backup og meta

รีแพร์ กระชับช่องคลอด เหมาะกับใคร มีความเสี่ยงอย่างไร

รีแพร์ กระชับช่องคลอด เหมาะกับใคร มีความเสี่ยงอย่างไร

รีแพร์ (Repair) เป็นการผ่าตัดตกแต่งช่องคลอดเพื่อซ่อมแซมกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อที่หย่อนยานก่อนวัยอันควร เนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้งเป็นเวลานาน การตั้งครรภ์ การคลอดบุตรหลายคน การทำรีแพร์อาจช่วยให้ช่องคลอดกระชับและเล็กลง ส่งผลให้การหดรัดตัวของช่องคลอดดีขึ้น

[embed-health-tool-ovulation]

รีแพร์ คืออะไร

รีแพร์ คือ การผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อที่หย่อนยานบริเวณช่องคลอด รวมทั้งเนื้อเยื่อและผิวหนังบริเวณปากช่องคลอดให้มีขนาดเล็กลง กระชับขึ้น ส่งผลให้การหดรัดตัวของช่องคลอดดีขึ้น โดยการทำรีแพร์อาจเหมาะกับผู้ที่มีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้งเป็นเวลานาน การตั้งครรภ์ การคลอดทางช่องคลอด การคลอดบุตรหลายคน ทารกในครรภ์มีขนาดตัวใหญ่ มีภาวะอ้วน วัยทอง เป็นต้น ซึ่งภาวะช่องคลอดหย่อนยานอาจส่งผลต่อความมั่นใจเมื่อต้องมีเพศสัมพันธ์ ทั้งยังอาจทำให้เกิดปัญหา เช่น กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะเล็ดเมื่อไอหรือจาม

รีแพร์ เหมาะสำหรับใคร

การทำรีแพร์อาจเหมาะกับผู้ที่มีพฤติกรรมบางอย่างหรือเกิดจากปัจจัยสุขภาพที่ทำให้ช่องคลอดหลวมหรือเกิดภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อน  ได้แก่

  • มีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้งเป็นเวลานาน
  • การตั้งครรภ์ การคลอดทางช่องคลอด การคลอดบุตรหลายคน ทารกในครรภ์มีขนาดตัวใหญ่
  • อายุมากขึ้น วัยทอง
  • มีภาวะอ้วน
  • ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมที่ออกแรงเกร็งท้องเป็นประจำ เช่น ยกของหนัก เล่นกีฬา ออกกำลังกายอย่างหนัก
  • โรคประจำตัวบางอย่าง เช่น ไอเรื้อรัง จาม ท้องผูกเรื้อรัง มีก้อนเนื้อในช่องท้อง

รีแพร์ ทำแล้วอยู่ถาวรหรือไม่

การทำรีแพร์เป็นวิธีที่ช่วยกระชับช่องคลอด โดยอาจเริ่มเห็นผลตั้งแต่ครั้งแรกที่ทำ ซึ่งอาจช่วยให้ช่องคลอดกระชับได้นาน 8-12 เดือน และสามารถกลับมาทำซ้ำได้ตามต้องการ แต่ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อยประมาณ 6 เดือน

หลังจากทำรีแพร์ไปแล้วอาจยังมีโอกาสที่ช่องคลอดจะกลับมาหลวมหรือหย่อนยานได้อีก ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยบางอย่าง เช่น การมีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้ง การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเมื่ออายุมากขึ้น พฤติกรรมที่ทำให้เกิดการเกร็งและแรงดันอย่างการไอเรื้อรัง ท้องผูก การยกของหนัก เป็นต้น

ขั้นตอนการผ่าตัดรีแพร์

ขั้นตอนการผ่าตัดทำรีแพร์มักมีดังนี้

  1. คุณหมอจะให้ยาชาหรือยาสลบเพื่อป้องกันความรู้สึกเจ็บปวด
  2. คุณหมอจะเริ่มกรีดที่ผนังด้านหน้าช่องคลอดเพื่อปรับตำแหน่งกระเพาะปัสสาวะหรือท่อปัสสาวะไปยังตำแหน่งที่เหมาะสม
  3. คุณหมอผ่าตัดเย็บเนื้อเยื่อระหว่างช่องคลอด ตัดและตกแต่งเนื้อเยื่อช่องคลอดบางส่วนเพื่อช่วยกระชับกล้ามเนื้อช่องคลอดและเอ็นยึดช่องคลอด
  4. หลังการผ่าตัดเสร็จเรียบร้อย คุณหมอจะให้นอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลเป็นระยะเวลาหลายวันขึ้นอยู่กับการสมานตัวของบาดแผลของแต่ละคน โดยคุณหมออาจเย็บแผลด้วยไหมละลายอาจใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ จนไหมละลายหมด ในบางคนหลังการผ่าตัดอาจต้องใช้สายสวนเพื่อช่วยในการปัสสาวะเป็นเวลา 2-3 วัน จึงกลับมาปัสสาวะได้ตามปกติ

ความเสี่ยงของการทำรีแพร์

การทำรีแพร์อาจทำให้เกิดความเสี่ยง ดังนี้

  • การแพ้ยาชา ซึ่งอาจเกิดขึ้นในบางคน
  • อาจเจ็บปวดมาก เสียเลือดมาก
  • การติดเชื้อที่แผลผ่าตัดทางช่องคลอด การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
  • ผนังกระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้อาจทะลุ
  • อาจเจ็บปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • อาจมีอาการชาหรือสูญเสียความรู้สึกบริเวณอวัยวะเพศ
  • อวัยวะเพศอาจผิดรูป
  • อาจเกิดรอยแผลเป็น
  • อาจเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก ทำให้ลิ่มเลือดเคลื่อนที่ไปยังปอดซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนของบาดแผล เช่น การติดเชื้อ ที่อาจทำให้รอยเย็บเปิดและช่องคลอดหลวมได้
  • อาจไม่สามารถรักษาปัญหาช่องคลอดหย่อนยานได้แม้ว่าจะผ่านการผ่าตัดมาแล้ว
  • ความรู้สึกขณะมีเพศสัมพันธ์อาจเปลี่ยนไป บางคนอาจมีความรู้สึกระหว่างมีเพศสัมพันธ์ที่น้อยลง
  • การทำงานของลำไส้อาจเปลี่ยนแปลงไป เช่น บางคนอาจมีอาการท้องผูกหลังการผ่าตัด

การดูแลตัวเองหลังทำรีแพร์

การดูแลตัวเองหลังทำรีแพร์ อาจสามารถทำได้ดังนี้

  • หลังการผ่าตัดอาจต้องพักฟื้นประมาณ 2-3 สัปดาห์ หรือ 2-3 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริเวณและแผลที่เกิดจากการผ่าตัดช่องคลอด
  • งดการมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 2 เดือน
  • งดออกกำลังกายอย่างน้อย 1 เดือน และพยายามเคลื่อนไหวร่างกายให้น้อยที่สุด เพื่อลดการบาดเจ็บและป้องกันแผลเย็บอักเสบ
  • ทำความสะอาดอวัยวะเพศด้วยน้ำสะอาดทั้งเช้าและเย็น รวมถึงหลังปัสสาวะและอุจจาระทุกครั้ง
  • สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ แต่ควรงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงดการสูบบุหรี่
  • ออกกำลังกายอุ้งเชิงกราน โดยการฝึกขมิบช่องคลอดอย่างน้อยวันละ 10 ครั้ง และค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามความต้องการ
  • เข้าพบคุณหมอตามนัดหมายเพื่อตรวจแผล และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

FEMALE GENITAL TRACT SURGERY. https://www.bapras.org.uk/public/patient-information/surgery-guides/female-genital-tract-surgery. Accessed July 17, 2023.

Anterior Vaginal Repair. https://www.yourpelvicfloor.org/conditions/anterior-vaginal-repair/. Accessed July 17, 2023.

Vaginoplasty and Labiaplasty. https://www.webmd.com/women/guide/vaginoplasty-and-labiaplasty-procedures. Accessed July 17, 2023.

Anterior vaginal wall repair. https://medlineplus.gov/ency/article/003982.htm. Accessed July 17, 2023.

Surgical Repair of the Genital Hiatus: A Narrative Review. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/33606054/. Accessed July 17, 2023.

Anterior Vaginal Wall Repair without the use of mesh. https://www.nth.nhs.uk/content/uploads/2020/01/NATLEAFLET-Anterior-repair-BSUG-2018.pdf. Accessed July 17, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

17/07/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ความหลากหลายทางเพศ และปัญหาสุขภาพ

การเปลี่ยนแปลงทางเพศ เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น มีอะไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 17/07/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา