backup og meta

ตกขาวสีดำ เกิดจากอะไร มีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง

ตกขาวสีดำ เกิดจากอะไร มีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง

ตกขาวสีดำ อาจเป็นตกขาวที่ปนกับเลือด ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจาก ประจำเดือนตกค้าง ประจำเดือนมาน้อยในช่วงวันแรกหรือใกล้หมดประจำเดือน แต่หากมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น เจ็บแสบช่องคลอดขณะปัสสาวะและมีเพศสัมพันธ์ คันรอบนอกช่องคลอด ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของการติดเชื้อในช่องคลอดหรือมะเร็งปากมดลูกได้

[embed-health-tool-ovulation]

ตกขาวสีดำ เกิดจากอะไร 

ตกขาวสีดำ คือตกขาวปนเลือด ที่มีอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

  • ประจำเดือน

ในช่วงแรกที่ประจำเดือนมาและช่วงใกล้หมดประจำเดือน อาจมีเลือดตกค้างที่ใช้เวลานานกว่าจะขับออกจากช่องคลอดทำให้เลือดที่ออกมามีสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ ซึ่งหากมีตกขาวร่วมด้วยก็อาจส่งผลให้มีตกขาวสีดำ นอกจากนี้ หากมีประจำเดือนมาไม่ปกติ มีเลือดออกกะปริบกะปรอย และมีประจำเดือนตกค้างภายในช่องคลอด ก็อาจส่งผลให้มีตกขาวสีดำได้เช่นกัน

  • สิ่งแปลกปลอมอยู่ภายในช่องคลอด

ตกขาวสีดำอาจเป็นสัญญาณเตือนว่ามีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ภายในช่องคลอด เช่น ถุงยางอนามัย ผ้าอนามัยแบบสอด อุปกรณ์คุมกำเนิด จนส่งผลให้เยื่อบุช่องคลอดระคายเคือง มีแผล และอาจนำไปสู่การติดเชื้อ

ตกขาวสีดำอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัสและเชื้อราในช่องคลอดผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม เริม หูดหงอนไก่ โรคพยาธิในช่องคลอด ซึ่งควรรักษาอย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ปวดกระดูกเชิงกรานเรื้อรังและภาวะมีบุตรยาก

  • การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร

ตกขาวสีดำอาจเกิดขึ้นเนื่องจากตัวอ่อนฝังตัวลงบนผนังมดลูก ทำให้มีเลือดออกจากช่องคลอดไหลปนกับตกขาว หรืออาจเป็นสัญญาณเตือนของการแท้งบุตร นอกจากนี้ คุณแม่หลังคลอดอาจมีลิ่มเลือดตกค้างจากการคลอดทำให้ตกขาวมีสีแดง สีชมพู สีน้ำตาลหรือตกขาวสีดำได้ โดยปกติแล้วมักเกิดขึ้นช่วงหลังคลอดบุตร 4-6 สัปดาห์

  • โรคมะเร็งปากมดลูก

ตกขาวสีดำอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งปากมดลูก โดยในระยะแรกอาจมีอาการตกขาวสีใสเป็นน้ำ และอาจมีกลิ่นเหม็น เมื่อเวลาผ่านไปอาจมีเลือดปนและเปลี่ยนเป็นตกขาวสีน้ำตาลหรือตกขาวสีดำออกมาทางช่องคลอด

ตกขาวสีดํา อันตรายไหม

อาการตกขาวสีดำ อาจเป็นเรื่องปกติทั่วไปที่ผู้หญิงส่วนใหญ่พบเจอในช่วงระยะแรกที่ประจำเดือนมาหรือหมดประจำเดือน แต่หากมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ควรเข้าพบคุณหมอทันที โดยสามารถสังเกตได้ดังนี้

  • ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น
  • อาการคันในช่องคลอดและรอบนอกช่องคลอด
  • ปัสสาวะลำบาก
  • ผื่นหรือตุ่มขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ
  • เจ็บแสบช่องคลอดขณะปัสสาวะ หรือมีเพศสัมพันธ์
  • ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ 
  • ปวดท้องน้อยรุนแรงหรือปวดอุ้งเชิงกราน ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับภาวะแท้งบุตรหรือมะเร็งปากมดลูก

ตกขาวสีดํา วิธีรักษา

วิธีรักษาตกขาวสีดำ อาจแตกต่างกันออกไปตามสาเหตุที่ทำให้เกิดตกขาวสีดำ ดังต่อไปนี้

  • สำหรับผู้ที่มีตกขาวสีดำเนื่องจากประจำเดือนมาไม่ปกติและฮอร์โมนไม่สมดุล คุณหมออาจรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัด เพื่อช่วยให้ประจำเดือนมาตามปกติ ป้องกันประจำเดือนตกค้าง
  • สำหรับผู้ที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด อาจใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
  • สำหรับผู้ที่มีภาวะแท้งบุตร คุณหมออาจจำเป็นต้องนำทารกที่หยุดการเจริญเติบโตออกและขูดมดลูกเก่าทิ้ง เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อและป้องกันภาวะเสียเลือดมากที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
  • สำหรับผู้ที่มีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ในช่องคลอด ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อนำสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ออก
  • สำหรับผู้ที่เป็นมะเร็งปากมดลูก คุณหมออาจรักษาด้วยการฉายรังสี เคมีบำบัดหรือการผ่าตัด เพื่อชะลอการเจริญเติบโตเซลล์มะเร็งหรือกำจัดเซลล์มะเร็ง

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันตกขาวสีดำ

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันตกขาวสีดำ อาจทำได้ดังนี้

  • บันทึกและตั้งแจ้งเตือนกำหนดวันที่ควรเปลี่ยนอุปกรณ์คุมกำเนิด เพื่อป้องกันการลืมเปลี่ยน
  • ทำความสะอาดอวัยวะเพศด้วยการใช้สบู่สูตรอ่อนโยน และซับให้แห้งสนิทโดยใช้ทิชชูหรือผ้าสะอาดเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลังทวารหนัก เพื่อไม่ให้สัมผัสกับเชื้อโรคในบริเวณทวารหนัก
  • เลือกกางเกงชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้ายที่ระบายความอับชื้นได้ดี ป้องกันไม่ให้เชื้อแบคทีเรียและเชื้อราเจริญเติบโตมากเกินไปที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อในช่องคลอดและตกขาวสีดำ
  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ลีกเลี่ยงการใช้เซ็กส์ทอยร่วมกับผู้อื่น และควรทำความสะอาดก่อนทุกครั้งก่อนใช้งานและหลังใช้งานเสร็จ
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เช่น การเข้ารับการรักษามะเร็ง การรับประทานยารักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตรวจคัดกรองโรค และตรวจสุขภาพขณะตั้งครรภ์สม่ำเสมอ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Vaginal discharge. https://www.nhs.uk/conditions/vaginal-discharge/.Accessed September 27, 2022  

Vaginal Discharge: What’s Abnormal?. https://www.webmd.com/women/guide/vaginal-discharge-whats-abnormal.Accessed September 27, 2022  

Vaginal discharge. https://www.mayoclinic.org/symptoms/vaginal-discharge/basics/when-to-see-doctor/sym-20050825.Accessed September 27, 2022  

Vaginal discharge in pregnancy. https://www.nhs.uk/pregnancy/related-conditions/common-symptoms/vaginal-discharge/.Accessed September 27, 2022  

Vagina: What’s typical, what’s not. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/womens-health/in-depth/vagina/art-20046562.Accessed September 27, 2022  

เวอร์ชันปัจจุบัน

03/04/2024

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีรักษาตกขาว และการดูแลสุขภาพช่องคลอด

ตกขาวเป็นน้ำใสๆ เกิดจากอะไร ผิดปกติหรือไม่


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 03/04/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา