backup og meta

10 อาการเตือนโรคหัวใจ สัญญาณที่ควรใส่ใจ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 06/02/2023

    10 อาการเตือนโรคหัวใจ สัญญาณที่ควรใส่ใจ

    โรคหัวใจ (Heart Disease) เป็นกลุ่มโรคที่ทำให้การทำงานของหัวใจผิดปกติ โดยปกติแล้ว หัวใจเป็นอวัยวะสำคัญในการสูบฉีดเลือดที่มีออกซิเจนและสารอาหารไปยังเซลล์ทั่วร่างกาย ช่วยให้ระบบภายในร่างกายทำงานได้อย่างราบรื่น แต่หากหัวใจมีปัญหา ก็อาจทำให้ระบบอื่น ๆ ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และเกิดผลเสียต่อสุขภาพตามมาได้ การศึกษาเกี่ยวกับ 10 อาการเตือนโรคหัวใจ จึงถือเป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจหรือมีความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจ เนื่องจากอาจช่วยให้ทราบถึงอาการที่ควรใส่ใจ เช่น หายใจถี่และติดขัด เจ็บแน่นหน้าอก ขาบวม หมดสติ หากพบว่ามีอาการดังกล่าว ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น

    ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ

    ปัจจัยดังต่อไปนี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและอาการหัวใจวายได้

    ปัจจัยที่ไม่สามารถป้องกันได้ เช่น

    • พันธุกรรม การมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด อาจทำให้เสี่ยงเกิดโรคหัวใจได้มากกว่าคนทั่วไป
    • อายุ ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เสี่ยงเกิดโรคหัวใจมากกว่าคนวัยหนุ่มสาว
    • เพศ ผู้ชายมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจมากกว่าผู้หญิง

    ปัจจัยที่สามารถป้องกันได้ อย่างพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น

  • การสูบบหุรี่ เป็นพฤติกรรมที่อันตรายต่อหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากอาจทำให้หลอดเลือดตีบตันและหัวใจขาดเลือด เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจวาย
  • การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ มีไขมันอิ่มตัว เช่น คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ (Trigleceride) โซเดียม และน้ำตาลสูง อาจทำให้มีไขมันสะสมอยู่ในหลอดเลือดจนหลอดเลือดตีบตัน
  • ไม่ออกกำลังกาย การออกกำลังกายน้อย มีพฤิตกรรมเนือยนิ่ง ไม่ค่อยขยับร่างกายเป็นเวลาหลายชั่วโมงในแต่ละวัน จะทำให้ร่างกายไม่ได้เผาผลาญพลังงานส่วนเกิน ส่งผลให้มีไขมันสะสมอยู่ในกล้ามเนื้อและหลอดเลือด และทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดไปเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ จนอาจทำให้เกิดโรคหัวใจได้
  • 10 อาการเตือนโรคหัวใจ

    อาการเตือนโรคหัวใจ อาจมีลักษณะที่แตกต่างกันในแต่ละคน บางคนอาจมีอาการหลายสัปดาห์ ในขณะที่บางคนก็อาจมีอาการเพียงไม่กี่วันก่อนเกิดภาวะที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมองหรือสโตรก (Stroke) หากมีอาการที่เป็นสัญญาณเตือนของโรคหัวใจ ดังต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติมตั้งแต่เนิ่น ๆ

    • รู้สึกวิงเวียนศีรษะ

    อาการวิงเวียนหรือหน้ามืดอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การลุกขึ้นเร็วเกินไป การอดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง แต่หากมีอาการวิงเวียนร่วมกับแน่นหน้าอก หายใจถี่ อาจเกิดจากระดับความดันโลหิตลดต่ำลง เนื่องจากหัวใจไม่สามารถสูบเลือดได้ตามปกติ

    อาการแน่นหรืออึดอัดในทรวงอก เป็นอาการของภาวะหัวใจขาดเลือดที่เกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบตันหรือมีลิ่มเลือดอุดกั้นจนทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้น้อยลง เมื่อหัวใจได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ จะส่งผลให้เกิดอาการแน่นหน้าอก อาจเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น หน้ามืด คลื่นไส้ เหงื่อออก ปวดร้าวไปถึงกราม คอ ไหล่ หรือแขนซ้าย หากไม่ได้รับการรักษา อาจนำไปสู่อาการหัวใจวาย ภาวะหัวใจล้มเหลว รวมไปถึงภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้

    • หายใจถี่หรือหายใจลำบาก

    หากมีอาการหายใจถี่หรือหายใจลำบากขณะนอนราบหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ปกติแล้วไม่ทำให้รู้สึกเหนื่อย อาจเป็นสัญญาณของโรคหัวใจที่อาจเป็นอันตราย เช่น ภาวะหัวใจวาย ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เนื่องจากปกติแล้วหัวใจและปอดจะทำงานร่วมกันในการลำเลียงเลือดเลือดแดงไปยังเนื้อเยื่อต่าง ๆ และนำเลือดดำที่มีออกซิเจนต่ำกลับสู่หัวใจ หากมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ เลือดจะคั่งอยู่ที่หัวใจและล้นจนไหลกลับไปยังปอด ส่งผลให้ผู้ป่วยหายใจถี่และหายใจลำบาก

    • มีอาการปวดร้าวบริเวณแขน

    สัญญาณหนึ่งของภาวะหัวใจวาย คือ อาการปวดร้าวบริเวณแขนซ้าย โดยอาจรู้สึกปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ ร่วมกับมีอาการแน่นกลางหน้าอก ไม่สบายตัว ปวดบริเวณกราม คอ หลัง และหน้าท้อง อาการปวดแขนซ้ายเป็นอาการปวดต่างที่ หรือที่เรียกว่า อาการปวดร้าว (Referred pain) ซึ่งหมายถึง อาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในบริเวณที่ไม่ได้เกิดโรค แม้ว่าส่วนนั้นจะไม่ได้มีความผิดปกติเกิดขึ้นก็ตาม

    อาการปวดร้าวบริเวณแขนเกิดจากหลอดเลือดหัวใจที่ตีบตันจนไม่สามารถนำออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้ตามปกติ ทำให้เกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอก และอาจทำให้เกิดอาการปวดในตำแหน่งอื่น ๆ ของร่างกายได้ เนื่องจากเส้นประสาทบริเวณหน้าอกและแขนส่งสัญญาณไปยังเซลล์สมองเดียวกัน แต่สมองไม่สามารถระบุได้ว่าความเจ็บปวดมาจากที่ไหน จึงทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดแขนซ้ายไปด้วย ในบางรายอาจรู้สึกปวดแค่ที่แขน แต่ไม่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก

    • ขา เท้า ข้อเท้าบวม

    การทำงานที่ผิดปกติของหัวใจขณะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว อาจทำให้การไหลเวียนโลหิตช้าลงและทำให้มีเลือดสะสมอยู่ในหลอดเลือดที่ขา ส่งผลให้มีของเหลวสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อมากเกินไป จนอาจสังเกตเห็นขา เท้า และข้อเท้าบวม เมื่อกดแล้วเกิดรอยบุ๋ม อาการนี้อาจเกิดร่วมกับอาการทางโรคหัวใจอื่น ๆ เช่น หายใจถี่ หายใจลำบากเมื่อนอนราบ เหนื่อยง่าย ทั้งนี้ หากมีอาการขาบวมเพียงข้างเดียว อาจเกิดจากลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ ซึ่งก็ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมเช่นกัน

    • เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

    ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial fibrillation) เป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบได้บ่อยที่สุด มักเกิดร่วมกับปัญหาโรคหัวใจอื่น ๆ เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองและหัวใจไม่เพียงพอ ผู้ป่วยอาจสังเกตว่าตัวเองมีภาวะนี้จากอาการอย่างใจสั่น หน้ามืด ตาลาย หายใจติดขัด เป็นต้น

    • เหงื่อออกโดยไม่มีสาเหตุ

    อาการเหงื่อออกผิดปกติจนรู้สึกหนาวบริเวณลำตัวส่วนบน อาจเป็นสัญญาณของภาวะหัวใจวาย ซึ่งอาจเกิดขึ้นพร้อมกับอาการอื่น ๆ เช่น วิงเวียนศีรษะ แน่นหน้าอก หายใจถี่หรือหายใจลำบาก รู้สึกเหนื่อย ปวดหลัง

    • คลื่นไส้หรืออาเจียน

    โรคหัวใจอาจกระทบต่อการไหลเวียนของเลือดทำให้มีเลือดไปหล่อเลี้ยงในระบบย่อยอาหารลดลง ส่งผลให้กระบวนการย่อยอาหารทำงานผิดปกติ และอาจทำให้ผู้ที่อยู่ในภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวายมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือเกิดอาการกรดไหลย้อนได้

    • ปวดคอหรือกราม

    อาการปวดคอหรือกรามโดยทั่วไปมักไม่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ และมักเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ โรคไซนัสอักเสบ หรือการติดเชื้อไข้หวัดเสียมากกว่า แต่หากผู้ที่เสี่ยงเกิดโรคหัวใจหรือเป็นโรคหัวใจมีอาการเจ็บกลางหน้าอกที่ร้าวไปจนถึงคอหรือกราม อาจเป็นสัญญาณของภาวะหัวใจวาย

    • วูบหมดสติ ไม่รู้สึกตัว

    ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac arrhythmia) อาจทำให้หัวใจเต้นเร็วหรือช้าเกินไป และอาจทำให้ความดันโลหิตต่ำมากจนหัวใจไม่สามารถส่งเลือดไปยังสมองได้ ทำให้สมองได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ เมื่อสมองขาดเลือดจะทำให้ผู้ป่วยเป็นลมหมดสติไปชั่วขณะได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 06/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา