กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) เป็นการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจที่ลดการทำงานของหัวใจในการสูบฉีดเลือด ซึ่งอาจทำให้มีอาการเจ็บหน้าอก หายใจถี่ และการเต้นของหัวใจผิดปกติ จึงควรเข้ารับการรักษาด้วยการใช้ยา การทำหัตถการ หรือการผ่าตัดอย่างเหมาะสม เพราะหากปล่อยไว้ไม่ทำการรักษาอาจมีแนวโน้มทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจวายได้
[embed-health-tool-heart-rate]
คำจำกัดความ
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ คืออะไร
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ คือ การอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจที่อาจลดการทำงานของหัวใจในการสูบฉีดเลือด โดยอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส ปฏิกิริยาของยาบางชนิด หรือการอักเสบภายในร่างกาย นอกจากนี้ หากเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบรุนแรงอาจทำให้หัวใจอ่อนแอลงจนร่างกายส่วนอื่น ๆ ได้รับเลือดไม่เพียงพอ ซึ่งอาจก่อให้เกิดลิ่มเลือดในหัวใจ ที่อาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมองหรือหัวใจวายได้
อาการ
อาการ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
สำหรับผู้ที่เป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบระยะแรกอาจไม่มีอาการแสดงให้เห็นหรืออาจมีอาการเพียงเล็กน้อย โดยอาการทั่วไปที่พบได้บ่อย อาจมีดังนี้
- เจ็บหน้าอก
- เหนื่อยล้า
- บวมที่ขา ข้อเท้า และเท้า
- หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ หรือเต้นผิดปกติ
- หายใจถี่ขณะพัก หรือระหว่างทำกิจกรรม
- วิงเวียนศีรษะ หรือรู้สึกเหมือนจะเป็นลม
- อาการคล้ายไข้หวัด เช่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดข้อ มีไข้ เจ็บคอ
สำหรับอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่เกิดขึ้นในเด็ก อาจมีดังนี้
- เจ็บหน้าอก
- หายใจลำบาก
- หายใจเร็ว
- จังหวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ หรือเต้นผิดปกติ
- มีไข้
- เป็นลม
สาเหตุ
สาเหตุ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
- การติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสอะดีโน (Adenovirus) ที่ทำให้เกิดโรคไข้หวัด โควิด-19 โรคตับอักเสบบีและซี พาร์โวไวรัส(Parvovirus) ที่ทำให้เกิดผื่นในเด็ก ไวรัสเริม ไวรัสเอคโค (Echoviruses) ไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr Virus หรือ EBV) เชื้อเอชไอวี
- การติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อสแตฟฟิโลคอกคัส (Staphylococcus) สเตรปโตคอกคัส (Streptococcus) รวมทั้งแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคคอตีบและโรคลายม์ (Lyme Disease)
- การติดเชื้อปรสิต เช่น เชื้อทริพาโนโซมา ครูซี (Trypanosoma Cruzi) ทอกโซพลาสมา (Toxoplasma)
- การติดเชื้อรา เช่น การติดเชื้อราแคนดิดา (Candida) เชื้อราฮิสโทพลาสโมซิส (Histoplasmosis) เชื้อราแอสเปอร์จิลลัส (Aspergillus) ที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ซึ่งอาจส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้
- การใช้ยาบางชนิด หรือยาที่ผิดกฎหมาย อย่างยาที่ใช้รักษามะเร็งหรือยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลิน (Penicillin) ซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamide) ยาต้านอาการชัก โคเคน
- สารเคมี หรือรังสี การได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และรังสีอาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้
- โรคอักเสบอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เช่น โรคลูปัส โรคที่เกิดจากหลอดเลือดขนาดเล็กอักเสบ (Wegener’s Granulomatosis) โรคไจแอ้นท์เซล หรือโรคหลอดเลือดแดงอักเสบ (Giant Cell Arteritis หรือ GCA) โรคทากายาสุ (Takayasu’s Arteritis)
ภาวะแทรกซ้อนจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบรุนแรงอาจทำลายกล้ามเนื้อหัวใจได้อย่างถาวร ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนี้
- หัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่ไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้ตามปกติ ส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
- หัวใจวาย หรือโรคหลอดเลือดสมอง หากกล้ามเนื้อหัวใจเสียหายและไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้ตามปกติ เลือดที่สะสมในหัวใจอาจก่อตัวเป็นลิ่มเลือด ซึ่งอาจนำไปสู่โรคหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง
- จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจที่เสียหายอาจเปลี่ยนจังหวะการเต้นของหัวใจ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง
- หัวใจวายเฉียบพลัน ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติบางอาจทำให้หัวใจหยุดเต้นกะทันหัน ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาทันที
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลที่นำเสนอมิได้ใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ให้ปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
การวินิจฉัยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยป้องกันความเสียหายของหัวใจในระยะยาว โดยการวินิจฉัยอาจทำได้ ดังนี้
- การตรวจเลือด เพื่อตรวจหาสัญญาณของอาการหัวใจวาย การอักเสบ และการติดเชื้อ
- การตรวจด้วยคลื่นไฟฟ้า เพื่อตรวจจังหวะการเต้นของหัวใจว่าเป็นปกติหรือไม่
- การเอกซเรย์ทรวงอก เพื่อดูขนาด รูปร่างของหัวใจและปอด รวมทั้งดูว่ามีของเหลวด้านในหรือรอบ ๆ หัวใจที่อาจเกี่ยวข้องกับภาวะหัวใจล้มเหลวหรือไม่
- การตรวจหัวใจด้วยภาพคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก (Cardiac MRI) เพื่อดูความผิดปกติของหัวใจที่อาจแสดงอาการของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อดูคลื่นเสียงและภาพเคลื่อนไหวการเต้นของหัวใจ ขนาดของหัวใจ และการไหลเวียนของเลือดในหัวใจว่าเป็นปกติหรือไม่
- การสวนหัวใจ และการตรวจชิ้นเนื้อกล้ามเนื้อหัวใจ โดยการใช้สายสวนผ่านหลอดเลือดที่แขนหรือขาหนีบไปยังหลอดเลือดแดงในหัวใจ หรือการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อตรวจหาการอักเสบ หรือการติดเชื้อ
การรักษากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
การรักษากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอาจทำได้ด้วยการใช้ยา การทำหัตถการ หรือการผ่าตัด ดังนี้
การใช้ยา
- คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ช่วยยับยั้งระบบภูมิคุ้มกัน อาจใช้รักษากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิดที่ได้
- ยารักษาโรคหัวใจ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดในหัวใจ
สำหรับผู้ที่มีหัวใจอ่อนแอ ยาอาจช่วยขจัดของเหลวส่วนเกินออกจากร่างกาย และลดความอักเสบในหัวใจ ดังนี้
- ยารักษาโรคเรื้อรัง สำหรับผู้ที่เป็นโรคบางชนิด เช่น โรคลูปัส โรคที่เกิดจากหลอดเลือดขนาดเล็กอักเสบ โรคหลอดเลือดแดงอักเสบ ที่อาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ คุณหมออาจจ่ายยารักษาโรคเรื้อรังเพื่อป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
การทำหัตถการ และการผ่าตัด
- การให้ยาผ่านหลอดเลือดดำ เพื่อปรับปรุงความสามารถในการสูบฉีดเลือดในหัวใจอย่างรวดเร็ว
- เครื่องช่วยการไหลเวียนของเลือด (Ventricular Assist Device หรือ VAD) เป็นการรักษาภาวะหัวใจอ่อนแอ หรือภาวะหัวใจล้มเหลว ช่วยสูบฉีดเลือดจากห้องล่างหัวใจไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
- การปั๊มบอลลูนในหลอดเลือด อุปกรณ์นี้อาจช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด และลดความอักเสบในหัวใจ
- เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (Extracorporeal Membrane Oxygenation หรือ ECMO) ทำงานเหมือนปอด ช่วยกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์และเพิ่มออกซิเจนในเลือด เพื่อส่งไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
- การปลูกถ่ายหัวใจ สำหรับผู้ที่มีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบรุนแรงมากอาจจำเป็นต้องมีการปลูกถ่ายหัวใจอย่างเร่งด่วน
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
การดูแลสุขภาพร่างกายอยู่เสมออาจช่วยป้องกันและจัดการกับกล้ามเนื้อหัวใจล้มเหลวได้ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ที่มีอาการไข้หวัดหรือโรคทางเดินหายใจ เนื่องจากอาจส่งต่อเชื้อไวรัส แบคทีเรีย ปรสิต และเชื้อรา ซึ่งอาจนำไปสู่กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้
- ล้างมืออยู่เสมอ เพื่อช่วยขจัดเชื้อที่ปนเปื้อนบริเวณมือและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การใช้สารเสพติด การสัมผัสกับสารเคมีอันตราย อาจช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี สารเคมี หรือสารเสพติดที่อาจนำไปสู่กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้
- เข้ารับการฉีดวัคซีน เช่น วัคซีนป้องกันโควิด-19 ไข้หวัดใหญ่ โรคหัดเยอรมัน เนื่องจากโรคเหล่านี้อาจเพิ่งความเสี่ยงในการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ