backup og meta

ขี้ไคลเกิดจากการผลัดตัวของสิ่งใด และการดูแลผิวที่เหมาะกับสภาพผิว

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 17/03/2023

    ขี้ไคลเกิดจากการผลัดตัวของสิ่งใด และการดูแลผิวที่เหมาะกับสภาพผิว

    สงสัยไหมว่า ขี้ไคลเกิดจากการผลัดตัวของสิ่งใด ขี้ไคลเกิดจากการผลัดตัวของเซลล์ผิวหนังชั้นนอกสุดหรือชั้นผิวหนังกำพร้าที่ตายแล้ว เมื่อเซลล์ผิวหนังเก่าหลุดลอก จะเผยให้เห็นชั้นผิวใหม่ที่ขึ้นมาแทนที่ การอาบน้ำทุกวันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งสามารถช่วยขจัดขี้ไคล รวมถึงสิ่งสกปรกและเชื้อโรคบนผิวหนังได้ แต่การขัดผิวและการใช้กรดธรรมชาติ ก็อาจช่วยเร่งกระบวนการผลัดเซลล์ผิวให้เร็วขึ้น และช่วยลดการอุดตันของขี้ไคลในรูขุมขนได้ด้วย จึงควรขัดผิวด้วยผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำร้ายผิวอย่างน้อย 1-3 ครั้ง/สัปดาห์ เพื่อให้เซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพหลุดออก ผิวดูเนียนและกระจ่างขึ้น

    ขี้ไคลเกิดจากการผลัดตัวของสิ่งใด

    ขี้ไคลเกิดจากการผลัดตัวของผิวหนังชั้นหนังกำพร้าหรือที่เรียกว่า หนังกำพร้า (Epidermis) ซึ่งเป็นผิวหนังขั้นบนสุด โดยทั่วไป หนังกำพร้าจะทำหน้าที่ห่อหุ้มร่างกาย ปกป้องผิวหนังจากสภาพแวดล้อมภายนอก ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง และป้องกันการสูญเสียของเหลว หนังกำพร้ามีเซลล์เคราติโนไซต์ (Keratinocyte) ซึ่งเป็นเซลล์ต้นกำเนิดที่ทำหน้าที่สร้างเซลล์ผิวใหม่ด้วยการผลิตโปรตีนเคราตินที่ใช้สร้างเล็บ ผม และผิวหนัง และมีเซลล์เมลาโนไซต์ (Melanocyte) ที่ทำหน้าที่ผลิตเมลานิน (Melanin) หรือเม็ดสีให้กับหนังกำพร้า

    กระบวนการผลัดเซลล์ผิวของชั้นหนังกำพร้าตั้งแต่เซลล์เกิดใหม่ ตาย และหลุดลอกออกจากร่างกายจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 14-28 วัน เมื่อหนังกำพร้าหลุดลอกออกมาเป็นเซลล์ผิวที่ตายแล้ว หรือที่เรียกว่า “ขี้ไคล” เซลล์ผิวหนังก็จะสร้างชั้นหนังกำพร้าใหม่ขึ้นแทนที่ หมุนเวียนไปเรื่อย ๆ ตามธรรมชาติ

    วิธีขจัดขี้ไคลเพื่อทำความสะอาดผิว

    วิธีขจัดขี้ไคลเพื่อทำความสะอาดผิวให้ดูกระจ่างใสและสุขภาพดี อาจทำได้ดังนี้

    การผลัดเซลล์ผิวด้วยการขัดผิว (Skin exfoliation)

    การขัดผิวเป็นการขจัดขี้ไคลหรือเซลล์ผิวที่ตายแล้วออกด้วยการใช้อุปกรณ์ขัดถูผิวหนังที่ช่วยผลัดเซลล์ผิว เช่น ฟองน้ำขัดผิว หินภูเขาไฟ เส้นใยบวบขัดตัว เกลือขัดผิว แปรงขัดผิว ผ้าขนหนู หลังการขัดผิวควรทามอยส์เจอไรเซอร์ทันทีเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว ทั้งนี้ ควรขัดผิวขณะผิวเปียกหมาด ๆ หลีกเลี่ยงการขัดผิวตอนผิวแห้ง ไม่ควรใช้อุปกรณ์ขัดผิวที่หยาบ และขัดแรงเกินไป ไม่ควรขัดผิวบ่อยเกินไป หรือมากกว่า 1-2 ครั้ง/สัปดาห์ และไม่ควรขัดผิวนานเกิน 10-15 นาที เพราะอาจทำให้ผิวอ่อนแอ มีผื่นแดง ระคายเคือง หรือเป็นแผลได้

    การผลัดเซลล์ผิวโดยใช้กรดธรรมชาติ (Chemical Exfoliation)

    การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมที่ช่วยละลายเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วดังต่อไปนี้ อาจช่วยขจัดขี้ไคลออกจากผิวหนังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังช่วยลดการอุดตันของรูขุมขน และลดความเสี่ยงในการเกิดสิว

    • กรดอัลฟาไฮดรอกซีหรือเอเอชเอ (Alpha hydroxy acids หรือ AHAs) เช่น กรดไกลโคลิก (Glycolic acid) กรดซิตริก (Citric acid) เป็นกรดผลไม้ที่ช่วยให้เซลล์ผิวที่ตายแล้วให้หลุดลอกออก ช่วยลดเลือนริ้วรอยและร่องลึกของผิว ส่งให้ผิวดูกระชับและเรียบเนียน กระตุ้นการผลิตคอลลาเจนในชั้นผิว ทั้งยังกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตไปยังผิว เหมาะสำหรับผู้ที่มีผิวแห้งและบอบบาง
    • กรดเบตาไฮดรอกซีหรือบีเอชเอ (Beta hydroxy acid หรือ BHAs) หรือ กรดซาลิซิลิก (Salicylic acid) เป็นสารที่มีคุณสมบัติกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว และทำความสะอาดรูขุมขน ช่วยลดการอุดตันภายในรูขุมขน เหมาะสำหรับผู้ที่มีผิวผสมหรือผิวมัน
    • เรตินอล (Retinol) เป็นกรดวิตามินเอที่ช่วยผลัดเซลล์ผิว กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน และช่วยขจัดขี้ไคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังอาจช่วยลดเลือนจุดด่างดำบนผิวหนัง และช่วยกระชับรูขุมขน ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีผิวบอบบางหรือระคายเคืองง่าย ผู้หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากเรตินอล เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ์ได้

    ควรขจัดขี้ไคลบ่อยแค่ไหน

    การขจัดขี้ไคลบนผิวหนัง สามารถทำได้ 1-3 ครั้ง/สัปดาห์ ทั้งนี้ ความถี่ของการขจัดขี้ไคลอาจขึ้นอยู่กับสภาพผิวของแต่ละคน ดังต่อไปนี้

    • ผิวธรรมดา เป็นผิวที่แข็งแรงและฟื้นสภาพได้เร็ว ควรขัดผิวอย่างน้อย 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ ด้วยอุปกรณ์ขัดผิว เช่น หินภูเขาไฟ ผ้า แปรงขัดผิว และอาจสลับไปใช้กรดธรรมชาติอย่างกรดอัลฟาไฮดรอกซี กรดเบตาไฮดรอกซี หรือเรตินอล ในการขจัดขี้ไคลในวันอื่น ๆ ภายในสัปดาห์นั้น อาจช่วยผลัดเซลล์ผิวให้กระจ่างใสและสะอาดมากขึ้น
    • ผิวมัน เป็นผิวที่ต่อมน้ำมันผลิตน้ำมันหรือซีบัมออกมามากกว่าปกติ ทำให้มีน้ำมันเคลือบผิวในปริมาณมาก ควรขัดผิวอย่างน้อย 1-2 ครั้ง/สัปดาห์ และไม่ควรขัดบ่อยเกินไป เนื่องจากอาจทำให้ผิวแห้งกร้านจนกระตุ้นให้ต่อมน้ำมันผลิตน้ำมันออกมามากขึ้นไปอีก ควรใช้ผ้าขนหนูขจัดขี้ไคล และหลีกเลี่ยงการการใช้สารขัดผิวที่มีฤทธิ์รุนแรง เนื่องจากอาจทำให้ผิวระคายเคืองและเกิดสิวได้
    • ผิวผสม เป็นผิวหน้าที่มีสภาพผิวที่แตกต่างกันในแต่ละบริเวณ เช่น ผิวแห้งผสมผิวมัน ผิวแห้งผสมผิวธรรมดา ควรขัดผิวอย่างน้อย 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ โดยใช้ได้ทั้งอุปกรณ์ขัดผิวและกรดธรรมชาติในการขจัดขี้ไคล แต่ไม่ควรทำในวันเดียวกัน เนื่องจากอาจทำให้ผิวระคายเคืองได้ หลังขจัดขี้ไคล หากรู้สึกว่าผิวแห้ง ควรทามอยส์เจอร์ไรเซอร์ทันที
    • ผิวบอบบางหรือแพ้ง่าย เป็นผิวที่มีน้ำมันน้อยกว่าปกติ อาจเป็นขุย หยาบกร้าน หรือระคายเคืองได้ง่าย ควรขัดผิวหรือใช้กรดธรรมชาติเพื่อผลัดเซลล์ผิวเพียงสัปดาห์ละครั้ง แต่หากทำแล้วระคายเคือง เกิดผื่นแดง หรือเป็นแผล อาจหลีกเลี่ยงการขจัดขี้ไคลและให้ความสำคัญกับการเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวด้วยการทามอยส์เจอร์ไรเซอร์เพียงอย่างเดียว

    มีขี้ไคลสะสมเป็นอันตรายไหม

    ขี้ไคลที่สะสมบนผิวหนัง โดยทั่วไปไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และสามารถขจัดออกได้ด้วยการขัดผิว การผลัดเซลล์ด้วยกรดธรรมชาติ และการใช้สารสกัดจากวิตามินเอ ทั้งนี้ หากสังเกตว่าผิวหนังมีลักษณะเป็นปื้นดำ ๆ โดยเฉพาะบริเวณข้อพับ หลังคอ รักแร้ คล้ายเป็นขี้ไคลที่ขัดไม่ออกรวมตัวกันจนหนา ในบางรายอาจมีติ่งเนื้อและอาการคันร่วมด้วย อาจเป็นสัญญาณของโรคผิวหนังช้าง (Acanthosis Nigricans) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทางผิวหนังที่มักพบในผู้ที่เป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวาน นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน การใช้ยารักษาโรคและอาหารเสริม เช่น ยาคุมกำเนิด ไนอะซิน (Niacin) ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) โรคมะเร็งบางชนิดอย่างมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ใหญ่ ก็อาจทำให้เกิดอาการของโรคผิวหนังช้างได้เช่นกัน

    หากพบว่ามีอาการทางผิวหนังในลักษณะนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของโรค ในเบื้องต้นคุณหมออาจแนะนำให้รักษาด้วยการปรับพฤติกรรม การออกกำลังกาย การลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่สัมพันธ์กับน้ำหนักและส่วนสูงของตัวเอง หรืออาจแนะนำให้หยุดใช้ยาที่ทำให้เกิดอาการ หากพบว่าเกิดจากโรคมะเร็งอาจต้องรักษาด้วยการฉายแสง เคมีบำบัด การผ่าตัด เป็นต้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 17/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา