้น ๆ

    ตุ่ม PPE เมื่อเป็นแล้ว ควรดูแลตัวเองอย่างไร

    นอกเหนือจากการใช้ยารักษาตามคำแนะนำของคุณหมอ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีควรดูแลตัวเองเมื่อมีตุ่ม PPE ขึ้นตามผิวหนัง ดังนี้

    • หลีกเลี่ยงการเกาตุ่ม PPE เพื่อป้องกันการเกิดบาดแผล และการติดเชื้อเพิ่ม
    • ควรอาบน้ำอุณหภูมิปกติ หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อนหรือเย็นจัดเพราะอาจทำให้ผิวแห้งหรือรู้สึกคันตามร่างกายมากกว่าเดิม
    • ทามอยส์เจอร์ไรเซอร์เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวและป้องกันผิวแห้งแตก
    • พยายามให้ผิวโดนแสงแดดน้อยที่สุด และควรทาครีมกันแดดที่มี SPF อย่างน้อย 50 ขึ้นไปเป็นประจำก่อนออกจากบ้าน เนื่องจากผิวหนังของผู้ป่วยมักไวต่อแสงมากกว่าปกติ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 07/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา