backup og meta

วิธีรักษาตกขาวปนเลือด ทำได้อย่างไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

    วิธีรักษาตกขาวปนเลือด ทำได้อย่างไรบ้าง

    ตกขาวปนเลือด (Bloody Vaginal Discharge) เป็นอาการตกขาวผิดปกติ ที่อาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะสุขภาพบางประการ วิธีรักษาตกขาวปนเลือด และอาการตกขาวผิดปกติอื่น ๆ เช่น มีกลิ่นเหม็น เปลี่ยนเป็นสีเหลือง เขียว น้ำตาล จะแตกต่างไปตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ ผู้ที่มีปัญหาควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาให้หายโดยเร็ว

    สาเหตุ และ วิธีรักษาตกขาวปนเลือด

    โดยทั่วไป ตกขาวจะมีลักษณะเป็นของเหลว ใส ทำหน้าที่หล่อลื่นช่องคลอด ช่วยรักษาความสะอาดและป้องกันการติดเชื้อในช่องคลอด หากตกขาวปนเลือดควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ เพราะสาเหตุของตกขาวปนเลือดนั้นมีด้วยกันหลายประการ วิธีรักษาตกขาวปนเลือด จึงแตกต่างกันไปตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ เช่น

    • ความผิดปกติของฮอร์โมน

    ระดับฮอร์โมนที่แปรปรวนอาจทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือนในช่วงวันอื่น ๆ ที่ไม่ใช่วันมีประจำเดือนตามรอบเดือน จึงส่งผลให้มีตกขาวปนเลือดได้ ซึ่งอาจพบได้บ่อยในวัยรุ่นที่เพิ่งมีประจำเดือนและผู้หญิงวัยใกล้หมดประจำเดือน

    วิธีรักษา อาการที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอาจบรรเทาลงได้ด้วยการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมโดยการควบคุมอาหาร ลดการกินจุกจิบ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้น้ำหนักลดลงและทำให้ฮอร์โมนกลับมาสมดุล เพราะน้ำหนักที่มากเกินไปมักทำให้ระดับฮอร์โมนแปรปรวนได้

    • การตั้งครรภ์

    เมื่อตั้งครรภ์ กระบวนการตกไข่จะหยุดทำงาน ทำให้ไม่มีประจำเดือนตลอดการตั้งครรภ์ และร่างกายจะผลิตมูกปากมดลูก (Mucus plug) อุดบริเวณปากมดลูกไว้เพื่อป้องกันเชื้อโรค เช่น เชื้อแบคทีเรีย เข้าสู่มดลูกจนทำให้ทารกในครรภ์ติดเชื้อ เมื่อถึงช่วงใกล้คลอด ปากมดลูกจะหดและขยายตัว ส่งผลให้เส้นเลือดบริเวณปากมดลูกแตก ทำให้มีเลือดไหลปนออกมากับมูกปากมดลูก เรียกว่า มูกเลือด (Bloody show) ลักษณะคล้ายตกขาวปนเลือด โดยมูกเลือดอาจไหลออกมาก่อนคลอดประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรืออาจออกมาพร้อม กับน้ำคร่ำ ในช่วงที่เรียกว่าน้ำเดิน

    นอกจากนี้ ตกขาวปนเลือดในช่วงระยะสุดท้ายของการตั้งครรภ์ยังอาจเกิดขึ้นร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น ปวดท้อง เป็นตะคริว มดลูกหดรัดตัว

    วิธีรักษา เป็นอาการตามธรรมชาติก่อนเข้าสู่กระบวนการคลอดที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา

    • การคุมกำเนิด (Birth Control)

    การคุมกำเนิดในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine device หรือ IUD) เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์และรักษาภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ อาจส่งผลให้มีตกขาวปนเลือดในช่วงที่ไม่ได้เป็นประจำเดือน

    วิธีรักษา ปรึกษาคุณหมอเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีคุมกำเนิดให้เหมาะสมขึ้น เพื่อป้องกันอาการเลือดออกผิดปกติ

    • วัยหมดประจำเดือนและการบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทน

    โดยทั่วไป ผู้หญิงในระยะก่อนหมดประจำเดือน (Perimenopause ) จะมีประจำเดือนมาไม่ปกติเป็นเวลาหลายเดือนหรือเป็นปี อาการที่พบบ่อย คือ ประจำเดือนมาน้อยและดูคล้ายกับตกขาวปนเลือด นอกจากนี้ การบำบัดอาการของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนด้วยฮอร์โมนทดแทน (Hormone replacement therapy หรือ HRT) ก็อาจทำให้มีตกขาวปนเลือดได้เช่นกัน

    วิธีรักษา ไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากอาการเลือดออกหรือตกขาวปนเลือด อาจเป็นสัญญาณของภาวะสุขภาพอื่น ๆ เช่น ภาวะเลือดออกหลังวัยหมดระดู (Postmenopausal bleeding) โรคมะเร็งมดลูก (Uterine Cancer)

    • โรคทางต่อมไทรอยด์ (Thyroid disease)

    อาการประจำเดือนผิดปกติที่ทำให้มีตกขาวปนเลือดออกมาจากช่องคลอดในช่วงที่ไม่เป็นประจำเดือน อาจเกิดจากโรคต่อมไทรอยด์ เนื่องจากต่อมไทรอยด์ที่มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเต้นของหัวใจไปจนถึงรอบเดือน หากต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ก็อาจส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติได้

    วิธีรักษา การรักษาโรคต่อมไทรอยด์อาจทำได้ด้วยการใช้ยาและการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับอายุ ความรุนแรงของอาการ และปัจจัยอื่น ๆ จึงควรปรึกษาคุณหมอเพื่อหาวิธีรักษาที่เหมาะสมกับภาวะสุขภาพของตัวเอง

    เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมน ส่งผลให้เกิดก้อนซีสต์หรือถุงน้ำขนาดเล็กจำนวนมากในรังไข่ จนกระทบต่อการทำงานของรังไข่ ทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ และอาจมีตกขาวปนเลือด ร่วมกับมีอาการอื่น ๆ เช่น มีขนขึ้นดกตามร่างกาย

    วิธีรักษา คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยาคุมกำเนิด การบำบัดด้วยฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin Therapy) เพื่อให้ประจำเดือนกลับมาเป็นปกติ นอกจากนี้ยังอาจสั่งจ่ายยาที่ช่วยปรับปรุงรอบการตกไข่และยาที่ช่วยลดขนตามร่างกาย

    • การติดเชื้อ

    อาการตกขาวปนเลือด อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อโรคอื่น ๆ บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ รวมไปถึงการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ เช่น

    • ภาวะช่องคลอดอักเสบ (Vaginitis) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือเชื้อโปรโตซัวภายในช่องคลอด ทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อน คันระคายเคืองภายในช่องคลอด มีตกขาวปนเลือด
    • ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease: PID) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อคลาไมเดีย ภายในอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้หญิง อาจทำให้มีเลือดออกผิดปกติในช่วงที่ไม่ได้เป็นประจำเดือนและหลังมีเพศสัมพันธ์
    • โรคหนองในแท้ (Gonorrhea) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียไนซีเรียโกโนเรีย (Neisseria gonorrhoeae) อาจทำให้มีตกขาวปนเลือดในช่วงไม่มีประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ ตกขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว
    • โรคหนองในเทียม (Chlamydia) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียคลามัยเดีย (Chlamydia Trachomatis) อาจทำให้มีเลือดออกจากช่องคลอดในช่วงที่ไม่เป็นประจำเดือนและหลังมีเพศสัมพันธ์ ร่วมกับอาการปวดท้องส่วนล่างและเจ็บขณะถ่ายปัสสาวะ

    วิธีรักษา คุณหมอจะส่งตัวอย่างตกขาวปนเลือดไปตรวจหาชนิดของเชื้อ และรักษาด้วยยา เช่น ยาเม็ดปฏิชีวนะ ยาปฏิชีวนะชนิดฉีด ยาสอดช่องคลอด ตามชนิดและความรุนแรงของเชื้อที่ทำให้มีตกขาวปนเลือด

    วิธีดูแลตัวเองเมื่อมีตกขาวปนเลือด

    วิธีดูแลตัวเองเมื่อมีตกขาวปนเลือด หรือมีตกขาวผิดปกติในลักษณะอื่น ๆ อาจทำได้ดังนี้

    • หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอดหรือการทำความสะอาดช่องคลอดด้วยการฉีดน้ำเปล่าหรือน้ำยาฆ่าเชื้อราเข้าไปในช่องคลอด เพราะอาจไปลดปริมาณแบคทีเรียชนิดดีในช่องคลอดที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อรา
    • ให้คู่นอนใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และควรเปลี่ยนถุงยางใหม่เมื่อใช้ครบ 30 นาที
    • ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศด้านนอกด้วยน้ำเปล่าหรือสบู่อ่อน ๆ
    • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ผสมน้ำหอม เพราะอาจทำให้ช่องคลอดระคายเคือง
    • หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด เพราะอาจทำให้ช่องคลอดระคายเคืองและติดเชื้อโรคได้
    • สวมกางเกงชั้นในที่ระบายอากาศได้ดี ไม่รัดแน่นจนเกินไป เช่น กางเกงชั้นในผ้าฝ้าย และหลีกเลี่ยงการสวมกางเกงชั้นในที่ยังไม่ได้ซัก

    เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    หากมีอาการต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาให้ตรงจุด

    • ตกขาวเปลี่ยนสี มีกลิ่นเหม็น หรือมีเนื้อสัมผัสเปลี่ยนไป เช่น เป็นก้อนแป้ง
    • มีตกขาวมากผิดปกติ
    • เจ็บ คัน และระคายเคืองอวัยวะเพศ
    • มีเลือดออกในวันที่ไม่ได้เป็นประจำเดือนและหลังมีเพศสัมพันธ์
    • เจ็บแสบขณะถ่ายปัสสาวะ
    • ปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน (ระหว่างหน้าท้องและต้นขา)

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา