ยาขับเลือด เป็นยาสตรีแผนโบราณที่ประกอบด้วยสมุนไพรหลายชนิด มีทั้งชนิดน้ำและชนิดเม็ดสำหรับรับประทาน สรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย ปรับสมดุลฮอร์โมน ปรับการหมุนเวียนโลหิต และช่วยให้ประจำเดือนมาปกติ ซึ่งหากรับประทานยาขับเลือดอย่างถูกวิธีก็จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพผู้หญิงมากมาย แต่หากรับประทานผิดก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาวได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ก่อนรับประทานยาทุกชนิดควรขอคำปรึกษาจากคุณหมอ เพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากยา
[embed-health-tool-ovulation]
ยาขับเลือด คืออะไร
ยาขับเลือด หรือที่หลายคนอาจรู้จักกันในชื่อของ ยาสตรี เป็นยาสมุนไพรที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรหลายชนิด เช่น ขิง ดีปรี พริกไทย น้ำมันสะระแหน่ ดอกคำฝอย ชะเอม โกฐเชียง โกฐหัวบัว กิ่งอบเชย ว่านชักมดลูก กวาวเครือขาว เทียนดำ เทียนแดง ซึ่งมีสรรพคุณในการช่วยบำรุงร่างกาย และอื่น ๆ ดังนี้
- บำรุงโลหิต กระตุ้นเลือดลมให้ไหลเวียนดี
- บรรเทาอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ
- ช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งสดใส
- ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย
- ช่วยบรรเทาอาการตกขาว
- ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น
- ช่วยขับน้ำคาวปลา
โดยสมุนไพรในยาขับเลือดมีคุณสมบัติคล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน ที่ช่วยในการสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกให้หนาขึ้น และเมื่อไม่มีการตั้งครรภ์เยื่อบุโพรงมดลูกจะลอกและสลายตัวกลายเป็นเลือดประจำเดือน ส่งผลให้ผู้หญิงประจำเดือนมาปกติมากขึ้น
ยาขับเลือด ใช้อย่างไร
ปัจจุบันยาขับเลือดมี 2 ชนิดให้เลือกรับประทานได้ตามความสะดวก คือ ชนิดน้ำและชนิดเม็ด โดยแต่ละชนิดอาจมีวิธีรับประทานที่แตกต่างกัน ดังนี้
- ยาขับเลือดชนิดน้ำ รับประทานครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ วันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้าและเย็น
- ยาขับเลือดชนิดเม็ด รับประทานครั้งละ 1-2 แคปซูล วันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้าและเย็น
อย่างไรก็ตาม ส่วนประกอบของยาแต่ละยี่ห้ออาจมีปริมาณไม่เท่ากัน ขนาดของยาที่เหมาะสมจึงอาจแตกต่างกันด้วย จึงควรอ่านวิธีรับประทานยาขับเลือดที่ระบุมาในบรรจุภัณฑ์ หรือสอบถามคุณหมอเพื่อให้สามารถรับประทานยาได้อย่างเหมาะสม
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับยาขับเลือด
บางคนยังอาจมีความเข้าใจผิดว่า การรับประทานยาขับเลือดในขณะที่ท้องอ่อน ๆ อาจช่วยทำแท้งได้ ซึ่งในความจริงแล้ว ไม่ว่าจะรับประทานยาขับเลือดในช่วงอายุครรภ์ไหนก็ไม่สามารถทำให้แท้งได้ แม้ว่าจะกินยาในปริมาณมากก็ตาม ในทางกลับกันสมุนไพรในยาขับเลือดมีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งดีต่อการตั้งครรภ์ จึงอาจช่วยบำรุงสุขภาพครรภ์และอาจทำให้การตั้งครรภ์ง่ายขึ้น
ผู้ที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาขับเลือด
ผู้ที่มีภาวะทางสุขภาพร่างกายบางอย่างควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาขับเลือด ดังนี้
- ผู้ที่ตั้งครรภ์
- ผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด หรือลิ่มเลือดอุดตัน
- ผู้ที่มีก้อนซีสต์ที่เต้านม และรังไข่
- ผู้ป่วยมดลูกอักเสบ
- ผู้ที่ติดเชื้อในช่องคลอด
- ผู้ที่เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ
ผู้ที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ หากรับประทานยาขับเลือดเข้าไปอาจทำให้การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายผิดปกติ ส่งผลให้มีอาการกำเริบรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ ยังอาจสะสมพิษในอวัยวะภายในร่างกายได้
ข้อควรระวังในการใช้ยาขับเลือด
การรับประทานยาขับเลือดที่ไม่ถูกต้อง อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนี้
- อาจทำให้มีอาการตกขาวมากขึ้นและเป็นเวลานาน
- อาจเสี่ยงทำให้โพรงมดลูก ช่องคลอดและปากมดลูกอักเสบ
- อาจเสี่ยงทำให้ทารกในครรภ์จะมีภาวะพิการแต่กำเนิด เนื่องจากในยาขาบเลือดมีส่วนประกอบของรากเจตมูลเพลิงแดงและแอลกอฮอล์ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
- ผู้ที่ใช้ยาขับเลือดติดต่อกันเป็นเวลานาน 3-6 เดือน อาจเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการติดสุราเรื้อรัง เนื่องจากยาขับเลือดมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ที่อาจส่งผลกระทบต่อตับได้
- อาจเสี่ยงในเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งโพรงมดลูก หรือเนื้องอกบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น ปากมดลูก มดลูก รังไข่
- อาจเสี่ยงในเกิดโรคบางอย่าง เช่น ถุงน้ำหรือซีสต์ที่เต้านมและรังไข่ โรคช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate Cyst) เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่