backup og meta

ยาแก้ผื่นคัน มีอะไรบ้าง และวิธีการใช้ยาอย่างถูกต้อง

ยาแก้ผื่นคัน มีอะไรบ้าง และวิธีการใช้ยาอย่างถูกต้อง

ผื่นคัน เป็นปัญหาผิวที่อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาการแพ้ การติดเชื้อแบคทีเรีย การติดเชื้อไวรัส การติดเชื้อรา ดังนั้น เมื่อสังเกตว่ามีผื่นแดงและมีอาการคันควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยหาสาเหตุให้ชัดเจนเพื่อรับการรักษาด้วย ยาแก้ผื่นคัน ตามอาการอย่างเหมาะสมและลดความเสี่ยงการติดต่อไปยังบุคคลอื่น ๆ เนื่องจากโรคผิวหนังบางชนิดสามารถติดต่อผ่านการใช้สิ่งของและการสัมผัสได้

[embed-health-tool-bmi]

ผื่นคันเกิดจากอะไร

ผื่นคันอาจเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัส รวมถึงแพ้สารระคายเคือง เช่น ละอองเกสร ขนสัตว์ สารเคมี ฝุ่น น้ำหอม เหงื่อ น้ำยาปรับผ้านุ่ม รวมถึงแพ้อาหารและเครื่องดื่มที่รับประทาน จนส่งผลให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง ผิวหนังบวม มีตุ่มและผื่นขึ้นตามลำตัวรวมถึงส่วนอื่น ๆ นอกจากนี้ ผื่นคันอาจพบได้บ่อยในผู้ที่ทำงานสัมผัสกับสารระคายเคือง และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอเพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพในการต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัสต่ำ นำไปสู่การเกิดผื่นคัน

อย่างไรก็ตาม หากสังเกตว่ามีผื่นคันขึ้น มีไข้ ผื่นลุกลามไปยังบริเวณอื่น และมีอาการแย่ลงหรือไม่ตอบสนองต่อยารักษาเบื้องต้น ควรเข้าพบคุณหมออย่างรวดเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัยหาสาเหตุที่แน่ชัดและรับการรักษาอย่างเหมาะสม

ยาแก้ผื่นคัน มีอะไรบ้าง 

ยาแก้ผื่นคัน อาจมีดังต่อไปนี้

  • คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid)

มีในรูปแบบเม็ดและครีม ใช้เพื่อบรรเทาอาการผิวหนังอักเสบ ลดอาการบวม แดงจากผื่นคัน โดยควรรับประทานตามที่คุณหมอแนะนำ เนื่องจากเป็นยาที่ไม่ควรใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งจะพิจารณาจากอาการที่เป็นของแต่ละบุคคล ยานี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น ท้องเสีย อาเจียน ปวดศีรษะ สิวขึ้น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ แต่หากสังเกตว่าอาการที่เป็นอยู่แย่ลง กล้ามเนื้ออ่อนแรง หน้าบวม มีปัญหาด้านการมองเห็น ควรแจ้งให้คุณหมอทราบอย่างรวดเร็ว

  • ยาพิเมโครลิมัส (Pimecrolimus)

มีในรูปแบบครีมทาเฉพาะที่ เพื่อช่วยยับยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันไม่ให้ตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมที่ก่อให้เกิดผื่นคันหรืออาการแพ้อื่น ๆ โดยควรใช้ทาผิวที่ได้รับผลกระทบ 2 ครั้ง/วัน และควรทำความสะอาดผิวและเช็ดให้แห้งก่อนใช้ นอกจากนี้ หากพบว่ามีอาการผิดปกติหลังจากใช้ยา เช่น แสบร้อนผิว ปวดหัว ลมพิษ แผลพุงพอง มีไข้สูง อาการบวมที่ใบหน้า คอ ลิ้นและริมฝีปาก ควรเข้าพบคุณหมอทันที

  • ยาทาโครลิมัส (Tacrolimus)

มีในรูปแบบแคปซูล ครีมทาภายนอก และเม็ด ช่วยระงับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันไม่ให้ตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาแพ้จนเกิดผื่นคัน โดยควรรับประทานวันละ 2 ครั้ง ห่างกันประมาณ 12 ชั่วโมง ผลข้างเคียงของยานี้อาจส่งผลให้มีอาการปวดหัว อาเจียน คลื่นไส้ ท้องเสีย ปวดท้อง เป็นต้น หากสังเกตว่ามีอาการดังกล่าวหรืออาการรุนแรง เช่น หายใจถี่ ผิวซีด หัวใจเต้นเร็ว การมองเห็นเปลี่ยนแปลง อาการชักและโคม่า ควรเขาพบคุณหมอทันที แต่ในการรักษาผื่นผิวหนังทั่วไปจะใช้แค่รูปแบบครีมทาภายนอก

  • เทอร์บินาฟีน (Terbinafine)

มีในรูปแบบเม็ด ใช้เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราและบรรเทาอาการคันผิวจากผื่น ในกรณีที่เป็นผื่นจากเชื้อราบางชนิด โดยควรรับประทานวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 6-12 สัปดาห์ หรือตามที่คุณหมอกำหนด ยานี้อาจส่งผลให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัวเล็กน้อย แต่หากสังเกตว่ามีอาการหายใจลำบาก กลืนอาหารลำบาก รู้สึกเบื่ออาหาร ลมพิษ ต่อมน้ำเหลืองบวม มีไข้ หนาวสั่น หัวใจเต้นเร็วควรเข้าพบคุณหมอทันที

  • โคลไตรมาโซล (Clotrimazole)

มีในรูปแบบครีม ใช้เพื่อช่วยหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อราและบรรเทาอาการคัน โดยควรทาบริเวณที่เป็นผื่นวันละ 2 ครั้ง ในช่วงเช้าและก่อนนอน ยานี้อาจส่งผลข้างเคียงให้มีอาการแสบร้อนผิว ผิวลอกและผิวแห้ง

  • ยาไมโคนาโซล (Miconazole) 

มีในรูปแบบสเปรย์ ครีม แป้ง และทิงเจอร์ เป็นยาใช้เฉพาะบริเวณที่ได้รับผลกระทบ ปกติแล้วมักใช้วันละ 2 ครั้ง ในช่วงเวลาเช้าและก่อนนอน หรือตามที่คุณหมอแนะนำ เพื่อช่วยหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อราที่ส่งผลให้ผิวหนังติดเชื้อจนเป็นผื่นและมีอาการคัน

ข้อควระวังการใช้ยาแก้ผื่นคัน

การใช้ยาแก้ผื่นคันควรผ่านการวินิจฉัยจากคุณหมอ เพื่อรับยาที่เหมาะสม เนื่องจากผื่นคันแต่ละชนิดที่ขึ้นบนผิวหนังเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกัน อีกทั้งควรใช้ยาตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด สำหรับยารับประทานแบบเม็ดและแคปซูลไม่ควรตัดแบ่งยา แกะยา เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง 

สำหรับยาในรูปแบบทาเฉพาะที่ควรทำความสะอาดนิ้วมือทั้งก่อนและหลังทายา เพื่อป้องกันการนำมือเข้าปากหรือขยี้ตาโดยไม่ได้ตั้งใจ ส่งผลให้แสบและระคายเคือง ควรใช้ยาทาตามปริมาณและระยะเวลาที่คุณหมอกำหนดเพราะอาจเกิดผลข้างเคียงได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What’s that rash?: with pictures. https://www.health.qld.gov.au/news-events/news/whats-that-rash-with-pictures-eczema-dermatitis-hives-heat-rash-rosacea.Accessed January 22, 2023

Skin Allergy. https://acaai.org/allergies/allergic-conditions/skin-allergy/.Accessed January 22, 2023

itchy skin https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/itchy-skin/diagnosis-treatment/drc-20355010.Accessed January 22, 2023 

Hives and angioedema. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hives-and-angioedema/diagnosis-treatment/drc-20354914.Accessed January 22, 2023

Hydrocortisone. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a682206.html.Accessed January 22, 2023 

Pimecrolimus Topical. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a603027.html.Accessed January 22, 2023 

Tacrolimus. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a601117.html.Accessed January 22, 2023 

Diflorasone DIACETATE Cream – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-6804/diflorasone-topical/details.Accessed January 22, 2023 

Terbinafine.https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a699061.html.Accessed January 22, 2023

Clotrimazole Topical. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a618059.html.Accessed January 22, 2023

Miconazole Topical. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a618061.html.Accessed January 22, 2023

Treatment for Chronic Hives. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/hives-treatment.Accessed January 22, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

06/03/2023

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ภูมิแพ้ผิวหนัง ห้ามกินอะไร และควรดูแลตัวเองอย่างไร

ผิวหนัง แตก สาเหตุและการดูแลสุขภาพผิว


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา