ความดันสูง เกิดจาก หลายสาเหตุ โดยเป็นภาวะที่ระดับความดันโลหิตสูงกว่าระดับปกติ ซึ่งอาจเป็นอันตรายและเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ เช่น โรคไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจวาย โรคสมองเสื่อม ดังนั้น ควรดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อป้องกันความดันสูง
[embed-health-tool-bmi]
ความดันสูง คืออะไร
ความดันสูง หรือความดันโลหิตสูง คือ ภาวะที่ค่าความดันสูงผิดปกติจากค่าความดันปกติ หากมีภาวะความดันสูงเรื้อรังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูงได้ โดยตัวเลขค่าบนอยู่ที่ 130-139 มิลลิเมตรปรอท และตัวเลขค่าล่างอยู่ที่ 85-89 มิลลิเมตรปรอท นอกจากนี้ ค่าความดันสูงอาจแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้
- ค่าความดันสูงระยะที่ 1: ตัวเลขค่าบน 140-159 มิลลิเมตรปรอท และตัวเลขค่าล่าง 90-99 มิลลิเมตรปรอท
- ค่าความดันสูงระยะที่ 2: ตัวเลขค่าบน 160-179 มิลลิเมตรปรอท และตัวเลขค่าล่าง 100-109 มิลลิเมตรปรอท
- ค่าความดันสูงระยะที่ 3: ตัวเลขค่าบนสูงตั้งแต่ 180 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป และตัวเลขค่าล่างสูงกว่า 110 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป
อาการความดันสูง
ความดันสูงในระยะแรกมักไม่ค่อยแสดงอาการ แต่หากมีค่าความดันสูงมากอาจส่งผลให้เกิดอาการ ดังนี้
- อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ
- ปวดศีรษะรุนแรง
- แน่นหน้าอก หายใจลำบาก
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- เลือดกำเดาไหล
- ปัสสาวะมีเลือดปน
ความดันสูงมักไม่มีสัญญาณหรืออาการเตือนใด ๆ และหลายคนไม่ทราบว่าเป็นโรคนี้ ดังนั้น ผู้ที่มีตั้งแต่อายุ 18 ปี จึงควรวัดความดันโลหิตเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง นอกจากนี้ ในผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังโดยเฉพาะเบาหวาน อาจวัดความดันเป็นประจำทุกวัน อย่างไรก็ตาม หากมีอาการดังกล่าวข้างต้นควรรีบไปพบคุณหมอทันที เพราะอาจเสี่ยงเป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยรวมได้ เช่น หัวใจวาย ไตวาย โรคหลอดเลือดสมอง อัมพาต
ความดันสูง เกิดจาก สาเหตุอะไร
ความดันสูง เกิดจาก สาเหตุดังต่อไปนี้
- พันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีประวัติเป็นความดันสูง อาจมีความเสี่ยงในการเกิดความดันสูงได้
- อายุ ความเสี่ยงในการเกิดภาวะความดันสูงอาจเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น
- มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานหรือเป็นโรคอ้วน หากมีน้ำหนักมาก ร่างกายต้องสูบเลือดเพื่อส่งออกซิเจนและสารอาหารไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมากขึ้น ปริมาณเลือดไหลผ่านหลอดเลือดมากขึ้น ความดันที่ผนังหลอดเลือดแดงก็จะเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลให้ความดันสูงได้
- การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากสารเคมีในบุหรี่ เช่น สารหนู นิโคติน และสารในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เอทานอล อาจทำให้หลอดเลือดแดงตีบตัน และอาจส่งผลให้ความดันสูง ทั้งยังอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจด้วย
- ความเครียด ความเครียดสะสมอาจส่งผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้
- ปัญหาสุขภาพ เช่น โรคไต โรคเบาหวาน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความดันสูง
วิธีป้องกันความดันสูง
วิธีเหล่านี้อาจช่วยป้องกันความดันสูงได้
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัดและไขมันสูง รวมถึงควรจำกัดโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30-45 นาที/วัน หรือ 150 นาที/สัปดาห์ เช่น เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ แอโรบิก
- พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงเครื่องดื่มคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เพราะอาจส่งผลต่อระดับความดันโลหิตได้
- พยายามอย่าให้มีความเครียดสะสม โดยอาจหางานอดิเรกทำเพื่อคลายเครียด เช่น ปลูกต้นไม้ ดูหนัง ไปเที่ยว
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยผู้ชายควรมีรอบเอวไม่เกิน 36 นิ้ว และผู้หญิงควรมีรอบเอวไม่เกิน 32 นิ้ว เนื่องจากน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นความดันโลหิตสูง
ทั้งนี้ ผู้ที่มีความดันสูงควรวัดความดันทุกวันและจดบันทึกค่าความดันที่ได้ทุกครั้ง รวมถึงควรรับประทานยาลดความดันตามที่คุณหมอสั่ง เพื่อป้องกันค่าความดันสูงเกินปกติ