backup og meta

แบ่งปัน

หรือ คัดลอกลิงก์

เกลือขัดผิว ประโยชน์ และข้อควรระวัง

เกลือขัดผิว ประโยชน์ และข้อควรระวัง

เกลือขัดผิว มีหลากหลายประเภท เช่น เกลือแกง เกลือทะเล เกลือหิมาลัย เกลือดำ ที่เมื่อนำมาขัดผิวอาจมีส่วนช่วยขจัดเซลล์ผิวเก่าออก ทำให้ผิวเรียบเนียนขึ้น นอกจากนี้ เกลือขัดผิวยังสามารถนำมาละลายกับน้ำอุ่นในอ่างน้ำ ใช้แช่ตัวเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และอาจใช้เพื่อรักษาโรคผิวหนังบางชนิด เช่น น้ำกัดเท้า กลาก อย่างไรก็ตาม การใช้เกลือขัดผิวมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพผิวได้ ดังนั้นจึงควรศึกษาวิธีใช้ และข้อควรระวังของเกลือขัดผิวอย่างละเอียด

[embed-health-tool-bmr]

ประโยชน์ของเกลือขัดผิว

ประโยชน์ของเกลือขัดผิว อาจมีดังนี้

  • ช่วยขจัดเซลล์ผิวเก่าออก ทำให้ผิวสามารถดูดซับครีมหรือโลชั่นบำรุงผิวเข้าสู่ผิวได้ไวขึ้น
  • ช่วยลดการอุดตันของรูขุมขน ที่อาจส่งผลให้รูขุมขนอักเสบ และเกิดสิวได้
  • ช่วยทำให้ผิวเรียบเนียน นุ่ม ชุ่มชื้น และอาจช่วยลดความหมองคล้ำ ทำให้ผิวกระจ่างใส
  • การขัดผิวและการนวดควบคู่กันอาจช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด และอาจช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และช่วยลดความเครียดได้

นอกจากนี้ การแช่ตัวในน้ำอุ่นผสมเกลือขัดผิว อาจช่วยลดอาการปวดกล้ามเนื้อ และสมานแผลโรคผิวหนัง เช่น โรคสะเก็ดเงิน กลาก น้ำกัดเท้า จากการศึกษาในวารสาร Gaceta Sanitaria ปี พ.ศ. 2564 ที่ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเกลือแกงเข้มข้น 7% ในการช่วยเพิ่มคอลลาเจนในกระบวนการสมานแผล โดยศึกษาในหนูทดลอง 20 ตัว ที่มีบาดแผลที่หน้าท้อง แบ่งออกเป็นกลุ่มที่บาดแผลรักษาด้วยเกลือ 15 ตัว และยาหลอก 5 ตัว ระยะเวลา 7 วัน พบว่า หนูที่แช่เกลือแกง 7% มีบาดแผลดีขึ้นในวันที่ 3 และหายเป็นปกติใน 7 วัน ซึ่งหายไวกว่าหนูรักษาด้วยยาหลอก อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในมนุษย์ เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของเกลือในการฟื้นฟูบาดแผล

วิธีใช้ เกลือขัดผิว

วิธีใช้เกลือขัดผิว มีดังนี้

  1. นำเกลือขัดผิว ½ ถ้วยตวง ผสมกับน้ำมันมะกอก หรือน้ำมันมะพร้าว ½ ถ้วย จากนั้นผสมให้เข้ากัน อาจเพิ่มน้ำมันหอมระเหยร่วมด้วยเพื่อเพิ่มความหอม
  2. ทำความสะอาดผิวด้วยน้ำอุ่น
  3. นำเกลือขัดผิวมาขัดเป็นวงกลมอย่างเบามือ
  4. ล้างเกลือออกจากผิวด้วยน้ำอุ่น
  5. ซับผิวด้วยผ้าขนหนูให้แห้งสนิท และทาครีมหรือโลชั่นบำรุงผิวเพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว

ข้อควรระวังในการใช้ เกลือขัดผิว

ข้อควรระวังการใช้เกลือขัดผิว อาจมีดังนี้

  • ไม่ควรใช้เกลือเม็ดใหญ่ในการขัดผิว เพราะอาจทำให้เกิดแผลและเจ็บแสบผิวหนัง ควรเลือกเกลือขัดผิวชนิดเม็ดเล็ก
  • เลือกใช้เกลือขัดผิวที่ไม่มีส่วนประกอบของสารเคมี หรือสารก่อให้เกิดอาการแพ้ โดยควรอ่านจากฉลากบนบรรจุภัณฑ์ และเครื่องหมายรับรองความปลอดภัย
  • ควรขัดผิวแค่เพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และไม่ควรขัดผิวเกิน 5-10 นาที เพื่อป้องกันผิวระคายเคืองและผิวแห้งกร้าน
  • ควรขัดผิวอย่างเบามือ และหลีกเลี่ยงการขัดผิวบริเวณแผลเปิดบนผิวหนัง เพื่อป้องกันผิวอักเสบ

วิธีบำรุงผิวหลังใช้ เกลือขัดผิว

วิธีบำรุงผิวหลังขัดผิว มีดังต่อไปนี้

  • ทามอยส์เจอไรเซอร์หรือโลชั่นบำรุงผิว เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว
  • ควรอาบน้ำด้วยน้ำอุ่นและหลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่มีสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง
  • สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด เช่น เสื้อเชิ้ต กางเกงขายาว เพื่อป้องกันแสงแดด
  • ควรทาครีมกันแดดทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน โดยเลือกครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป เพราะการขัดผิวอาจทำให้ผิวบาง ไวต่อแสง และควรหลีกเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดดเวลา 10.00-16.00 น. เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีแดดแรง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Health Benefits of Dead Sea Salt. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/health-benefits-dead-sea-salt.Accessed August 02, 2022. 

Skin care: 5 tips for healthy skin. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/adult-health/in-depth/skin-care/art-20048237.Accessed August 02, 2022. 

HOW TO SAFELY EXFOLIATE AT HOME. HTTPS://WWW.AAD.ORG/PUBLIC/EVERYDAY-CARE/SKIN-CARE-SECRETS/ROUTINE/SAFELY-EXFOLIATE-AT-HOME.Accessed August 02, 2022. 

What to Know About Skin Exfoliation. HTTPS://WWW.WEBMD.COM/BEAUTY/WHAT-TO-KNOW-SKIN-EXFOLIATION.Accessed August 02, 2022. 

The effectiveness of 7% table salt concentration test to increase collagen in the healing process of wound. https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0213911121002065.Accessed August 02, 2022. 

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/08/2024

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล

avatar

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/08/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา