backup og meta

อาการกรดไหลย้อน วิธีรักษา และวิธีป้องกัน

อาการกรดไหลย้อน วิธีรักษา และวิธีป้องกัน

กรดไหลย้อน เกิดจากหูรูดที่ส่วนปลายของหลอดอาหารทำงานผิดปกติ ทำให้น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปยังหลอดอาหาร ส่งผลให้มีอาการ เช่น แสบร้อนกลางอก เรอเปรี้ยว กลืนลำบาก จนบางครั้งอาการอาจรุนแรงจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ อาการกรดไหลย้อน อาจบรรเทาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร หรือการใช้ยา อย่างไรก็ตาม หากอาการรุนแรงขึ้น แม้จะลองรักษาด้วยยาหรือปรับพฤติกรรมแล้ว ควรรีบไปพบคุณหมอ เพื่อหาสาเหตุและวิธีรักษาที่เหมาะสมที่สุด 

กรดไหลย้อน คืออะไร 

กรดไหลย้อน คือ ภาวะที่น้ำย่อยหรือกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร ทำให้เกิดอาการแสบร้อนบริเวณกลางอก ภาวะนี้พบได้ทั่วไป โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร และอาการมักจะหายไปได้เองในเวลาไม่นาน แต่หากเกิดภาวะกรดไหลย้อนบ่อยครั้งหรือเรื้อรัง หรือมีกรดไหลย้อนมากกว่าปกติ จะถือว่าเป็นโรคกรดไหลย้อน ซึ่งอาจต้องเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมโดยเร็วที่สุด กรดไหลย้อนสามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่ทารกจนถึงวัยสูงอายุ ถึงแม้จะหายแล้ว แต่ก็อาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีก หากยังมีพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกรดไหลย้อนเช่นเดิม 

อาการกรดไหลย้อน ที่พบได้บ่อย

อาการกรดไหลย้อน อาจมีดังนี้ 

  • กลืนอาหารลำบาก
  • มีรสเปรี้ยวหรือรสขมในปากและลำคอ
  • เรอเปรี้ยว
  • มีน้ำลายมากผิดปกติ
  • ไอแห้ง เสียงแหบ เจ็บคอเรื้อรัง 
  • แสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ กลางหน้าอก มักเกิดขึ้นหลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ ๆ
  • เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก จุก คล้ายมีก้อนติดอยู่ในลำคอ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ท้องอืด แน่นท้อง คล้ายอาหารไม่ย่อย

หากมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก มีอาการปวดกล้ามเนื้อ หรือปวดแขน ควรไปพบคุณหมอทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณอาการหัวใจวายได้ 

สาเหตุของกรดไหลย้อน 

เมื่อรับประทานอาหาร อาหารจะไหลผ่านหลอดอาหารที่บริเวณลำคอไปยังกระเพาะอาหาร กล้ามเนื้อส่วนบนของกระเพาะอาหารและกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างจะคลายตัว เพื่อให้อาหารสามารถไหลผ่านเข้าไปยังกระเพาะอาหารได้ จากนั้นกล้ามเนื้อหูรูดจะปิดเพื่อป้องกันอาหารหรือกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับไปยังหลอดอาหาร แต่หากกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารปิดไม่สนิทหรือทำงานผิดปกติ อาจส่งผลให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับเข้าไปในหลอดอาหาร และเกิดเป็นภาวะกรดไหลย้อน ซึ่งหากปล่อยไว้จนเรื้อรังหรือรุนแรง อาจกลายเป็นโรคกรดไหลย้อนได้ และความเสี่ยงในการเกิดภาวะกรดไหลย้อนจะยิ่งเพิ่มขึ้น หากมีภาวะหรือพฤติกรรม เช่น รับประทานอาหารก่อนนอน ตั้งครรภ์ เป็นโรคอ้วน สูบบุหรี่

วิธีรักษาอาการกรดไหลย้อน 

วิธีรักษาอาการกรดไหลย้อน อาจมีดังนี้ 

  • ใช้ยาลดกรด เป็นกลุ่มยาที่ช่วยลดความเป็นกรดภายในกระเพาะอาหาร เช่น อีโซเมปราโซล (Esomeprazole) โอเมพราโซล (Omeprazole) แลนโซพราโซล (Lansoprazole) อย่างไรก็ตาม การใช้ยาลดกรดบางชนิดมากเกินไปอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ท้องร่วง มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับไต 
  • ใช้ยาลดการผลิตกรด (H2-receptor blocker) เช่น ไซเมทิดีน (Cimetidine) ฟาโมทิดีน (Famotidine) ไนซาทิดีน (Nizatidine) อาจช่วยลดการผลิตกรดในกระเพาะอาหารได้นานถึง 12 ชั่วโมง
  • ใช้ยายับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารและรักษาหลอดอาหาร เช่น ยาในกลุ่ม PPIs (Proton Pump Inhibitors) อย่างแลนโซปราโซล (Lansoprazole) โอเมพราโซล (Omeprazole) เด็กซ์แลนโซพราโซล (Dexlansoprazole) เป็นต้น

วิธีป้องกันอาการกรดไหลย้อน

วิธีเหล่านี้อาจช่วยป้องกันการเกิดอาการกรดไหลย้อนได้ 

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่อาจไปกระตุ้นให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอกและกรดไหลย้อน เช่น ผลไม้และน้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ซอสมะเขือเทศ พริกไทย อาหารทอด และควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน 
  • หลีกเลี่ยงการนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร ควรรอประมาณ 3-4 ชั่วโมง จึงค่อยเอนตัวหรือนอน
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจลดความสามารถในการทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง
  • หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่คับแน่นหรือรัดรูป เพราะอาจเพิ่มแรงกดที่หน้าท้องและกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่าง จนส่งผลให้เกิดกรดไหลย้อนได้
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนอาจส่งผลให้เกิดแรงกดที่หน้าท้อง จนกรดในกระเพราะอาหารไหลย้อนเข้าสู่หลอดอาหารได้ง่ายขึ้น
  • นอนหรือพิงหมอนสูงประมาณ 6-8 นิ้ว เพื่อป้องกันกรดไหลย้อน

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Gastroesophageal reflux disease (GERD). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/gerd/symptoms-causes/syc-20361940. Accessed April 18, 2022

GERD. https://www.webmd.com/heartburn-gerd/guide/reflux-disease-gerd-1. Accessed April 18, 2022

Acid Reflux (GER & GERD) in Adults. https://www.niddk.nih.gov/health-information/digestive-diseases/acid-reflux-ger-gerd-adults. Accessed April 18, 2022

Gastroesophageal reflux disease. https://medlineplus.gov/ency/article/000265.htm. Accessed April 18, 2022

Gastroesophageal Reflux Disease. https://www.aaaai.org/Conditions-Treatments/related-conditions/gastroesophageal-reflux-disease. Accessed April 18, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

06/05/2022

เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

เป็นแผลในกระเพาะอาหาร มีวิธีป้องกันและรักษาได้อย่างไรบ้าง

อาหารสำหรับกรดไหลย้อน ควรกินอะไร เลี่ยงอะไร และบรรเทาอาการยังไงได้บ้าง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 06/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา