backup og meta

เพศสภาพ คืออะไร ส่งผลต่อชีวิตของผู้คนอย่างไร

เพศสภาพ คืออะไร ส่งผลต่อชีวิตของผู้คนอย่างไร

เพศสภาพ คือสถานะทางเพศที่สังคมกำหนดว่าเป็นผู้หญิง ผู้ชาย รวมทั้งเกย์ กะเทย ดี้ ทอม โดยมักพิจารณาจากสภาพร่างกาย บุคลิกลักษณะ การแสดงออก โดยเพศสภาพแตกต่างจากเพศสรีระซึ่งหมายถึงลักษณะทางกายภาพนับแต่กำเนิด อีกทั้งแตกต่างจากเพศวิถีที่หมายถึงรสนิยมทางเพศหรือความรู้สึกดึงดูดที่คน ๆ หนึ่งมีต่อคนอีกคน

[embed-health-tool-ovulation]

เพศสภาพคืออะไร

เพศสภาพ (Gender) หมายถึงสถานะทางเพศทั้งผู้ชาย ผู้หญิง บุคคลข้ามเพศ หรือบุคคลที่ไม่ใช่ผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งสัมพันธ์กับบทบาท หน้าที่ หรือรูปแบบพฤติกรรมที่สังคมเป็นผู้กำหนด เช่น ลักษณะการพูด เสื้อผ้าหรือการแต่งกาย ท่าทางการเดิน บุคลิกภาพ อาชีพ

เพศสภาพ ต่างจากเพศวิถีอย่างไร

เพศวิถี (Sexual Orientation) หมายถึง ความรู้สึกดึงดูดทางเพศ ความรัก ความชอบของคน ๆ หนึ่งที่มีต่อคนอีกคน ซึ่งอาจเป็นเพศตรงข้าม เพศเดียวกัน หรือเป็นทั้งเพศเดียวกันและเพศตรงข้ามก็ได้

ทั้งนี้ เพศวิถีจะสะท้อนคุณลักษณะหรือรสนิยมทางเพศของแต่ละบุคคล และเพศวิถีไม่สามารถระบุผ่านบุคลิกท่าทาง การแสดงออกหรือพฤติกรรมในชีวิตประจำวันเสมอไป

เพศสภาพ ส่งผลต่อชีวิตของผู้คนอย่างไร

เพศสภาพสัมพันธ์กับบทบาทของผู้คนในสังคม เมื่อคน ๆ หนึ่งถูกนิยามว่าเป็นเพศใดเพศหนึ่งแล้ว มักถูกคาดหวังให้ดำเนินชีวิตตามแบบแผนหรือภาพเหมารวมตามที่สังคมกำหนด เช่น หากเป็นผู้ชาย ควรมีความเข้มแข็ง กล้าเสี่ยง เป็นผู้นำ หรือช่ำชองเรื่องเพศ ส่วนถ้าเป็นผู้หญิง ต้องอ่อนแอกว่าผู้ชาย ชอบสีชมพู หรือสมควรเป็นแม่บ้านแม่เรือน

ทั้งนี้ บทบาทที่ผูกโยงกับเพศสภาพยังส่งผลต่อสุขภาพของผู้คนที่มีเพศสภาพนั้น ๆ เช่น ผู้ชายมักถูกคาดหวังให้เข้มแข็ง ห้ามแสดงความอ่อนแอออกมา ส่งผลให้ผู้ชายบางคนเก็บกดจนกระทั่งมีสุขภาพจิตที่ย่ำแย่และเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากกว่าผู้หญิง เพราะไม่กล้าพูดคุยหรือระบายความทุกข์ให้คนรอบข้าง คนรัก หรือจิตแพทย์ฟัง

ในขณะที่ผู้หญิงหรือเด็กผู้หญิงเองก็มีความเสี่ยงด้านสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจไม่ต่างกัน เช่น การถูกบังคับและกดขี่ทางเพศ การถูกล่วงละเมิดทางเพศ ความรุนแรงทางเพศ หากไม่ได้รับการแก้ไขหรือเยียวยา ย่อมส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตอย่างโรคซึมเศร้า ภาวะเครียดได้

ส่วนเพศสภาพอื่น ๆ อย่างเกย์ กะเทย ดี้ ทอม ซึ่งมักถูกมองว่าเป็นบุคคลที่แตกต่างจากคนปกติ จึงอาจโดนดูถูกเหยียดหยาม ล้อเลียน ถูกกีดกันด้านอาชีพ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ เช่น ไม่ได้รับเข้าทำงาน เป็นโรคซึมเศร้า มีปัญหาสุขภาพจิต

ศัพท์น่ารู้เกี่ยวกับ เพศสภาพ

นอกจากเพศสภาพหรือ Gender แล้ว ยังมีศัพท์เฉพาะอีกหลายคำเกี่ยวกับเพศสภาพที่ควรรู้ไว้ เช่น

  • อัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) หมายถึง นิยามของคน ๆ หนึ่งที่บอกว่าเพศสภาพของตัวเองคืออะไร เช่น ผู้หญิง ผู้ชาย เกย์ กะเทย
  • การแสดงออกทางเพศ (Gender Expression) หมายถึง การแสดงออกทางพฤติกรรม ทรงผม การแต่งกาย น้ำเสียง หรือรูปร่าง ซึ่งบอกว่าเพศสภาพของคน ๆ นั้นคืออะไร
  • ซิสเจนเดอร์ (Cisgender) หมายถึง ผู้ชายและผู้หญิง หรือผู้ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศสอดคล้องกับเพศกำเนิดและพฤติกรรมที่แสดงออกมา
  • ทรานส์เจนเดอร์ (Transgender) หรือบุคคลข้ามเพศ หมายถึงผู้ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศไม่ตรงกับเพศโดยกำเนิด ได้แก่ ผู้ชายที่นิยามว่าเพศสภาพของตัวเองคือผู้หญิง หรือผู้หญิงที่นิยามว่าเพศสภาพของตัวเองคือผู้ชาย อย่างไรก็ตาม การนิยามตัวเองว่าเป็นบุคคลข้ามเพศไม่ได้บ่งบอกว่าคน ๆ นั้นมีเพศวิถีหรือรสนิยมทางเพศอย่างไร
  • นอนไบนารี (Non-binary) เป็นอัตลักษณ์ทางเพศที่มองว่าตัวเองไม่ได้มีความเป็นชายหรือหญิงแต่อาจเป็นทั้งชายหรือหญิงในเวลาเดียวกัน หรือมีเพศสภาพที่ลื่นไหลไปในแต่ละช่วงเวลาของชีวิต
  • Gender Non-conforming หมายถึง การไม่ยึดมั่นในบรรทัดฐานทางเพศที่สังคมกำหนด หรือผู้ที่ไม่นิยามตัวเองว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง หรือเพศใดเพศหนึ่ง โดยอาจหมายถึงทั้งบุคคลข้ามเพศ ผู้ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศแบบนอนไบนารี หรือผู้ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศแบบอื่นที่ไม่ใช่ผู้ชายหรือผู้หญิง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Gender and health. https://www.who.int/health-topics/gender#tab=tab_1. Accessed November 24, 2022

What is gender? What is sex?. https://cihr-irsc.gc.ca/e/48642.html. Accessed November 24, 2022

Sex and gender. https://www.coe.int/en/web/gender-matters/sex-and-gender. Accessed November 24, 2022

What are gender roles and stereotypes?. https://www.plannedparenthood.org/learn/gender-identity/sex-gender-identity/what-are-gender-roles-and-stereotypes. Accessed November 24, 2022

LGBTQ myths debunked with science and facts. https://www.washingtonblade.com/2021/06/17/lgbtq-myths-debunked-with-science-and-facts/. Accessed November 24, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

09/12/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ จากการมีเพศสัมพันธ์ อาการและการรักษา

การคุกคามทางเพศ คืออะไร หลีกเลี่ยงได้อย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 09/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา