backup og meta

หัวใจเต้นเร็ว วิธีแก้ และสาเหตุที่ควรรู้

หัวใจเต้นเร็ว วิธีแก้ และสาเหตุที่ควรรู้

ภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ (Tachycardia) เป็นภาวะที่อัตราการเต้นของหัวใจมากกว่า 100 ครั้ง/นาที ในขณะพัก ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความเครียด รับประทานคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์มากเกินไป สูบบุหรี่ ปัญหาหัวใจ โดย หัวใจเต้นเร็ว อาจมี วิธีแก้ ที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของวิธีแก้ปัญหาหัวใจเต้นเร็วก็เพื่อลดอัตราการเต้นของหัวใจให้ช้าลง และป้องกันการกำเริบของอาการในอนาคต

[embed-health-tool-heart-rate]

สาเหตุของหัวใจเต้นเร็ว

โดยปกติอัตราการเต้นของหัวใจจะอยู่ที่ 60-100 ครั้ง/นาที ขณะพักผ่อน และหัวใจจะเต้นเร็วขึ้นเมื่อทำกิจกรรมหรือเคลื่อนไหวร่างกาย แต่หากพบว่าอัตราการเต้นของหัวใจมากกว่า 100 ครั้ง/นาที ในขณะพักผ่อน นั่นอาจเป็นสัญญาณของภาวะหัวใจเต้นเร็ว ซึ่งภาวะนี้อาจเกิดขึ้นประมาณ 2-3 วินาที ถึง 2-3 ชั่วโมง

โดยภาวะหัวใจเต้นเร็วอาจมีสาเหตุมาจากความเครียด รับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน  ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป สูบบุหรี่ ปัญหาหัวใจ (เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจ หัวใจวาย โรคหัวใจ) เลือดในหลอดเลือดหัวใจไม่เพียงพอ ปริมาณเม็ดเลือดแดงลดลง ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ การใช้ยาบางชนิด (เช่น โคเคน เมทแอมเฟตามีน)

อาการหัวใจเต้นเร็ว

ภาวะหัวใจเต้นเร็วอาจทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ตามปกติ ส่งผลให้อวัยวะและเนื้อเยื่อได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ซึ่งบางคนอาจไม่แสดงอาการใด ๆ จนกว่าจะเข้ารับการตรวจ อย่างไรก็ตาม ภาวะหัวใจเต้นเร็วอาจทำให้เกิดอาการ ดังนี้

  • เจ็บหน้าอก
  • หัวใจเต้นแรงและเร็ว หรือมีอาการใจสั่น
  • วิงเวียนศีรษะ เป็นลม
  • หายใจถี่

หัวใจเต้นเร็ว มี วิธีแก้ และวิธีรักษา อย่างไร

เป้าหมายของการรักษาภาวะหัวใจเต้นเร็ว คือ การลดอัตราการเต้นของหัวใจให้ช้าลง และเพื่อป้องกันอาการหัวใจเต้นเร็วในอนาคต ซึ่งคุณหมออาจแนะนำวิธีแก้และวิธีการรักษา ดังนี้

การรักษาเพื่อลดอัตราการเต้นของหัวใจให้ช้าลง

  • การทำแวเกิล มานิวเวิร์ซ (Vagal Maneuvers) เป็นวิธีการชะลออัตราการเต้นของหัวใจด้วยการกระตุ้นประสาทเวกัส (Vagus Nerve)
  • ใช้ยา หากการทำแวเกิล มานิวเวิร์ซไม่ได้ผล อาจจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อฟื้นฟูจังหวะการเต้นของหัวใจ
  • การกระตุกหัวใจไฟฟ้าแบบสัมพันธ์ (Cardioversion) เป็นการส่งไฟฟ้าช็อตไปที่หัวใจผ่านเซ็นเซอร์ที่วางอยู่บนหน้าอก ซึ่งจะส่งผลต่อสัญญาณไฟฟ้าหัวใจและทำให้การเต้นของหัวใจเป็นปกติ โดยทั่วไปมักใช้ในกรณีฉุกเฉิน

การรักษาเพื่อป้องกันอาการหัวใจเต้นเร็วในอนาคต

  • ใช้ยา มักใช้รักษาคนส่วนใหญ่ที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็ว เพื่อควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจและฟื้นฟูจังหวะการเต้นของหัวใจ
  • การจี้หัวใจ (Catheter Ablation) โดยใช้สายสวนสอดผ่านเส้นเลือดดำหรือเส้นเลือดแดงบริเวณขาหนีบไปยังหัวใจ โดยที่ปลายสายสวนจะให้ความร้อนหรือพลังงานเย็นเพื่อปิดกั้นสัญญาณไฟฟ้าที่ผิดปกติและฟื้นฟูจังหวะการเต้นของหัวใจ
  • เครื่องกระตุ้นหัวใจ เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กที่ผ่าตัดฝังไว้ใต้ผิวหนังบริเวณหน้าอก เมื่ออุปกรณ์ตรวจพบการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ อุปกรณ์จะส่งคลื่นไฟฟ้าที่ช่วยให้หัวใจกลับสู่จังหวะที่ถูกต้อง
  • การใส่เครื่องกระตุกสัญญาณไฟฟ้าหัวใจ (Implantable Cardioverter Defibrillator หรือ ICD) มักใช้ในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็วหรือภาวะหัวใจห้องล่างเต้นผิดปกติ โดยการใส่เครื่องกระตุกสัญญาณไฟฟ้าหัวใจไว้บริเวณใต้ผิวหนังใกล้กับกระดูกไหปลาร้า เพื่อติดตามจังหวะการเต้นของหัวใจอย่างต่อเนื่อง หากอุปกรณ์ตรวจพบการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ อุปกรณ์จะส่งพลังงานต่ำหรือสูงเพื่อกระตุ้นจังหวะการเต้นของหัวใจ
  • การผ่าตัด (Maze Procedure) เป็นการผ่าตัดเพื่อทำลายเนื้อเยื่อหัวใจบางส่วนที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็ว
  • การผ่าตัดหัวใจแบบเปิด เพื่อทำลายทางเดินไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็ว มักใช้วิธีนี้เมื่อการรักษาอื่น ๆ ไม่ได้ผล

การป้องกันหัวใจเต้นเร็ว

วิธีป้องกันภาวะหัวใจเต้นเร็ว คือ การดูแลสุขภาพร่างกายและหัวใจให้แข็งแรง ซึ่งอาจทำได้ ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เลือกอาหารที่อุดมด้วยธัญพืชไม่ขัดสี เนื้อไม่ติดมัน นมไขมันต่ำ ผักและผลไม้ นอกจากนี้ ควรจำกัดการรับประทานเกลือ โซเดียม น้ำตาล แอลกอฮอล์ ไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์ เพื่อสุขภาพหลอดเลือดและหัวใจที่ดี
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควรออกกำลังกายความเข้มข้นปานกลางอย่างน้อย 30 นาที/วัน เช่น เต้นแอโรบิก ว่ายน้ำ วิ่ง เดินเร็ว
  • รักษาระดับความดันโลหิตและคอเลสเตอรอล ด้วยการดูแลตัวเองตามที่กล่าวมาข้างต้น และรับประทานยาตามที่คุณหมอกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมความดันโลหิตสูงหรือคอเลสเตอรอลสูง
  • งดสูบบุหรี่ เพื่อป้องกันความดันโลหิตสูงและลดความเสี่ยงในการภาวะหลอดเลือดตีบ
  • จำกัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันความดันโลหิตสูงและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ
  • จำกัดปริมาณคาเฟอีน ไม่เกิน 1-2 แก้ว/วัน เพื่อป้องกันการกระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจ
  • จัดการความเครียด เช่น ฝึกกสมาธิ ออกกำลังกายมากขึ้น นอนหลับ พูดคุยกับเพื่อน ซึ่งอาจช่วยป้องกันความดันโลหิตสูงและทำให้มีสุขภาพจิตที่ดี

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Tachycardia. https://www.healthdirect.gov.au/tachycardia. Accessed February 22, 2023

Supraventricular tachycardia (SVT). https://www.nhs.uk/conditions/supraventricular-tachycardia-svt/. Accessed February 22, 2023

Tachycardia: Causes, Types, and Symptoms. https://www.webmd.com/heart-disease/atrial-fibrillation/what-are-the-types-of-tachycardia. Accessed February 22, 2023

Tachycardia: Fast Heart Rate. https://www.heart.org/en/health-topics/arrhythmia/about-arrhythmia/tachycardia–fast-heart-rate. Accessed February 22, 2023

Tachycardia-diagnosis-treatment. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/tachycardia/diagnosis-treatment/drc-20355133. Accessed February 22, 2023

Tachycardia. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/tachycardia/symptoms-causes/syc-20355127#:~:text=Tachycardia%20(tak%2Dih%2DKAHR,as%20a%20response%20to%20stress. Accessed February 22, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/02/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

หัวใจเต้นผิดปกติ อาจมีสาเหตุมาจากเส้นเลือดในสมองอุดตันก็ได้

หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (Bradycardia)


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา