เจ็บท้องข้างซ้าย เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอาหารไม่ย่อย ไส้เลื่อน งูสวัด หรือเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากอาการรุนแรงขึ้น หรือเกิดร่วมกับอาการอื่น เช่น เลือดออกปนมากับปัสสาวะหรืออุจจาระ ควรไปพบคุณหมอ
[embed-health-tool-bmi]
เจ็บท้องข้างซ้าย มีสาเหตุจากอะไร
เจ็บท้องข้างซ้าย เป็นอาการป่วยที่พบได้ทั่วไปและเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังต่อไปนี้
- ถุงผนังลำไส้อักเสบ เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเจ็บท้องข้างซ้าย โดยเกิดจากการฉีกขาดหรือติดเชื้อของถุงผนังลำไส้ โดยจะมีอาการเจ็บท้องเป็นเวลาหลายวัน ร่วมกับมีไข้ ท้องผูก และคลื่นไส้ ทั้งนี้ ถุงผนังลำไส้อักเสบในระดับไม่รุนแรงอาจหายเองได้หากพักผ่อนและรับประทานยาปฏิชีวนะ
- อาหารไม่ย่อย มักเกิดขึ้นหลังมื้ออาหาร และจะหายไปเองภายใน 2-3 ชั่วโมง มักเกิดบริเวณหน้าท้องส่วนบน ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น ท้องอืด มีลมในท้อง เสียดท้อง
- ไส้เลื่อน หมายถึง การที่อวัยวะในช่องท้อง เช่น ลำไส้ ยื่นออกนอกช่องท้อง ทำให้มีก้อนบวมบริเวณหน้าท้องหรือขาหนีบ รวมถึงรู้สึกเจ็บรุนแรงในบริเวณดังกล่าวมากขึ้นเรื่อย ๆ
- งูสวัด เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลาซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus) ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคอีสุกอีใส เมื่อเป็นโรคงูสวัด จะพบผื่นและตุ่มน้ำใสขึ้นตามร่างกาย และในบางรายอาจมีอาการ เจ็บท้องข้างซ้ายร่วมด้วย
- โรคลำไส้แปรปรวน หรือไอบีเอส (Irritable Bowel Syndrome หรือ IBS) เป็นโรคที่เกิดจากลำไส้ส่วนปลายทำงานผิดปกติ จนส่งผลให้มีอาการปวดเกร็งหรืออึดอัดท้อง ร่วมกับมีอาการท้องเสียหรือท้องผูก อาการมักกำเริบเมื่อมีความเครียด หรือหลังบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิด เช่น ชา กาแฟ ผลไม้ตระกูลส้ม ข้าวสาลี ถั่ว
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ คือการที่เนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกไปเติบโตที่รังไข่หรือท่อนำไข่ แทนที่จะเติบโตที่มดลูก ทั้งนี้ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เกิดได้กับผู้หญิงทุกช่วงวัย และส่งผลให้มีอาการเจ็บท้อง โดยอาการจะรุนแรงขึ้นเมื่อมีประจำเดือน
นอกจากสาเหตุข้างต้น เจ็บท้องข้างซ้ายยังเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ ดังต่อไปนี้
- แก๊สในกระเพาะอาหาร
- นิ่วในไต
- ถุงน้ำรังไข่
- การตั้งครรภ์นอกมดลูก
- อัณฑะบิดตัว
- ตับอ่อนอักเสบ
- การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ
หากเจ็บท้องข้างซ้ายควรไปพบคุณหมอ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษา โดยเฉพาะเมื่อมีอาการปวดท้องดังต่อไปนี้
- รุนแรงขึ้นจากเดิม
- เป็นอย่างต่อเนื่อง ไม่หายไป
- เกิดร่วมกับอาการท้องเสีย ท้องผูก
- พบเลือดในอุจจาระ ปัสสาวะ หรืออาเจียน ร่วมด้วย