backup og meta

ปัจจัยที่ทำให้เกิดกรดไหลย้อน มาดูสิว่าจะมีอะไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 14/10/2020

    ปัจจัยที่ทำให้เกิดกรดไหลย้อน มาดูสิว่าจะมีอะไรบ้าง

    กรดไหลย้อน นอกจากจะทำให้คุณรู้สึกไม่สบายท้องแล้ว ยังทำให้คุณมีอาการแสบร้อนกลางอก เจ็บคอ เสียงแหบ ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น และอื่น ๆ ได้อีกมาก อาการของ โรคกรดไหลย้อน เหล่านี้มักรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และบางอาการ อย่างกลิ่นปาก ก็สามารถทำให้เราหมดความมั่นใจได้ด้วย หากใครไม่อยากเป็นโรคกรดไหลย้อน หรือไม่อยากทำให้อาการที่เป็นอยู่แย่ลง ก็สามารถทำได้ด้วยการป้องกันหรือหลีกเลี่ยง ปัจจัยที่ทำให้เกิดกรดไหลย้อน ที่ Hello คุณหมอ นำมาฝากกันในบทความนี้

    ปัจจัยที่ทำให้เกิดกรดไหลย้อน

    การสูบบุหรี่

    การสูบบุหรี่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้มากมาย รวมถึงโรคกรดไหลย้อนด้วย ยิ่งหากใครเป็นกรดไหลย้อนอยู่แล้ว ก็ยิ่งควรงดสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่จะทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร และกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ทั้งยังลดปฏิกิริยาตอบสนองในลำคอและลดการหลั่งน้ำลาย เมื่อกระบวนการเหล่านี้ทำงานผิดปกติ จึงทำให้กรดในกระเพาะอาหารเสียสมดุล และส่งผลเสียต่อสุขภาพมากขึ้น

    การกินอาหารมากเกินไป หรือกินมื้อดึก

    อาหารมื้อใหญ่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดกรดไหลย้อนที่พบได้บ่อยที่สุด เพราะเมื่อคุณกินอาหารมากเกินไป ร่างกายก็จำเป็นต้องใช้เวลาในการย่อยอาหารนานขึ้น ยิ่งหากคุณกินอาหารมื้อใหญ่ในช่วงเย็น ช่วงก่อนนอน หรือชอบกินมื้อดึก พอคุณล้มตัวนอนทั้งที่กระเพาะอาหารยังย่อยอาหารไม่เสร็จ กรดในกระเพาะอาหารจึงไหลย้อนขึ้นมายังหลอดอาหารได้

    คุณไม่ควรกินอะไรก่อนเข้านอน 3-4 ชั่วโมง และควรออกไปเดินเล่นหลังกินอาหารสัก 30 นาที หรือขยับร่างกายด้วยการล้างจาน กวาดบ้าน เป็นต้น เพื่อช่วยให้ร่างกายย่อยอาหารได้ดีขึ้น แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายจริงจัง เพราะจะยิ่งส่งผลเสียต่อกระบวนการย่อยอาหาร

    การใช้ยาบางชนิด

    ยาบางชนิด เช่น แอสไพริน (Aspirin) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) อาจทำให้กระเพาะอาหารระคายเคืองและกระตุ้นการเกิดกรดไหลย้อนได้ นอกจากนี้ ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ก็สามารถกระตุ้นการหลั่งกรดไหลกระเพาะอาหารได้เช่นกัน ฉะนั้น หากคุณกินยาตัวใดแล้วมีอาการกรดไหลย้อน หรืออยากหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าว ก็ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อให้แพทย์เปลี่ยนยา หรือจ่ายยาที่เหมาะสมให้

    อาหารบางชนิด

    อาหารดังต่อไปนี้ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิด กรดไหลย้อน ได้เช่นกัน

    • เครื่องเทศ เช่น พริกไทย กระเทียม หอมหัวใหญ่
    • ผลไม้สกุลซิตรัส หรือผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม เกรปฟรุต มะนาว เลมอน
    • เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม
    • อาหารไขมันสูง เช่น อาหารฟาสต์ฟู้ด อย่างเบอร์เกอร์ เฟรนช์ฟราย
    • อาหารรสจัด หรืออาหารเผ็ด
    • อาหารที่มีมะเขือเทศเป็นส่วนผสม
    • เปปเปอร์มินต์
    • ช็อกโกแลต
    • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

    ฉะนั้น หากคุณไม่อยากเป็น กรดไหลย้อน หรืออยากบรรเทาอาการกรดไหลย้อนที่เป็นอยู่ ก็ควรงดหรือลดอาหารที่กล่าวมาข้างต้น

    การออกกำลังกาย

    ท่าออกกำลังกายบางท่า เช่น ท่าครันช์ (Crunches) อาจเพิ่มแรงกดให้กับผนังช่องท้อง และทำให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับเข้าไปในหลอดอาหารได้ ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้คุณงดออกกำลังกายในท่าครันช์ หรือออกกำลังกายในรูปแบบดังต่อไปนี้หลังกินอาหารเสร็จทันที จะได้ลดความเสี่ยงในการเกิดกรดไหลย้อน

    พฤติกรรมบางอย่าง

    พฤติกรรมหรือกิจกรรมในชีวิตประจำวันบางอย่างดังต่อไปนี้ ก็อาจกระตุ้นให้เกิดกรดไหลย้อนได้เช่นกัน

  • การสวมใส่เสื้อผ้าที่คับ หรือรัดแน่นเกินไป
  • การนอนตะแคงขวา เพราะท่านอนท่านี้ทำให้กระเพาะอาหารอยู่สูงกว่าหลอดอาหาร กรดจึงไหลย้อนกลับสู่หลอดอาหารได้ง่ายขึ้น
  • จะรู้ได้อย่างไรว่า อะไรกระตุ้นอาการ กรดไหลย้อน ของคุณ

    หากคุณอยากรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งกระตุ้นให้คุณเกิดกรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้น หนึ่งในวิธีตรวจสอบปัจจัยที่ทำให้เกิดกรดไหลย้อนที่คุณสามารถทำได้ง่าย ๆ เลยก็คือ การสังเกตอาการที่เกิดขึ้นหลังจากคุณทำกิจกรรมหรือกินอาหารบางอย่าง และจดบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นเอาไว้ในสมุดโน้ตหรือโทรศัพท์มือถือ

    คุณอาจจดบันทึกรายการอาหารที่กินในแต่ละวัน โดยแบ่งเป็นมื้อ ๆ รวมถึงจดกิจกรรมอื่น ๆ ที่ทำระหว่างวัน และหากคุณใช้ยาอะไรอยู่ ก็ควรจดบันทึกไว้ด้วย และที่สำคัญที่สุดก็คือ อย่าลืมจดอาการที่เกิดขึ้นในแต่ละวันเอาไว้ให้ชัดเจน หากระบุช่วงเวลาในการทำกิจกรรมหรือเวลาที่เกิดอาการได้ด้วย ก็จะยิ่งช่วยได้มาก

    เมื่อรู้แล้วว่า สิ่งกระตุ้นกรดไหลย้อนของคุณคืออะไร คุณจะได้หลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้นหรือสิ่งอื่นที่คล้ายคลึงกันได้ นอกจากนี้ บันทึกที่คุณทำไว้ยังอาจเป็นประโยชน์สำหรับแพทย์ ในการวินิจฉัยและหาวิธีรักษา กรดไหลย้อน ที่เหมาะสมสำหรับคุณที่สุดด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 14/10/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา