backup og meta

คันรักแร้ เกิดจากอะไร และวิธีรับมืออาการคัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 20/02/2024

    คันรักแร้ เกิดจากอะไร และวิธีรับมืออาการคัน

    คันรักแร้ เป็นอาการคันและระคายเคืองผิวบริเวณใต้วงแขนหรือรักแร้ที่อาจเกิดจากการมีเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราสะสมที่รักแร้ ร่วมกับการมีเหงื่อออกมาก จนทำให้เกิดอาการคัน และอาจเกิดจากการโกนขนรักแร้ การเสียดสีของผิวหนัง รวมไปถึงภาวะสุขภาพ เช่น โรคผื่นแพ้สัมผัส โรคภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ การติดเชื้อแคนดิดา ทั้งนี้ การดูแลสุขอนามัยให้ดี การใช้ยาบรรเทาอาการคัน ยาปฏิชีวนะ และยาต้านเชื้อรา อาจช่วยให้อาการคันรักแร้ลดลงและไม่เกิดขึ้นซ้ำอีกในภายหลัง

    คันรักแร้เกิดจากอะไร

    คันรักแร้ เป็นอาการระคายเคืองบริเวณใต้วงแขนที่อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

    • เหงื่อ รักแร้เป็นบริเวณที่มีต่อมเหงื่อเยอะ เหงื่อที่รักแร้อาจไปรวมตัวกับเซลล์ผิวที่ตายแล้ว และทำให้เกิดการอักเสบและระคายเคืองผิวจนทำให้คันรักแร้ นอกจากนี้ รักแร้ยังเป็นบริเวณที่อุ่นและชื้น หากรักษาความสะอาดได้ไม่ดี อาจทำให้แบคทีเรียและเชื้อราเจริญเติบโต จนทำให้เกิดอาการคันได้
    • ขนรักแร้และการโกนขน วัยรุ่นที่ขนรักแร้เริ่มขึ้นอาจรู้สึกระคายเคืองผิวได้ อีกทั้งการโกนขนรักแร้ด้วยใบมีดที่ไม่เหมาะสมหรือไม่สะอาด หรือการโกนขนขณะผิวแห้ง ก็อาจทำให้คันรักแร้ได้ นอกจากนี้ ขนที่แทงขึ้นใหม่หลังจากโกนก็ทำให้คันรักแร้ได้เช่นกัน
    • การเสียดสีของผิวหนัง ผิวหนังบริเวณรักแร้มักจะสัมผัสหรือเสียดสีกับผิวหนังข้างลำตัวหรือเสื้อผ้าอยู่เป็นประจำ จึงจนอาจเกิดการระคายเคืองและทำให้รู้สึกคัน ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก

    โรคผิวหนังดังต่อไปนี้ ก็อาจทำให้เกิดอาการคันรักแร้ได้เช่นกัน

  • โรคผื่นแพ้สัมผัส (Contact Dermatitis) อาจเกิดจากผิวหนังบริเวณรักแร้สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ (Allergic contact dermatitis) ทำให้มีอาการแพ้ เกิดเป็นผื่นแดงและคัน หรือการสัมผัสสารเคมีที่ทำให้ผิวระคายเคือง (Irritant contact dermatiti) เช่น น้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม สบู่ โรลออนระงับกลิ่น น้ำหอม ที่มีสารเคมีอย่างลาโนลิน (Lanolin) พาราเบน แอลกอฮอล์ โพรพิลีนไกลคอล (Propylene glycol) จนทำให้เกิดอาการคัน โดยการสัมผัสสารระคายเคืองมักทำให้รักแร้คันได้บ่อยกว่าการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้
  • โรคภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ (Atopic Dermatitis) เป็นโรคผิวหนังอักเสบที่อาจทำให้มีผิวแห้งเป็นขุย มีผื่นแดง มีอาการคัน แบบเป็น ๆ หาย ๆ เมื่อมีเหงื่อสะสมบริเวณข้อพับอย่างรักแร้ อาจทำให้เกิดเป็นผื่นแพ้เหงื่อ ลักษณะเป็นตุ่มแดงนูนหรือเป็นตุ่มน้ำใส แตกออกเป็นของเหลวออกเหลืองเยิ้ม และทำให้รู้สึกคันมาก ๆ เมื่อมีเหงื่อออก
  • โรครูขุมขนอักเสบ (Folliculitis) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเชื้อราจนเกิดการอักเสบ โดยส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อแบคทีเรียสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) ทำให้มีตุ่มนูนแดงหรือตุ่มหนองบริเวณรูขุมขนกระจายหลายตุ่ม ส่งผลให้มีอาการคัน ปวด กดแล้วรู้สึกเจ็บ
  • การติดเชื้อแคนดิดา (Candida infection) มักพบบริเวณที่อับชื้น ทำให้เกิดเป็นตุ่มแดงนูน คัน และอาจส่งกลิ่นเหม็น อาจเกิดจากการมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน โรคเบาหวาน การใช้ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น
  • โรคสะเก็ดเงินบริเวณซอกพับ (Inverse psoriasis) เป็นโรคผิวหนังที่ทำให้เกิดผื่นบริเวณซอกพับอย่างรักแร้ ขาหนีบ ใต้ราวนม ทำให้มีผื่นแดงหรือชมพูหรือเป็นแผ่นหนาเรียบเนียน ขอบชัด และมีอาการระคายเคืองร่วมด้วย
  • ผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณซอกพับ (Intertrigo) เป็นภาวะผิวหนังอักเสบที่เกิดจากผิวหนังบริเวณข้อพับเสียดสีกัน เมื่อเกิดร่วมปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความร้อน เหงื่อ อาจทำให้เชื้อราและแบคทีเรียเจริญเติบโตมากเกินไปจนผิวหนังอักเสบ เกิดผื่นแดง เป็นขุย คัน มักพบในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน
  • โรคกลาก (Ringworm) เป็นโรคติดเชื้อราเดอร์มาโตไฟต์ (Dermatophyte) ทำให้เกิดผื่นสีชมพู แดง หรือขาว ลักษณะเป็นวงกลม มีขอบเขตชัดเจนบนผิวหนัง ร่วมกับมีขุยเด่นที่ขอบ ทำให้เกิดอาการคันและระคายเคืองบริเวณรักแร้
  • ภาวะที่มีเหงื่อออกมากผิดปกติ (Hyperhidrosis) เป็นภาวะที่ทำให้ร่างกายขับเหงื่อออกตามใบหน้า มือ เท้า รักแร้ หรือทั้งตัว มากกว่าปกติ และทำให้เกิดอาการคันจากการระคายเคืองได้
  • การติดเชื้อแบคทีเรีย Corynebacterium minuttissimus บริเวณรักแร้ ทำให้เกิดผื่นเป็นปื้นน้ำตาลแดง เป็นวงๆ ได้ มักพบในคนที่มีเหงื่อออกมาก
  • คันรักแร้ วิธีแก้ ทำได้อย่างไรบ้าง

    การรักษาอาการ คันรักแร้ อาจทำได้ดังนี้

    • อาการคันที่เกิดจากการติดเชื้อรา คุณหมอหรือเภสัชกรอาจแนะนำให้รักษาด้วยการใช้ยากำจัดเชื้อราบนผิวหนัง เช่น โคไตรมาโซล (Clotrimazole) ฟลูโคนาโซล (Fluconazole) ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ส่วนอาการคันที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย อาจรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างครีมหรือโลชั่นคลินดามัยซิน (Clindamycin) หรือครีมอาบน้ำที่มีส่วนประกอบของเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide)
    • คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยาบรรเทาอาการคันอย่างไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamines) เพื่อลดการอักเสบและรักษาอาการคัน
    • ทาครีมบำรุงผิวและเจลป้องกันการเสียดสี (Anti-chafing gels) ที่มีส่วนผสมของซิงค์ออกไซด์ (Zinc oxide) ปิโตรเลียมเจลลี (Petroleum jelly) เพื่อสร้างเกราะป้องกันผิวและลดการเสียดสีที่ทำให้เกิดอาการคันรักแร้
    • หากอาการคันเกิดจากผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่ใช้ ควรเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองหรืออาการแพ้ และไม่มีส่วนประกอบของน้ำหอม แอลกอฮอล์
    • ใช้ผ้าห่อน้ำแข็งหรือเจลเย็นประคบบริเวณรักแร้ประมาณ 5-10 นาที เพื่อช่วยบรรเทาอาการแสบ บวม และคันรักแร้
    • เปลี่ยนมีดโกนที่ใช้โกนขนรักแร้ หรือหลีกเลี่ยงการโกนขนจนกว่าอาการคันหรือการติดเชื้อจะหายไป
    • ไม่ควรโกนขนจนชิดผิวหนังมากเกินไป เพราะอาจทำให้ผิวหนังบริเวณรักแร้บาดเจ็บ และเสี่ยงเกิดขนคุด
    • หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อที่รัดแน่นและทำให้มีเหงื่อสะสมบริเวณรักแร้ และเลือกเสื้อที่ระบายอากาศได้ดี ไม่รัดแขนเกินไป
    • รักษาโรคที่เป็นอยู่ให้หายหรือดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมเพื่อควบคุมอาการของโรคที่เป็นอยู่

    นอกจากนี้ การดูแลสุขอนามัยอย่างเหมาะสมด้วยวิธีดังต่อไปนี้ ก็อาจช่วยให้อาการคันรักแร้ดีขึ้นและป้องกันการเกิดอาการซ้ำในภายหลังได้

    • อาบน้ำเป็นประจำทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ถูสบู่ใต้วงแขนให้สะอาดทุกครั้งเมื่ออาบน้ำ และอาบน้ำบ่อยขึ้นหากมีเหงื่อออกเยอะ
    • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อนจัด ให้อาบน้ำอุ่นหรือน้ำอุณหภูมิปกติ และไม่ควรอาบนานเกิน 10 นาที
    • เช็ดตัวให้แห้งด้วยผ้าเช็ดตัวสะอาด และหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
    • ทามอยส์เจอร์ไรเซอร์เป็นประจำเพื่อช่วยให้ผิวชุ่มชื้น
    • อยู่ในที่ ๆ มีอากาศเย็น อากาศถ่ายเทสะดวก มีพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ เพื่อลดการเกิดเหงื่อ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 20/02/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา