backup og meta

โรคกลาก เชื้อรา บนหนังศีรษะ เกิดจากอะไร มีวิธีรักษาและป้องกันอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

    โรคกลาก เชื้อรา บนหนังศีรษะ เกิดจากอะไร มีวิธีรักษาและป้องกันอย่างไร

    โรคกลาก เชื้อรา บนหนังศีรษะ หรือที่เรียกว่า ชันตุ เป็นการติดเชื้อราบนหนังศีรษะที่ทำให้เกิดผื่นวงแหวนบนหนังศีรษะและมีอาการคัน หากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจทำให้ผมร่วงและศีรษะล้านเป็นหย่อมได้ ดังนั้น จึงรับการรักษาอย่างรวดเร็วและควรขอคำแนะนำจากคุณหมอถึงวิธีป้องกันโรคกลากบนหนังศีรษะ ที่อาจช่วยไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ ช่วยฟื้นฟูสุขภาพหนังศีรษะและเส้นผมให้กลับมาแข็งแรง

    โรคกลาก เชื้อรา บนหนังศีรษะ เกิดจากอะไร

    โรคกลาก เชื้อรา บนหนังศีรษะ เกิดจากการติดเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ (Dermatophyte) ซึ่งเป็นเชื้อราที่อาศัยอยู่บนผิวหนังตามส่วนต่าง ๆ รวมถึงหนังศีรษะ โดยอาจมีสาเหตุมาจากเชื้อราเจริญเติบโตมากเกินไป การได้รับเชื้อรามาจากบุคคลที่เป็นโรคกลากบนหนังศีรษะ การใช้สิ่งของที่สัมผัสกับหนังศีรษะร่วมกัน เช่น หวี หมอน ผ้าห่ม ยางมัดผม กิ๊ฟติดผมและผ้าขนหนูเช็ดผม 

    อย่างไรก็ตาม การสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว หมู วัว และม้า โดยไม่ล้างมือหลังสัมผัส เมื่อนำมาจับเส้นผมหรือหนังศีรษะก็อาจส่งผลให้ติดเชื้อราจากสัตว์ได้เช่นกัน 

    อาการของโรคกลาก เชื้อรา บนหนังศีรษะ 

    อาการของโรคกลากจากการติดเชื้อราบนหนังศีรษะ อาจเริ่มปรากฏขึ้นเมื่อติดเชื้อราประมาณ 4-10 วัน ที่สังเกตได้ดังนี้

  • ผื่นแดงบนหนังศีรษะ
  • มีอาการคันหนังศีรษะ
  • ผื่นแดงพัฒนาเป็นวงแหวน
  • ผมร่วงบริเวณที่เป็นกลาก
  • รอยกลากและเป็นสะเก็ดที่มีขอบนูน
  • ควรเข้าพบคุณหมออย่างรวดเร็ว  เพื่อป้องกันผมร่วมถาวร หากมีอาการคันในระดับรุนแรงและผมร่วงเยอะมากจนศีรษะล้าน

    วิธีรักษาโรคกลาก เชื้อรา บนหนังศีรษะ

    วิธีรักษาโรคกลากที่เกิดจากการติดเชื้อราบนหนังศีรษะ มีดังนี้

    • ยากริซีโอฟูลวิน (Griseofulvin) เป็นยาในรูปแบบเม็ด แคปซูล และของเหลว เพื่อช่วยรักษาการติดเชื้อราที่ผิวหนัง โดยควรรับประทาน 2-4 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 4-8 สัปดาห์ หรือตามที่คุณหมอแนะนำ ผลข้างเคียงของยานี้อาจทำให้ปวดศีรษะ อาเจียน กระหายน้ำมาก ท้องร่วง แต่หากมีอาการรุนแรง เช่น ผื่นที่ผิวหนัง ไข้ขึ้น เจ็บคอ ระคายเคืองในช่องปาก ควรเข้าพบคุณหมออย่างรวดเร็ว
    • ยาเทอร์บินาฟีน (Terbinafine) เป็นยาในรูปแบบเม็ดที่ควรรับประทานพร้อมอาหารวันละครั้ง เป็นเวลา 6 สัปดาห์ หรือตามที่คุณหมอแนะนำ เพื่อช่วยรักษาการติดเชื้อราที่หนังศีรษะ เทอร์บินาฟีนอาจส่งผลข้างเคียงทำให้รู้สึกกระสับกระส่าย ปวดศีรษะ อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย และควรเข้าพบคุณหมออย่างรวดเร็วหากมีอาการคลื่นไส้ ปงดท้องขวาบน หายใจลำบาก กลืนอาหารลำบาก ผื่นขึ้นผิวหนัง ใบหน้าบวม เจ็บหน้าอกและหัวใจเต้นผิดปกต
    • ยาไอทราโคนาโซล (Itraconazole) เป็นยาในรูปแบบเม็ด แคปซูลและสารละลาย เพื่อช่วยรักษาโรคที่ติดเชื้อรา โดยควรรับประทานวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์ หรือตามที่คุณหมอแนะนำ ไอทราโคนาโซลอาจส่งผลข้างเคียงทำให้รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ ผมร่วง  วิงเวียนศีรษะ และควรเข้าพบคุณหมออย่างรวดเร็วหากมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น ปวดท้อง ตาพร่ามัว หูอื้อ ผื่นลมพิษ ปัสสาวะสีเข้ม และหายใจลำบาก
    • ยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole) เป็นยาในรูปแบบเม็ดและสารละลาย เพื่อช่วยรักษาโรคที่ติดเชื้อรา และยีสต์ ที่ควรรับประทานวันละ 1 ครั้ง หรือตามที่คุณหมอกำหนด ฟลูโคนาโซลอาจส่งผลข้างเคียงทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ปวดศีรษะ ผมร่วง หากรู้สึกเบื่ออาหาร วิงเวียนศีรษะรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว และเป็นลมหมดสตติ ควรรีบเข้าพบคุณหมอทันที

    นอกจากนี้คุณหมออาจแนะนำให้ใช้แชมพูสระผมต้านเชื้อราร่วมด้วยเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาโรคกลากบนหนังศีรษะและลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อราไปยังผู้อื่น

    การป้องกันโรคกลาก เชื้อรา บนหนังศีรษะ

    การป้องกันโรคกลากที่เกิดจากการติดเชื้อราบนหนังศีรษะ อาจทำได้ดังนี้

    • สระผมให้สะอาดด้วยแชมพูดที่เหมาะสุขภาพหนังศีรษะและเช็ดหรือเป่าผมให้แห้งสนิท เพื่อป้องกันหนังศีรษะอับชื้น
    • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของที่สัมผัสกับหนังศีรษะร่วมกัน เช่น หวี ผ้าขนหนูเช็ดหนังศีรษะ หมอน กิ๊ฟติดผม และควรทำความสะอาดสิ่งของบ่อยครั้ง  เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อราไปยังบุคคลอื่น ๆ 
    • ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งหลังจากสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงหรือจับวัตถุที่ใช้ส่วนรวม เช่น ราวจับบันได อุปกรณ์ออกกำลังกาย กลอนประตู
    • ควรอาบน้ำและตัดแต่งขนให้สัตว์เลี้ยง รวมถึงควรพาสัตว์เลี้ยงเข้ารับการตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ หากมีเชื้อราควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา